posttoday

โลกปล่อยคาร์บอนลดลง 17% หลังโควิดทำหลายชาติล็อกดาวน์

20 พฤษภาคม 2563

ล็อกดาวน์เพื่อคุมโควิด ทำทั่วโลกปล่อยคาร์บอนลดลง 17% ต่ำสุดรอบหลายสิบปี

ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชากรอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลายคนเสี่ยงต้องไร้งานทำ ขณะที่ผู้นำอีกนับล้านทั่วโลกต่างเผชิญสภาพการว่างงานมานานนับเดือน

ผลจากมาตรการล็อกดาวน์กิจกรรมของมนุษย์ในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีรายงานผลการศึกษาระหว่างประเทศที่เผยแพร่ผ่านวารสาร "Nature Climate Change" ระบุว่านับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ซึ่งหลายชาติต่างเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างจริงจัง พบว่าระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายวันทั่วโลกลดลงราว 17% หากเทียบกับค่าการปล่อยคาร์บอนจากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการปล่อยค่าคาร์บอนที่ลดลงมากสุดในรอบเกือบสิบปี

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) ในอังกฤษได้ใช้ผลการศึกษาจากการบันทึกค่าคาร์บอนใน 69 ประเทศ, 50 รัฐในสหรัฐ และอีก 30 มณฑลของจีน จากจาก 6 ภาคส่วนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและมีอัตราส่วนการปล่อยคาร์บอนสูง ทั้งภาคคมนาคม การบิน อุตสาหกรรม และการพาณิชย์ รวมกับความเข้มงวดในมาตรการล็อกดาวน์ของแต่ละชาติ เพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของอัตราการปล่อยคาร์บอนในแต่ละวันของแต่ละชาติทั่วโลก จากกลุ่มประเทศที่สำรวจนี้ล้วนเป็นชาติที่มีความสำคัญเชิงอุตสาหกรรมของโลก คิดเป็นประชากรรวมกันมมากถึง 85% ของประชากรทั้งโลก และอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากร้อยละ 97% ของทั้งโลก

เมื่อลงในรายละเอียดพบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การปล่อยคาร์บอนทั่วโลกลดลงคือ การสัญจรของพาหนะลดลงเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ กิจกรรมด้านคมนาคมภาคพื้นลดลงราว50% ขณะที่คมนาคมทางอากาศลดลงถึง 75% ทั่วโลก

รายงานยังคาดการณ์อีกว่า จากสถานการณ์ไวรัสที่ยังคงดำเนินอยู่จะส่งผลให้ค่าการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกลดลงอีกร้อยละ 4.4-8% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งนับเป็นการลดลงมากสุดตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ดี นักวิจัยระบุว่า ยังคงเป็นการยากที่จะคาดการณ์อัตราปล่อยก๊าซคาร์บอนในระยะยาว เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด อีกทั้งการลดลงนี้อาจเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหหนึ่ง เนื่องจากอัตราคาร์บอนที่ลดลงไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเปลี่ยนแปลงการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล

ร็อบ แจ็คสัน นักวิชาการผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐย้ำว่า เราไม่สามารถดีใจกับการลดลงของอัตราปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่เป็นผลจากการว่างงานและพฤติกรรมที่ถูกบีบบังคับได้ .. นี่เป็นการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างไม่ถูกต้อง