posttoday

บุญหล่นทับไทยแลนด์? เมื่อญี่ปุ่นหนีจีนย้ายฐานมาอาเซียน

04 พฤษภาคม 2563

หลังจากนี้เราอาจเห็นคลื่นการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้อานิสงส์จากเทรนด์นี้

จากการระบาดของโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทำให้หลายประเทศเกิดอาการตื่นตระหนกเพราะจู่ๆ ก็ถูกตัดขาดจากสินค้าจำเป็นเพราะมาตรการปิดประเทศทำให้สายพานการผลิตถูกตัดขาด ซัพพลายสินค้าหยุดชะงัก บริษัทของตัวเองที่ไปลงทุนในต่างแดนถูกขังไว้ในประเทศนั้น ไม่สามรรถส่งสินค้าจำเป็นกลับมาบ้านเกิดได้

เช่นอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ถูกกักไว้ในประเทศต้นทาง ทั้งๆ ที่เจ้าของทุนต้องการมันอย่างมาก

สิ่งที่ตามมาคือ (1.) นานาประเทศจะสิ้นศรัทธาในโลกาภิวัฒน์กับการค้าเสรีแล้วหันมาใช้นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ และ (2.) จะเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศ "ที่ไว้ใจได้"

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่เกิดอาการตาสว่างเมื่อพบว่าระบบห่วงโซ่อุปทานของพวกตนนั้นต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก

สาเหตุที่ต้องพึ่งจีนก็เพราะต้นทุนต่ำ ค่าแรงไม่สูง พลังการซื้อมหาศาล เดินทางไม่ไกลจากกันมากนัก แต่พอเกิดโควิด-19 เท่านั้น ประเทศที่ดูเหมือนใกล้กับห่างไกลราวกับคนละฟากฟ้า แค่จะหยิบเอาของจากโรงงานในจีนมายังประเทศเจ้าของเงินยังทำไม่ได้

ล่าสุด ญี่ปุ่นจะเปิดตัวโครงการอุดหนุนด้านการเงินเพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตในประเทศย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่นๆ มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศอื่นๆ ที่ว่านี้หมายถึงจีนเป็นสำคัญ

โครงการนี้มีมูลค่าถึง 23,500 ล้านเยน (ราว 7,118 ล้านบาท) ซึ่งรวมอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อบรรเทาความตกต่ำทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ เงินจำนวนนี้จะช่วยให้บริษัทต่างๆ กระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการย้ายฐานการผลิตและการก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในประเทศใหม่

โครงการจะเน้นไปที่ผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นสำหรับคนญี่ปุ่นในด้านสุขอนามัย รวมถึงหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ บริษัทพวกนี้สามารถขอรับเงินอุดหนุนหากต้องการเปิดโรงงานใหม่ในประเทศอื่น (นอกจากจีน) หรือเพิ่มกำลังการผลิตที่มีอยู่ในญี่ปุ่น

ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัยของญี่ปุ่นระบุว่า ญี่ปุ่นนำเข้าหน้ากากอนามัยประมาณ 80% ในปี 2561 ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ดังนั้นเมื่อจีนปิดประเทศ ญี่ปุ่นจึงตกอยู่ในสภาพเคว้งคว้าง

หลายคนอาจจะนึกว่าบริษัทที่จะต้องย้ายจากจีนจะมีแค่จำพวกสินค้าจำเป็น เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ญี่ปุ่นมองไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถือเป็น "Mother of all industries" ของพวกเขา

เหตุมันเกิดจากผู้ผลิตรถยนต์หลายรายและผู้ผลิตรายอื่นประสบปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศจีนหลังจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อซัพพลายขาด ทุกอย่างก็หยุดหมด หยุดกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนกระทั่งลากยาวเลยเดือนเมษายน

จากข้อมูลการค้าของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นพบว่าชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนคิดเป็นสัดส่วน 36.9% ของการนำเข้าทั้งหมดของญี่ปุ่นในปี 2562 ขณะที่โทรศัพท์มือถือจากจีนคิดเป็น 85.5% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

เมื่อพูดถึงยานยนต์ญี่ปุ่น เราจะลืมประเทศไทยไปไม่ได้ และเมื่อพูดถึงการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน ไทยคือประเทศแถวหน้า

โครงการนี้เป็นจะโชคลาภแก่ประเทศไทยโดยแท้

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต้องาที่หลบภัยจากเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพาการผลิตในประเทศจีนอย่างมาก เช่น ในจีนมักเกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นเป็นระยะๆ จีนเริ่มมีค่าแรงที่สูงขึ้น และจีนทำสงครามภาษีศุลกากรกับสหรัฐทำให้บริษัทต่างชาติในจีนโดนหางเลขไปด้วย

แต่มันมีอะไรมากกว่าการตรึงซัพพลายไม่ให้สะดุด มันยังมีแง่มุมด้านการเมืองระหว่างประเทศซ่อนอยู่ด้วย

เมื่อพูดถึงเบื้องลึกเบื้องของของการอพยพใหญ่ออกจากจีน เจ้าหน้าที่กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าว Kyodo ว่า "ก่อนเกิดการระบาดของไวรัส บริษัทญี่ปุ่นมีความต้องการตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น (โครงการอุดหนุนทางการเงิน) จะช่วยให้ประเทศของเราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประเทศในอาเซียนเช่นกัน"

คำพูดที่ว่า "ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประเทศในอาเซียน" ไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่เป็นการ "ย้ำหมุด" ของญี่ปุ่นในอาเซียนไม่ให้ถูกจีนถอนไป เพราะในระยะหลังจีนได้สยายปีกลงมายังเพื่อนบ้านทางใต้มากขึ้น จนมีอิทธิพลต่อบางประเทศในอาเซียน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อญี่ปุ่นที่ลงหลักปักฐานในแถบนี้มานานกว่าใคร

ในระยะหลัง เกาหลีใต้ยังลงมาปักหมุดในอาเซียนและสามารถชิงเวียดนามมาเป็นฐานการผลิตใหญ่ของตนได้ ในลักษณะเดียวกับที่ญี่ปุ่นมีไทยเป็นฐานที่มั่นสำคัญ

ตังแต่ก่อนการระบาดใหญ่แล้วที่บริษัทต่าง ใช้ China, Plus One ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตแทนที่จะพึ่งจีนอย่างเดียว ก็โยกฐานะผลิตย่อยๆ มายังประเทศอื่นๆ ในเอเชียโดยเฉพาะอินเดีย บังกลาเทส และอาเซียน

แม้จะมีมาก่อนการระบาด แต่ China, Plus One ก็ยังช่วยแก้ปัญหาไม่ได้เต็มที่เพราะเป็นแค่การย้ายฐานผลิตรอง หรือส่วนประกอบของสินค้าเท่านั้นยังไม่ใช่ฐานการผลิตแบบครบวงจร

เช่น บริษัท A ยังมีฐานผลิตอุปกรณืหลักทั้งหมดในจีน แต่มีโรงงานประกอบและทดสอบในเวียดนาม ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาในจีนโรงงานในเวียดนามก็ "ซี้แหงแก๋" อยู่ดี

หลังจากนี้มันจะไม่ใช่แค่ China, Plus One แต่จะเป็นการย้ายฐานมาแบบเต็มพิกัดมายังอาเซียน

ข้อดีของอาเซียนในตอนนี้คือ ค่าแรงต่ำกว่าจีน แต่ก็สูงพอที่จะสร้างชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อขึ้นมาได้ ทำให้บริษัทต่างๆ มีทั้งแรงงานราคาถูก และลูกค้าที่พร้อมจะซื้อสินค้าในเวลาเดียว

ยิงปืนนัดเดียวได้นกตั้งหลายตัว!

AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAUL