posttoday

ปรับโครงสร้างก่อนล้มละลายคือคำตอบสายการบินแห่งชาติ

09 พฤษภาคม 2563

ถอดรหัสแจแปนแอร์ไลนส์ สายการบินแห่งชาติที่ฟื้นชีวิตจากการล้มละลาย

ครั้งหนึ่งสายการบิน Japan Airlines เคยถูกจัดอันดับให้เป็นสายการบินที่มีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในด้านการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าถึง 5 ปีติดต่อกัน และยังมีเครื่องบินโบอิ้ง 747 มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของธุรกิจการบิน

แต่แล้ววันหนึ่ง Japan Airlines ที่ยิ่งใหญ่กลับต้องล้มละลายกลายเป็นกรณีศึกษาถึงความผิดพลาดของธุรกิจสายการบินไปโดยปริยาย

ต่อไปนี้คือสรุปย่อเรื่องราวความผกผันของสายการบินสัญชาติญี่ปุ่น

1.สายการบิน Japan Airlines ก่อตั้งเมื่อปี 1951 เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นต้องการสายการบินที่น่าเชื่อถือสำหรับรองรับการเติบโตของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีต่อมา

2.Japan Airlines ขยับขยายให้บริการในหลายเส้นทางทั่วโลก และยังเข้าสู่ตลาดหุ้นอย่างสวยงามในปี 1961 รวมถึงได้รับรางวัลอันดับหนึ่งด้านประสิทธิภาพในการขนส่งผู้โดยสารและคาร์โกถึง 5 ปีซ้อนจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ตั้งแต่ปี 1983-1987 ซึ่งถือเป็นอนาคตที่สดใสสำหรับธุรกิจการบินในขณะนั้น

3.แต่แล้วความสำเร็จของสายการบินที่ยิ่งใหญ่ก็เริ่มสั่นคลอน หลังจากคณะกรรมการบริษัทเริ่มหันไปลงทุนอย่างหนักในธุรกิจโรงแรม ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการซื้อโรงแรม The Essex House ในเมืองแมนฮัตตันเมื่อปี 1984 ในราคาสูงลิ่วถึง 190 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะทุ่มงบอีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐในการรีโนเวท

4.การซื้อโรงแรมในแมนฮัตตันอาจเป็นความผิดพลาดหนึ่งของสายการบิน เพราะต่อให้มีลูกค้าจองโรงแรมเต็มตลอด 30 ปี ก็ยังทำกำไรไม่ได้

5.Japan Airlines กลับมาเป็นของเอกชนในปี 1987

6.ปี 1992 Japan Airlines ขาดทุน 53,800 ล้านเยน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทขาดทุนนับตั้งแต่เปลี่ยนมาเป็นของเอกชนเมื่อปี 1987 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป อาทิ ค่าดูแลเครื่องบินขนาดใหญ่ การทำงานไม่เป็นเอกภาพ ทู่ซี้บินในเส้นทางที่ขาดทุน มีพนักงานมากเกินความจำเป็น

7.สถานการณ์ความวุ่นวายทั่วโลกยิ่งซ้ำเติมปัญหาของ Japan Airlines ไม่ว่าจะเป็นเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 สงครามอิรักและโรคซาร์สระบาดในปี 2003 ทำให้ผู้โดยสารลดลง รายได้จึงหดหายตามไปด้วย

8.แม้จะมีการตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปแล้ว แต่รายได้ก็ยังไม่มากพอ สุดท้ายทางสายการบินจึงต้องขอกู้เงินเพิ่มเติมจากธนาคารเพื่อการพัฒนาญี่ปุ่นซึ่งเป็นของรัฐบาลอีก 90,000 ล้านเยน หลังจากกู้ก้อนแรกหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ไปแล้ว ส่งผลให้สายการบินมีหนี้ทั้งหมดกว่า 240,000 ล้านเยน

9.ยังไม่ทันฟื้นตัวจากมรสุมลูกเก่า Japan Airlines ก็ถูกวิกฤตการเงินโลกเล่นงานอีกครั้ง ปี 2009 สายการบินจึงต้องขอกู้เงินฉุกเฉินจากรัฐบาลอีก 100,000 ล้านเยน แต่ครั้งนี้ชาวญี่ปุ่นเริ่มไม่พอใจที่รัฐต้องนำเงินภาษีจำนวนมหาศาลไปอุ้มธุรกิจสายการบิน  

10.ในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจไม่อุ้ม Japan Airlines อีกต่อไปจนนำมาสู่การยื่นขอล้มละลายในปี  2010 ซึ่งถือเป็นการล้มละลายของธุรกิจที่ไม่ใช่ภาคการเงินครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในขณะนั้น และใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์ของประเทศ

11.Japan Airlines ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง อาทิ ยกเลิกบินในเส้นทางที่ขาดทุน ปลดพนักงาน 15,700 คน หรือราว 1 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด 47,000 คน ลดเงินเดือนพนักงาน 30% และออกจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือก้อนสุดท้าย 900,000 ล้านเยน และการยกเลิกหนี้จากเจ้าหนี้จำนวน 730,000 ล้านเยน

12.นอกจากนี้ รัฐบาลยังเชิญให้ คาซูโอะ อินะโมริ (Kazuo Inamori) ผู้ก่อตั้งบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ เคียวเซรา (Kyocara) วัย 78 ปีในขณะนั้นให้มาเป็นผู้บริหาร ทั้งๆ ที่เขาปฏิเสธมาหลายครั้งและไม่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจสายการบินมาก่อนเลย แสดงว่าชายคนนี้ต้องมีดีแน่นอน

13.อินะโมริเข้ามาบริหาร Japan Airlines โดยไม่รับเงินเดือนแม้แต่เยนเดียว เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเขาตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหาของสายการบินจริงๆ และเผยว่าที่ยอมเปลี่ยนใจเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารก็เพราะหาก Japan Airlines ไม่สามารถกลับมาลืมตาอ้าปากได้ ก็จะยิ่งเป็นผลเสียกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ย่ำแย่อยู่แล้ว

14.อินะโมรินำหลักการบริหารงานในบริษัทเคียวเซรามาใช้กับ Japan Airlines นั่นก็คือ แทนที่จะให้ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจทุกๆ อย่างจนเกิดความล่าช้า ก็เปลี่ยนเป็นการแบ่งพนักงานออกเป็นกลุ่มย่อยๆ แล้วให้กลุ่มนั้นๆ ตัดสินใจกันเอง โดยให้หัวหน้ากลุ่มมาประชุมกันเดือนละครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้

15.2 ปีผ่านไป Japan Airlines ก็กลับมาทำกำไรได้อีกครั้งภายใต้การบริหารของอินะโมริ และยังขึ้นแท่นสายการบินที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลกในปีงบประมาณ 2011/2012 ด้วยตัวเลขกำไร 186,600 ล้านเยน จากที่ตั้งเป้าไว้เพียง 60,000 ล้านเยน

16.สุดท้าย Japan Airlines ก็ได้กลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้งในปี 2012 ด้วยมูลค่าการซื้อขายครั้งแรก (IPO) 663,000 ล้านเยน นับเป็นการ IPO ที่มูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกในปีนั้น โดยเป็นรองเพียงการเปิดตัวซื้อขายของเฟซบุ๊คเท่านั้น

17.ส่วนอินะโมริก็กลายเป็นนักธุรกิจผู้ชุบชีวิต Japan Airlines โดยเขาลาออกจากบอร์ดบริหารของสายการบินเมื่อปี 2013 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในปี 2015

จากกรณีของ Japan Airlines ชี้ให้เห็นว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น คือคำตอบสุดท้ายที่จะรักษาชีวิตของสายการบินให้อยู่ต่อไปได้

รายงานโดยจารุณี นาคสกุล