posttoday

คำพยากรณ์ของกูรูเศรษฐกิจโลก "เราจะพึ่งตัวเองกันมากขึ้น"

19 พฤษภาคม 2563

หลังการระบาดแล้วการดิ้นรนของมนุษยชาติยังไม่จบลง เรายังต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะลากยาวและพาเข้าสู่พรมแดนใหม่ที่เราไม่เคยย่างกรายเข้าไปก่อน

สำนักข่าว Bloomberg สัมภาษณ์นักเศรษฐกิจศาสตร์ชั้นนำของโลก 2 คน ผู้มีสถานะเป็นเหมือนกูรูของวงการนักคิด นั่นคือ คาร์เมน ไรน์ฮาร์ท (Carmen Reinhart) กับเคนเนธ รอกอฟฟ์ (Kenneth Rogoff) ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกและสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป

คาร์เมน ไรน์ฮาร์ท มีดีกรีเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของ Harvard Kennedy School เป็นหนึ่งใน 100 นักคิดระดับโลกของนิตยสาร Foreign Policy เป็นหนึ่งในนักคิดเชิงวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของ Thompson Reuters และติด 1 ใน 50 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในตลาดการเงิน

เคนเนธ รอกอฟฟ์ เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้ร่วมทำงานวิจัยกับไรน์ฮาร์ทเกี่ยวกับวิกฤตเการเงินและเศรษฐกิจโลกปี 2008 ชื่อ Growth in a Time of Debt (การเติบโตในยุคหนี้) ที่ชี้ถึงความจำเป็นของรัดเข็มขัดงบประมาณการคลัง และลดหนี้สินแห่งชาติ

ต่อไปนี้เป็นทัศนะของกูรูทั้งสอง

1. มีการเทียบกันมากว่าการระบาดของโควิด-19 เหมือนกับการระบาดของไข้หวัดสเปน แต่การระบาดครั้งนี้ต่างจากการระบาดเมื่อ 100 ปีก่อนในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การตกงานในสหรัฐในช่วง 6 สัปดาห์เท่ากับอัตราที่ควรจะเกิดในเวลา 60 สัปดาห์

2. การไหลออกของทุนจากตลาดเกิดใหม่ (รวมถึงไทย) ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้เท่ากับการไหลออกของทุนทั้งปีในช่วงวิกฤตปี 2008 - 2009 ไรน์ฮาร์ทจึงบอกว่า "การสะดุดตัวและการชัตดาวน์อยู่ในระดับที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน"

3. เอเชียมีฏิกิริยาเร็วกว่ามากและมีสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระยะสั้นที่ดีกว่ายุโรปและสหรัฐ และแทบจะจินตนาการไม่ได้ว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้เมื่อ 50 ปีก่อน จีนจะมีศักยภาพในการชัตดาวน์มณฑลหูเป่ยและเลี้ยงประชากร 60 ล้านคนที่ถูกล็อคดาวน์ได้หรือไม่

4. วิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบยุโรปคือพยายามช่วยเหลือบริษัทและพนักงานให้มีงานทำต่อไปโดยรัฐช่วยเหลือ ส่วนสหรัฐช่วยอุดหนุนเงินกับประชาชนแต่ก็ปล่อยให้ธุรกิจเกิดและตายตามธรรมชาติ คือปล่อยให้ตกงานมากกว่า แต่วิธีทั้งสองคล้ายๆ กัน

5. อย่างไรก็ตาม หากวิกฤตยืดเยื้อบริษัทในยุโรปก็จะถูกบีบให้ปลดพนักงานออกไปในที่สุดเพราะรัฐช่วยไม่ไหว ส่วนบริษัทในสหรัฐจะสามารถจ้างงานเพิ่มขึ้นได้หลังจากที่ปล่อยให้ออกไปตั้งแต่แรกเพื่อพยุงกิจการตามกลไกเศรษฐกิจ

6. มีผู้คาดว่าอาจจะเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นกราฟรูปตัว V ที่ถึงจุดต่ำสุดก็ดีดกลับขึ้นมาแบบพุ่งทะยาน แต่กูรูเหล่านี้มองว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีดกลับแบบนั้น การฟื้นตัวจะไม่กลับไปเหมือนยุคก่อนการระบาดอีก

7. รอกอฟฟ์บอกว่า "ผมไม่รู้ว่าเราจะเป็นเหมือนเดิมเท่ากับปี 2010 ได้อย่างไรในระยะเวลาอันใกล้?" วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่แค่คนไม่มีงานทำ แต่บริษัทต่างๆ ยังหยุดดำเนินกิจการ และเขาคาดว่าจะเห็นการล้มละลายเกิดขึ้นไปทั่วเซกเตอร์ต่างๆ ของภาคธุรกิจ

8. แล้วเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบไหน? มีการพูดกันว่ามันอาจเป็นกราฟรูปตัว W นั่นคือขึ้นๆ ลงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังไม่ค้นพบวัคซีน และเสี่ยงที่ความเสียหายจะรุนแรงมากเพราะตอนนี้เรายังไม่ถึงจุดต่ำสุดของสถานการณ์

9. องค์การการค้าโลกประเมินว่าการค้าจะหดตัว 13 - 32% แต่ไม่ใช่ว่าเราจะฟื้นห่วงโซ่การผลิตได้ทันที เพราะการล้มลงของเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นพร้อมกันก็จริง แต่การระบาดไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทุกที เพราะเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันอย่างมาก โรคระบาดจะทำให้ห่วงโซ่การผลิตกลับมาเดินเครื่องพร้อมกันได้ยาก

10. นี่คือภาวะช็อคของการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปีและจะส่งผลต่อโลกาภิวัฒน์อย่างมาก โลกาภิวัฒน์จะเสื่อมถอยลง ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ผลกระทบจึงไม่ใช่แค่การค้าขาย แต่ยังกระทบต่อการเคลื่อนย้ายของทรัพยากรมนุษย์ และยังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมืองด้วย

11. ในอนาคตอันใกล้ โลกจะเผชิญกับภาวะเงินฝืด (กำลังซื้อลดลง) และหลังจากนั้นจะเกิดภาวะช็อคในภาคการผลิตเพราะผลจากการล่มสลายของโลกาภิวัฒน์

12. ไรน์ฮาร์ทกล่าวว่าห่วงโซ่การผลิตจะเกิด "แผลเป็น" จากวิกฤตครั้งนี้ และเราจะไม่กลับไปสู่ภาวะปกติก่อนการระบาด นักลงทุนจะกล้าเสี่ยงน้อยลง ไรน์ฮาร์ทบอกว่า "พวกเราจะกลับมามองดูตัวเราเองมากขึ้น พึ่งตัวเองมากขึ้นในด้านอุปกรณ์การแพทย์ พึ่งตัวเองด้านอาหาร"

เรียบเรียงจาก Harvard’s Reinhart and Rogoff Say This Time Really Is Different โดย Bloomberg Markets

Photo by Kirill KUDRYAVTSEV / AFP