posttoday

เรียนออนไลน์เวิร์กไหม แล้วควรเปิดโรงเรียนเมื่อไรถึงจะรอดไวรัส?

18 พฤษภาคม 2563

บางประเทศกำลังทะยอยรับนักเรียนกลับพร้อมด้วยมาตรการป้องกันที่รัดกุม และบางประเทศแม้จะมีเทคโนโลยีสุดล้ำแต่การเรียนออนไลน์ประสบปัญหามาก

คำถามนี้หาคำตอบได้ยากมากเพราะการระบาดยังคงดำเนินอยู่ แต่เริ่มมีกระแสเรียกร้องให้เปิดโรงเรียน แต่เมื่อบางโรงเรียนแสดงท่าทีว่าจะเปิดในเร็ววันผู้ปกครองก็แสดงความกังวลว่าไม่ควรจะเปิดเพราะเด็กอาจเป็นพาหะนำเชื้อมาติดผู้ใหญ่ในบ้าน หรือเด็กเองอาจล้มป่วยเพราะมีรายงานข่าวว่าเด็กจำนวนหนึ่งในสหรัฐและยุโรปป่วยด้วยอาการอักเสบคล้ายโรคคาวาซากิที่อาจเกี่ยวข้องกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

เรียนออนไลน์จะไปรอดไหม

1. จีนเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มการเรียนการสอนออนไลน์ช่วงล็อคดาวน์แลรัฐบาลสนับสนุนแต่ไม่บังคับโดยมีคำขวัญว่า "หยุดอยู่บ้าน แต่ไม่หยุดเรียน" แต่ปรากฎว่าเสียงตอบรับจากนักเรียนค่อนข้างติดลบ สื่อสังคมออนไลน์ของจีนเต็มไปด้วยเสียงบ่นเรื่องความไม่สะดวก เพราะสถานที่เรียนไม่เป็นส่วนตัว เช่น บางคนต้องปิดฟีดวิดิโอเพราะมีญาติๆ มาทำเสียงรบกวนตอนเรียน และบางครอบครัวมีลูก 3 คน แต่มีคอมพิวเตอร์ให้แค่จอเดียว

2. เทคโนโลยีที่ไม่พร้อมก็เป็นปัญหา เช่น มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงเกิดกรณีอาจารย์บรรยายโดยไม่รู้ว่าไมโครโฟนไม่ดัง ทำให้นักศึกษาทุกคนเปลี่ยนชื่อยูสเซอร์เนมเป็น "NO SOUND" เพื่อเตือนอาจารย์ให้ทราบ

3. แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีเงินซื้ออุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ แม้ว่าจีนจะมีอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตราคาถูก มีมือถือที่ราคาถูกที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีสัญญาณค่อนข้างครอบคลุม แต่ก็นั่นแหละ ไม่ใช่ทุกคนจะมีเงินมาเจียดเพื่อเรื่องแบบนี้ในช่วงที่หลายครอบครัวไม่มีรายได้และเสาหลักของบ้านต้องตกงาน ดังนั้นจึงมีรายงานว่าบางชั้นเรียนนักเรียนหายไปครึ่งหนึ่ง เพราะครอบครัวไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์เรียนออนไลน์

4. การเรียนออนไลน์จึงเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงช่องว่างรายได้และความมั่งคั่งของคนในสังคม จากข้อมูลของมูลนิธิวิจัยพัฒนาของจีนพบว่า มีเด็นกในชนบทแค่ครึ่งเดียวที่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ส่วนเด็กในเมืองขนาดย่อมมีอัตราเข้าเรียน 80.1% เด็กในเมืองระดับอำเภอมีอัตราเข้าเรียน 70.3% จะเห็นว่าเด็กในเมืองพร้อมมากกว่า แม้แต่ในฮ่องกงที่น่าจะพร้อมกว่าแผ่นดินใหญ่ ยังมีนักเรียนประถมถึง 8% ที่ไม่พร้อมเรียนออนไลน์เพราะไม่มีอุปกรณ์

5. ดังนั้นเมื่อการเรียนออนไลน์ยังไม่พร้อม วิธีที่เสียเงินน้อยกว่านั้นคือเปิดโรงเรียน ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่าสำหรับหลายครอบครัวแถมเด็กๆ ยังได้รับบริการหลายๆ อย่างฟรีด้วย เช่น อาหาร การตรวจโรค และเป็นภาระผู้ปกครองน้อยลง แต่คำถามคือการเปิดเรียนตอนนี้ยังเสี่ยงไปหรือไม่?

ประสบการณ์จากอดีต

6. เนื่องจากการกระเมินเรื่องเปิดหรือไม่เปิดทำได้ยาก นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงยกประสบการณ์การระบาดในอดีตขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เช่น Nicholas Christakis แห่งมหาวิทยาลัยเยล เอ่ยถึงการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปี 2006 ที่คำนวณอัตราการระบาดของไข้หวัดใหญ่กับมาตรการปิดโรงเรียน พบว่าการปิดโรงเรียนเพื่อสกัดการระบาดของเชื้อที่ร้ายแรงระดับกลาง จะลดการระบาดได้ 25% และช่วยชะลอการติดเชื้อในพื้นที่นั้นไม่ให้ถึงจุดเลวร้ายที่สุดไปได้ 2 สัปดาห์ เมื่อหลีกเลี่ยงจุดพีคได้ก็จะสามารถลดกราฟการติดเชื้อให้แบนราบลงได้

7. Nicholas Christakis ยังกล่าวว่า การปิดโรงเรียนก่อนที่จะมีการติดเชื้อในพื้นที่ยังเป็นมาตรการป้องกันการระบาดที่ทรงพลังที่สุดเพราะไม่ใช่แค่ช่วยเด็กปลอดภัยเท่านั้นแต่ยังช่วยให้ทั้งชุมชนปลอดภัยด้วย การปิดโรงเรียนจะช่วยลดการพบปะกันของผู้ปกครองที่ต้องมาส่งลูกหลาน เขาอ้างดาต้าจากการระบาดของไข้หวัดสเปนเมื่อปี 1918 ว่าในยุคนั้นโรงเรียนที่ปิดแต่เนิ่นๆ ลดจำนวนคนเสียชีวิตได้มาก เช่น เมืองเซนต์หลุยส์ปิดโรงเรียน 1 วันก่อนการระบาดจะพีคและปิดยาว 143 วัน ส่วนเมืองพิตสเบิร์กปิด 7 วันหลังพีคและปิดแค่ 53 วัน ทำให้ยอดคนตายในเมืองเซนต์หลุยส์น้อยกว่าพิตสเบิร์กถึง 1 ใน 3

ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการปิด

8. ช่วงต้นเดือนเมษายน ทีมนักวิจัยจาก University College London บอกว่าการปิดโรงเรียนมีผลแค่เล็กน้อย โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน The Lancet Child and Adolescent Health ระบุว่าการปิดโรงเรียนในสหราชอาณาจักรจะลดอัตราการตายได้เพียง 2–4% และหลักฐานที่ใช้อ้างอิงผลจากการปิดโรงเรียนเพื่อสกัดการระบาดก็นำมาจากการศึกษาช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 2009 เป็นส่วนใหญ่ซึ่งในเวลานั้นผลกระทบต่อเด็กไม่ชัดเจนนักมากนัก ส่วนสหรัฐที่ปิดโรงเรียน 700 แห่งในเวลานั้นก็ปิดเฉพาะภูมิภาคและปิดระยะสั้น

9. รายงานระบุว่าหากปิดโรงเรียนต่อไป เด็กหลายคนจะประสบปัญหาการเข้าถึงความช่วยเหลือทางสังคมที่โรงเรียนจัดให้ เช่น อาหารกลางวันฟรีหรือน้ำสะอาดและสถานที่ทำความสะอาด รวมถึงบริการฉีดวัคซีนและการบริการด้านสุขภาพจิต และเด็กที่ถูกกักตัวไว้ในบ้านจะขาดการออกกำลังกายในอัตราที่เหมาะสม ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ เช่น ทำให้เด็กติดหน้าจอสมาร์ทโฟนมากขึ้น

10. สำหรับการเปิดโรงเรียนอีกครั้งรายงานนี้มีข้อแนะนำว่า "เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องจัดให้การเปิดโรงเรียนเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ และเป็นแผนการแห่งชาติ และคำนึงถึงมาตรการทางเลือก เช่น ชั่วโมงเรียนที่ลดลงหรือจัดการเรียนที่แยกเป็นส่วนๆ (ลดการเล่น ลดชั่วโมงที่ทำกิจการคละกัน) เด็กหลายคนอาจต้องการความช่วยเหลือเมื่อพวกเขาเปลี่ยนกลับสู่ชีวิตปกติโดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์การสูญเสียจากการระบาด"

ทำไมรัฐบาลต้องปิดโรงเรียน

11. แต่รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ได้ปฏิบัติตามข้อมูลนี้ศาสตราจารย์คริส วิตตี้ (Chris Whitty) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขบอกกับ BBC ว่า ในระหว่างการระบาด โรงเรียนไม่ใช่สถานที่อันตรายสำหรับเด็กๆ แต่การตัดสินใจปิดโรงเรียนก็เพื่อชะลอการระบาด เช่นเดียวกับศาสตราจารย์นีล เฟอร์กูสัน (Prof Neil Ferguson) ที่บอกว่ารายงานของ The Lancet ข้างต้นไม่ได้พิจารณาผลจากการปิดโรงเรียนที่ลดการติดต่อกันระหว่างครัวเรือนและลดอัตราการติดเชื้อลง (หมายถึงเด็กจะไม่นำเชื้อจากข้างนอกเข้ามาในบ้าน) 

บทเรียนจากบางประเทศ

12. ไต้หวันเป็นประเทศแรกๆ ที่ลดกราฟการติดเชื้อให้แบนราบลงได้และเปิดโรงเรียนเป็นประเทศแรกๆ ในเดือนกุมภาพันธ์โดยในทางเทคนิคแล้วไต้หวันไม่ได้ปิดโรงเรียนด้วยซ้ำ เพียงแค่ขยายวันปิดเทอมช่วงฤดูหนาวไปอีก 10 วันเท่านั้น ปัจจุบันไต้หวันก็ยังสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ไม่ปรากฎว่าโรงเรียนจะเป็นตัวการของการระบาดรอบใหม่แต่อย่างใด แต่โรงเรียนมีมาตรการควบคุมการระบาด เช่น ตรวจอุณหภูมิ มีแผงกั้นพลาสติกใสบนโต๊ะเรียน

13. จีนเริ่มปิดโรงเรียนบางส่วนในบบางพื้นที่กลางเดือนมีนาคม จากนั้นปลายเดือนเมษายนจึงเปิดโรงเรียนในเมืองใหญ่ และอู่ฮั่นเปิดเรียนในวันที่ 6 พฤษภาคม โดยมีมาตรการตรวจอุณหภูมิที่ประตูโรงเรียนและนักเรียนต้องดาวน์โหลดแอพที่ช่วยประเมินว่าพวกเขาปลอดภัยหรือไม่ หากปลอดภัยจะขึ้นสัญญาณสีเขียว ซึ่งหมายความว่าพวกเขาเข้าไปเรียนได้ เมื่อเข้าเรียนแล้วนักเรียนและครูจะสวมหน้ากากอนามัย และนั่งเรียนบนโต๊ะที่แผงกั้นพลาสติกใส

Photo by STR / AFP