posttoday

เขื่อนแม่น้ำโขงคือหายนะของพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำ?

16 พฤษภาคม 2563

สายน้ำโขงที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนกว่า 60 ล้านคน และแหล่งระบบนิเวศที่มีความหลากหลายเป็นอันดับสองของโลก กำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาลเพราะเขื่อน

แม่น้ำโขงคือสายน้ำแห่งชีวิตที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกำลังทำให้สายน้ำที่ยาวที่สุดในอาเซียนค่อยๆ เปลี่ยนไป ส่งผลให้ระดับน้ำโขงลดลงและสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศที่เปราะบาง

ปัจจุบันตอนบนของแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านจีนมีการก่อสร้างเขื่อนแล้ว 11 แห่ง ขณะที่ตอนล่างซึ่งไหลผ่านประเทศลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา มีเขื่อนที่ดำเนินการผลิตไฟฟ้าแล้ว 2 แห่งคือเขื่อนไซยะบุรีทางตอนเหนือของลาว และเขื่อนดอนสะโฮงทางตอนใต้ของลาว

นอกจากนี้ยังมีอีก 7 แห่งที่กำลังดำเนินการในประเทศลาว และอีก 2 แห่งในกัมพูชา โดยล่าสุดลาวเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสฟ้าพลังน้ำซะนะคาม (Sanakham) ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนแห่งที่ 6 ของประเทศ คาดว่าจะเปิดใช้งานในปี 2571 และจะทำให้ลาวกลายเป็นแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ของเอเชีย

แต่เขื่อนบนแม่น้ำโขงกำลังส่งผลกระทบกับระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาในลุ่มน้ำโขง

แม่น้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปลาที่จับได้คิดเป็น 25% ของปลาน้ำจืดที่จับได้ทั่วโลก และมีความหลากหลายของสายพันธุ์ปลา (กว่า 1,000 สายพันธุ์ และอาจมีอีกหลายพันธุ์ที่ยังสำรวจไม่พบ) เป็นอันดับสองรองจากป่าแอมะซอนเท่านั้น

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) เผยว่านับตั้งแต่จีนสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงในมณฑลยูนนานเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบพรมแดนไทยลาวก็เริ่มสังเกตเห็นความความผิดปกติของระดับน้ำในแม่น้ำโขงซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อน

สอดคล้องกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่พบว่าความแห้งแล้งในลุ่มน้ำโขงเกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา โดยเมื่อปีที่ผ่านมาระดับน้ำโขงในฤดูแล้งลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 100 ปี

น้ำที่ลดลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนส่งผลให้กุ้งหอยปูปลาซึ่งบางตัวอยู่ในช่วงวางไข่ หนีน้ำลงไม่ทันติดค้างตายอยู่ตามหาดตามแก่งต่างๆ สร้างความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้

ขัดขวางการอพยพของปลา

รายงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังพบว่าการสร้างเขื่อนเป็นการขัดขวางเส้นทางการอพยพตามธรรมชาติและวัฏจักรชีวิตของปลาในแม่น้ำโขง

ขณะที่ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences พบว่าเขื่อนทั้งในแม่น้ำโขงสายหลักและสาขาทำให้ปลาในแม่น้ำโขงอย่างน้อย 103 สายพันธุ์ จาก 877 สายพันธุ์ ไม่สามารถอพยพไปยังต้นน้ำเพื่อวางไข่

ในกรณีของแม่น้ำโขง เรื่องนี้สำคัญมาก เนื่องจากรูปแบบการอพยพเกิดขึ้นมานับพันๆ ปีและยังเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับวัฏจักรชีวิตของปลาที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

“ปลาในแม่น้ำโขงต่างปรับตัวให้เข้ากับการไหลของแม่น้ำโขงมาช้านาน แต่ถ้ามันไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสน้ำใหม่ มันก็จะสูญพันธุ์ไป” เพ็ง บุญ งอ นักนิเวศวิทยาปลาจากกรมประมงกัมพูชากล่าว

คณะกรรมาธิการคาดว่า ปริมาณปลาในแม่น้ำโขงจะหายไปราว 35-40% ในปีนี้ และ 40-80% ภายในปี 2040 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าอันเนื่องมาจากการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และอาจหมายถึงการสูญพันธุ์ของปลาบางชนิด อาทิ ปลาบึก ปลาเฉพาะถิ่นของแม่น้ำโขงที่ตอนนี้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้ว

ตะกอนดินที่หายไป

ไม่นานหลังจากเขื่อนไซยะบุรีเริ่มเปิดปฏิบัติการ แม่น้ำโขงที่ปกติจะเป็นสีน้ำตาลก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีฟ้าใส ซึ่งเป็นสัญญาณว่าตะกอนดินต่างๆ หายไปจากสายน้ำ เนื่องจากน้ำในเขื่อนถูกปล่อยออกมาช้าๆ ทำให้ตะกอนที่เคยหลุดมากับสายน้ำไปตกอยู่หลังเขื่อน น้ำจึงใสกว่าปกติ  โดยผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า การสร้างเขื่อนทำให้ตะกอนดินและแร่ธาตุในแม่น้ำโขงลดลงถึง 97%

นอกจากจะทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของแม่แม่น้ำโขงหายไปแล้ว การลดลงของตะกอนดินยังส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์แม่น้ำหิว (hungry water) คือ เมื่อแม่น้ำไม่มีตะกอน พลังงานที่เคยใช้ในการพัดตะกอนไปสู่ปลายน้ำจะไปกัดเซาะตลิ่งที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำแทน และยังกัดเซาะซอกหินที่ปลาใช้เป็นที่วางไข่

เมื่อปลาไม่สามารถขยายพันธุ์ บวกกับปริมาณที่ลดลงต่อเนื่อง สุดท้ายปลาแม่น้ำโขงที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็จะค่อยๆ หายไปจนสูณพันธุ์ในที่สุด

โครงการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

ทางการลาวชี้แจงว่ามีการจัดทำโครงการแก้ปัญหาและลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เขื่อนไซยะบุรี มีการออกแบบระบบทางปลาผ่าน เพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อปลาอพยพตามธรรมชาติ โดยได้ออกแบบให้ปลาสามารถอพยพทวนน้ำ และตามน้ำได้ตลอดทุกฤดูกาล

ส่วนปัญหาตะกอนนั้น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นแบบ Run-of-River จึงไม่มีการเก็บกักตะกอนและไม่มีผลกระทบต่อการระบายตะกอนและธาตุอาหารที่มากับกระแสน้ำ ทั้งยังออกแบบประตูระบายตะกอน (Low Level Outlet) สำหรับระบายตะกอนท้องน้ำโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดี นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายคนยังแสดงความกังวลกับผลกระทบของเขื่อน

เอียน แบร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันที่ศึกษาการทำประมงในแม่น้ำโขงเผยว่า “เราไม่รู้ว่าคำกล่าวอ้างว่าเขื่อนจะไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมอาศัยข้อเท็จจริงใด ซึ่งหากมาตรการต่างๆ ไม่ได้ผล เราก็ไม่สามารถกลับไปแก้ไขความเสียหายใดๆ ได้เลย ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบกับความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคนี้”

ส่วน ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์สติมสันในสหรัฐมองว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเป็นการก่อสร้างแบบแต่ละโครงการแยกกัน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคาดการณ์ผลกระทบโดยรวมของโครงการที่ไม่ได้ควบคุมเหล่านี้

สุดท้ายคงต้องชั่งน้ำหนักว่าผลประโยชน์ที่ได้คุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปหรือไม่