posttoday

จีนจะบุกไต้หวันหรือไม่? ความขัดแย้งใหม่ที่ละสายตาไม่ได้

27 พฤษภาคม 2563

สรุปเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างจีน-ไต้หวัน-สหรัฐ และความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงคราม

1. ความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน (แผ่นดินใหญ่) และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองที่ยังไม่ยุติลงอย่างเป็นทางการระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์จีน ซึ่งแต่ก่อนหมายถึงพรรคก๊กมินตั๋งแต่วันนี้หมายถึงพรรคใดก็ได้ที่ปกครองไต้หวัน

2. สงครามกลางเมืองนี้เริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 ลากยาวผ่านสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังไม่จบลง จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋งเผชิญหน้ากันขั้นเด็ดขาดในปลายทศวรรษที่ 1940

3. ทั้ง 2 ฝ่ายรบกันจนมีผู้คนล้มตายนับล้านแล้วก็จบลงด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ครอบครองแผ่นดินใหญ่ไว้ทั้งหมด ไล่ตีก๊กมินตั๋งจนเจียงไคเช็กและพลพรรคต้องถอยร่นไปตั้งหลักที่ไต้หวันในปี 1949 เหลือที่มั่นสุดท้ายใกล้กับแผ่นดินใหญ่คือเกาะจินเหมิน เกาะเล็กๆ ประชิดกับเมืองเซี่ยะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน และหมู่เกาะอีก 2 แห่งประชิดชายฝั่งจีนคือม๋าจู่ และอูชิว

4. จินเหมินเป็นแค่เกาะเล็กๆ ใกล้กับแผ่นดินใหญ่แค่คืบแต่ห่างจากไต้หวัน 277 กิโลเมตร โอกาสที่ "กองทัพแดง" จะบุกตีไม่ใช่เรื่องยาก และในวันที่ 25 ตุลาคม 1949 หรือแค่ 24 วันหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน กองทัพแดงก็บุกจินเหมิน แต่ปรากฎว่ากองทัพก๊กมินตั๋งที่ต้านเอาไว้อย่างเหลือเชื่อ

จีนจะบุกไต้หวันหรือไม่? ความขัดแย้งใหม่ที่ละสายตาไม่ได้

5. ชัยชนะของ "จีนขาว" (ไต้หวัน) ปลุกขวัญกำลังใจให้เกิดขึ้นในไต้หวันหลังจากพ่ายยับมาครั้งแล้วครั้งเล่าจนต้องเสียแผ่นดินใหญ่ และความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิจินเหมินทำให้ "จีนแดง" (แผ่นดินใหญ่) ต้องชะลอแผนการที่จะบุกอีกฝ่ายไประยะหนึ่ง

6. ในเวลานั้นสหรัฐมีนโยบายรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวันเป็นรัฐบาลจีนเดียวที่ชอบธรรม และไม่ยอมรับรัฐบาลที่ปักกิ่ง แต่ก็มีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการระหว่างปักกิ่งและไต้หวัน ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายจะรบกันข้ามช่องแคบสหรัฐก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย

7. แต่สหรัฐเปลี่ยนใจในเวลาไม่นานเมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นในปี 1950 สหรัฐก็ตระหนักว่าพวกคอมมิวนิสต์เริ่มจะกล้าแข็งมากขึ้นถึงกับกล้าส่งกองทัพบุกเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมนของสหรัฐประกาศจุดยืนใหม่ด้วยการควบคุมช่องแคบไต้หวันในฐานะผลประโยชน์สูงสุดของสหรัฐอันเป็น "ผู้นำโลกเสรี"

8. สหรัฐจัดการส่งกองเรือที่ 7 มาที่ช่องแคบไต้หวันเพื่อยับยั้งความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับกันสาธารณรัฐจีน ไม่ใช่แค่ป้องกันจีนแดงไม่ให้บุกจีนขาว แต่ยังป้องกันจีนขาวไม่ให้บุกจีนแดงด้วย ซึ่งเป็นความทะเยอทะยานที่สหรัฐคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่รัฐบาลก๊กมินตั๋งไม่เลิกล้มความตั้งใจนี้แม้จะไม่เคยลงมือทำจริงๆ จังๆ ก็ตาม

จีนจะบุกไต้หวันหรือไม่? ความขัดแย้งใหม่ที่ละสายตาไม่ได้

9. จนกระทั่งในเดือนสิงหาคมปี 1954 จีนแดงกับจีนขาวก็เผชิญหน้ากันอีกรอบที่เกาะจินเหมิน โจวเอินไหลนายกรัฐมนตรีจีนประกาศจะ "ปลดปล่อย" ไต้หวัน (ซึ่งเป็นคำศัพท์ของคอมมิวนิสต์จีนที่หมายถึงการใช้กำลังบุกเป้าหมาย) แล้วกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนก็ระดมยิงถล่ทมเกาะจินเหมินและเกาะม๋าจู่อย่างหนัก

10. ในวันที่ 12 กันยายน 1954 คณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐเสนอให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ถล่มจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ประธานาธิบดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ไม่รับข้อเสนอนี้ แต่ในเดือนมีนาคม 1955 ทำข้อตกลงกับรัฐบาลจีนที่ไต้หวันว่าจะช่วยปกป้องเกาะไต้หวันจากการรุกราน แต่จะไม่คุ้มครองไปถึงเกาะอื่นๆ นอกชายฝั่งแผ่นดินใหญ่

11. จีนแดงยังคงถล่มเกาะของจีนขาวนอกชายฝั่งแผ่นดินใหญ่อย่างต่อเนื่อง จนทำให้นานาประเทศกลัวว่าสหรัฐจะไม่อดทนและหันมาใช่อาวุธนิวคเลียร์จัดการกับจีนในที่สุด แม้แต่พันธมิตรของสหรัฐอย่างอังกฤษก็เตือนไม่ให้ใช้วิธีนี้ รวมถึงกลุ่มนาโต้ก็ไม่เห็นด้วย

12. อาจเป็นเพราะท่าทีของสหรัฐที่อาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำให้จีนแดงยอมหยุดการโจมตี มีการวิเคราะห์กันว่าเพราะสหภาพโซเวียตไม่แสดงท่าทีว่าจะช่วยจีนหากสหรัฐใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ บ้างก็วิเคราะห์ว่าเหมาเจ๋อตง ผู้นำจีนใช้การโจมตีไต้หวันเพื่อกระตุ้นเร้าให้คนในประเทศสนับสนุนการพัฒนาอาวุธนวิเคลียร์ ซึ่งปรากฎว่ากรมการเมืองจีนอนุมัติโครงการนิวเคลียร์ในปีนั้นนั่นเอง

13. อีก 3 ปีต่อมาคือ 1958 จีนแดงก็เริ่มถล่มไต้หวันอีกครั้งโดยมีการปะทะกันของจีนแดงและจีนขาวที่เกาะตงติ้ง ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะจินเหมิน คราวนี้สหรัฐส่งเครื่องบินและเรือรบมาปักหลักที่ไต้หวันเพื่อเตรียมช่วยเต็มที่ และเป็นอีกครั้งที่สหรัฐเอ่ยถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อถล่มจีนแดง ปรากฎว่าจีนต้องยอมถอยไป

จีนจะบุกไต้หวันหรือไม่? ความขัดแย้งใหม่ที่ละสายตาไม่ได้

14. เมื่อถึงทศวรรษที่ 60 เจียงไคเช็ก ผู้นำสูงสุดของไต้หวันคิดที่จะตอบโต้บ้างจึงตั้ง "ปฏิบัติการประเทศรุ่งเรือง" เพื่อที่จะส่งกองทัพบุกยึดมณฑลกวางตุ้งและมณฑลฝูเจี้ยน กอปรกับช่วงนั้นจีนสั่นคลอนอย่างมากจากภัยอดอยากที่มีผู้คนอดตายหลายสิบล้านคนเพราะการดำเนินนโยบายผิดพลาดของเหมาเจ๋อตง (กรณี Great Leap Forward) และไต้หวันยังหวั่นเกรงว่าจีนใกล้จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ

15. ในเวลานั้นสหรัฐติดพันอยู่กับสงครามเวียดนามและยังคัดค้านแผ่นการนี้ แต่เจียงไคเช็กไม่ยอมรามือสั่งเดินหน้าปฏิบัติการต่อแแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ปฏิบัติการนี้ยืดเยื้อต่อไปจนถึงทศวรรษที่ 1970 โดยไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่ระหว่างนั้นเองไต้หวันเจอฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ

16. ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไต้หวันหมกมุ่นกับกับการเอาคืนแผ่นดินใหญ่ จีนแผ่นดินใหญ่เกิดความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต ส่วนสหรัฐก็เริ่มที่จะลดความเกี่ยวพันในสงครามเวียดนาม (ซึ่งเวียดนามเป็นภาคีกับสหภาพโซเวียต) ความพลิกผันนี้ทำให้สหรัฐกับจีนเริ่มหันหน้าเข้ากัน โดยมีศัตรูเดียวกันคือสหภาพโซเวียต

17. ปี 1971 สหรัฐก็เข้าจีนและเจรจาเพื่อสานสัมพันธ์ได้สำเร็จโดยสหรัฐยอมรับว่าจีนมีเพียงหนึ่งเดียวและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน พร้อมกับตกลงกันว่าจีนกับสหรัฐจะร่วมกันต่อต้านมหาอำนาจที่จะรวบอำนาจในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งหมายถึงการผนึกกำลังกันต้านสหภาพโซเวียต

18. ด้วยผลประโยชน์นี้ทำให้สหรัฐสลัดมือจากไต้หวันไปเชคแฮนด์กับปักกิ่งอย่างไม่เป็นทางการ ในปีเดียวกันนั้นไต้หวันยังสูญเสียที่นั่งในฐานะสมาชิกสหประชาชาติให้กับแผ่นดินใหญ่ แต่สหรัฐเองก็เหยียบเรือ 2 แคมในขณะที่ไปคบแผ่นดินใหญ่แลยอมรับหลักการจีนเดียว ในที่ประชุมสหประชาชาติสหรัฐก็พยายามเสนอให้คงที่นั่งของผู้แทนจากสาธารณรัฐจีนเอาไว้ในสหประชาชาติเอาไว้แต่ไม่สำเร็จ

19. หลังจากนั้นสหรัฐกับจีนประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางเป็นทางการในปี 1979 ไต้หวันประท้วงอย่างหนัก แต่สหรัฐก็ปลอบไต้หวันด้วยการผ่านกฎหมาย Taiwan Relations Act ที่ทำให้คงความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวันเอาไว้ได้ โดยที่จีนพยายามจะไม่งอแงตราบใดที่สหรัฐรับหลักการจีนเดียว

จีนจะบุกไต้หวันหรือไม่? ความขัดแย้งใหม่ที่ละสายตาไม่ได้

20. แต่เพราะความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐ-ไต้หวันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์เป็นหลัก เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัวสหรัฐก็พร้อมที่จะท้าทายจีนและสนับสนุนไต้หวัน เช่น การเผชิญหน้าครั้งที่ 3 ระหว่างไต้หวันและแผ่นดินใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 1995 - 1996

21. กรณีนี้เกิดเมื่อประธานาธิบดีหลี่เติงฮุยของไต้หวันเดินทางไปสหรัฐ โดยที่รัฐบาลสหรัฐพยายามหลีกเลี่ยงการต้อนรับอย่างเป็นทางการแต่สภาคองเกรสกลับมีมติกดดันให้รัฐบาลต้องต้อนรับหลี่ จีนจึงโกรธเกรี้ยวอย่างหนักและสั่งเคลื่อนกำลังพลมาซ้อมรบด้วยการยิงขีปนาวุธและซ้อมยกพลขึ้นบกที่มณฑลฝูเจี้ยนฝั่งตรงข้ามกับไต้หวัน

22. สหรัฐจึงต้อง "เอ็กเซอร์ไซส์" บ้างด้วยการยกพลมาที่เอเชียครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามเวียดนาม โดยมีกองเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ เรืออู่ลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก มาแล่นโชว์แสนยานุภาพที่ช่องแคบไต้หวัน แต่จีนก็ยอมรามืออีก จนสหรัฐต้องสั่งให้กองเรือโจมตี Carrier Strike Group 7 มาที่ช่องแคบไต้หวัน แต๋โชคดีที่หลังจากนั้นไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น

23. จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย จีนเองมักจะเคลื่อนไหวเพื่อจะเอาไต้หวันคืนมาเพื่ออีกฝ่ายแสดงท่าทีแข็งกร้าว ส่วนไต้หวันเองพอนานวันเข้าขบวนการเอกราชก็เข้มแข็งขึ้น ชาวไต้หวันเริ่มไม่มองตัวเองเป็น Chinese แต่เป็น Taiwanese แนวทางของก๊กมินตั๋งที่จะอ้างสิทธิเหนือจีนทั้งหมดเริ่มจะอ่อนแอลง ทำให้แผ่นดินใหญ่และไต้หวันเริ่มสานต่อกันได้ยากขึ้นผ่านหลักการจีนดียว

24. แต่กับคำถามที่ว่าจีนจะบุกไต้เหวันหรือไม่นั้น? ต้องพิจาณาที่แสนยานุภาพของจีนเป็นหลัก ที่ผ่านมาจีนไม่สามารถสานฝันที่จะผนวกไต้หวันได้สำเร็จอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง และความพยายามข่มขู่ครั้งที่ 3 ยังถูกข่มด้วยแสนยานุภาพอันล้นเหลือของสหรัฐ ดังนั้น จีนจึงไม่อาจจะหักด้ามพร้าด้วยเข่าด้วยการส่งทหารบุกไต้หวัน หรือเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ได้ตามใจชอบ

25. ยิ่งในเวลานี้สหรัฐแข็งกร้าวกับจีนอย่างมากและหันมาหนุนหลังไต้หวันชัดเจนขึ้น จีนทำได้อย่างเดียวคือข่มใจเอาไว้แล้วขู่ไปเรื่อยๆ ยกเว้นว่าไต้หวันจะบ้าระห่ำประกาศเอกราชขึ้นมา ไม่แน่ว่าจีนก็อาจจะเกิดลูกบ้าบุกขึ้นมาจริงๆ ได้เหมือนกัน

ภาพ  SAM YEH / AFP