posttoday

เมื่อความอดอยากอาจฆ่าคนก่อนโคโรนาไวรัส ไทยจะทำอย่างไร?

24 เมษายน 2563

การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสยิ่งซ้ำเติมความอดอยาก สิ้นปีนี้จะมีคนหิวโหยทั่วโลกเกือบ 300 ล้านคน

โครงการอาหารแห่งสหประชาชาติ (WFP) เตือนทั่วโลกจะมีผู้คนอดอยากเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวเป็น 265 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจและการขนส่งที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ Covid-19

ก่อนที่โคโรนาไวรัสจะระบาด ผู้คนราว 135 ล้านคน จาก 55 ประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับความอดอยากอยู่แล้ว แต่หลังจากเกิดโรคระบาด จะมีคนหิวโหยเพิ่มขึ้นอีก 130 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

โดยกลุ่มประเทศในแอฟริกาจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด รองลงมาคือทวีปเอเชีย และละตินอเมริกา และราว 77% ของประชากรที่ต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงมาจากประเทศที่มีสงครามและความขัดแย้งภายใน เช่น เยเมน ซีเรีย ซูดานใต้

แปลว่าเราไม่ได้เผชิญกับโรคระบาดอย่างเดียว แต่ยังต้องรับมือกับความอดอยากที่ระบาดเป็นวงกว้างด้วย

ข้อมูลข้างต้นมีที่มาจากรายงานวิกฤตอาหารโลกประจำปี โดยปีนี้พบว่า ในขณะที่วิกฤตการณ์ด้านอาหารในหลาย ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด อาทิ เยเมน อัฟกานิสถาน ซีเรีย เกิดจากความขัดแย้ง ผลกระทบของ Covid-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหรือชะงักงันยิ่งเป็นการซ้ำเติมประเทศเหล่านี้เข้าไปอีก

เพราะประเทศเหล่านี้แทบจะไม่มีความพร้อมหรือมีอยู่อย่างจำกัดในการรับมือกับทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพจากการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส

เดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการ WFP ถึงกับเอ่ยว่า “คนหลายคนอาจจะตายเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก Covid-19 มากกว่าตายเพราะไวรัส”

ส่วน อารีฟ ฮุสเซน นักเศรษฐศาสตร์ระดับสูงของ WFP เผยว่า โคโรนาไวรัสอาจเป็นหายนะสำหรับคนกลุ่มนี้ที่จะมีเงินซื้ออาหารก็ต่อเมื่อมีงานให้ทำเท่านั้น และตอนนี้ชีวิตของพวกเขากำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย

บทวิเคราะห์

การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสทำให้ประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว หันมาผลิตและรักษาสต็อกให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก อาทิ จีนที่แม้จะมีสต็อกข้าวเยอะ แต่ยังไม่ส่งออกในช่วงนี้ เพราะต้องเก็บไว้บริโภคภายในประเทศก่อน

ขณะที่อินเดีย ผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก ได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งข้าวต้องหยุดชะงักตามไปด้วย ส่วนเวียดนามที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 จำกัดโควต้าไม่ให้ส่งออกข้าวเกิน 400,000 ตัน และสำรองข้าว 190,000 ตันเพื่อการบริโภคในประเทศ

ด้านกัมพูชาแม้จะไม่ใช่ผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่การห้ามส่งออกข้าวขาวและข้าวเปลือกชั่วคราวก็กระทบต่อปริมาณข้าวในตลาดเช่นกัน ส่วนเมียนมาสั่งระงับการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวชั่วคราว

เมื่อคู่แข่งของไทยต่างจำกัดการส่งออก ผลดีจึงตกอยู่กับไทย ประเทศผู้นำเข้าที่ไม่สามารถซื้อข้าวจากประเทศเหล่านี้ได้ อาจหันมาสั่งซื้อกับไทย โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่น่าจับตามอง

โดยปกติฟิลิปปินส์จะสั่งซื้อข้าวจากเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ผู้ค้าไม่สามารถส่งออกข้าวแล้ว แต่ฟิลิปปินส์ต้องเร่งนำเข้าข้าวให้ได้อย่างน้อย 300,000 ตัน เนื่องจากหลังสิ้นเดือน มิ.ย. ฟิลิปปินส์จะเหลือข้าวเพียงพอบริโภคในประเทศเพียง 67 วันเท่านั้น ไทยจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้

สถานการณ์นี้เป็นผลดีกับข้าวไทยอย่างยิ่ง ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกอาจจะเริ่มต้นปีไม่ได้นัก เพราะส่งออกข้าวได้น้อยที่สุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากค่าเงินบาทแข็ง บวกกับข้าวไทยราคาสูง เพราะผลผลิตปีที่แล้วมีน้อยเนื่องจากความแห้งแล้ง

แต่หลังจากประเทศคู่แข่งไม่สามารถส่งออกข้าว ข้าวไทยก็ได้อานิสงส์มาเต็มๆ ยอดส่งออกข้าวเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. ถึง 16% เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างประเทศต้องการข้าวไทยเพิ่มขึ้น และราคาของข้าวไทยยังเพิ่มขึ้น 11% ในช่วงปลายเดือน ก.พ. ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 7 ปี

หลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ความต้องการข้าวในประเทศต่างๆ จะสูงขึ้น จึงถือเป็นโอกาสทองของไทยที่จะทวงบัลลังก์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 จากอินเดีย

อย่างไรก็ดี โอกาสนี้อาจเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อการคมนาคมขนส่งกลับสู่ภาวะปกติ ประเทศคู่แข่งก็จะกลับมาส่งออกข้าวตามปกติ

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ราคาข้าวไทยยังค่อนข้างสูง เช่น ข้าวหอมมะลิไทยตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ ส่วนข้าวหอมมะลิเวียดนามเฉลี่ยตันละ 650 เหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่ง

อีกทั้งชาวนาไทยยังต้องเจอปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ส่งผลให้ผลผลิตมีปริมาณลดลง เมื่อผลผลิตน้อยก็กลับไปสู่ปัญหาเดิมคือ ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่ง

แต่ก็ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

Photo by Essa Ahmed / AFP