posttoday

นักวิทย์จีนยืนยันเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์จนรุนแรงขึ้นจริง

21 เมษายน 2563

นักวิทยาศาสตร์อันดับต้นๆ ของจีนเตือนอย่ามองข้ามการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัส หลังพบสายพันธุ์ดุรุนแรงกว่าสายพันธุ์ทั่วไปถึง 270 เท่า

งานวิจัยของ หลี่หลานจวน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงและทีมงาน วิเคราะห์เชื้อโคโรนาไวรัสที่ได้จากผู้ป่วย Covid-19 ในเมืองหางโจว 11 ราย เพื่อศึกษาความรุนแรงในการติดต่อและทำลายเซลล์ของไวรัส พบว่าไวรัสเกิดการกลายพันธุ์และมีความรุนแรงขึ้น

งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ medRxiv.org ระบุว่า สายพันธุ์ของไวรัสที่พบในผู้ป่วยในเมืองเจ้อเจียงของจีนเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดส่วนใหญ่ในยุโรป ขณะที่สายพันธุ์ที่ระบาดในสหรัฐ โดยเฉพาะในรัฐวอชิงตันเป็นสายพันธุ์ที่ต่างออกไปและมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ยุโรป

อย่างไรก็ดี สายพันธุ์ที่ระบาดในมหานครนิวยอร์กซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในสหรัฐ กลับเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดในยุโรป

ทว่าหลี่หลานจวนเตือนว่า สายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเสี่ยงต่อผู้ป่วยน้อยกว่า โดยยกตัวอย่างผู้ป่วยชาวเจ้อเจียง 2 ราย ช่วงอายุระหว่าง 30-59 ปี ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ไม่รุนแรงแต่กลับมีอาการหนัก แม้ว่าทั้งคู่จะไม่เสียชีวิต แต่ผู้ป่วยที่อายุมากกว่าต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู

ทีมของหลี่ใช้วิธีการศึกษาแบบ ultra-deep sequencing หรือการจัดลำดับพันธุกรรมไวรัสแบบลึก ซึ่งมีการอ่านพันธุกรรมแต่ละชุดมากกว่า 100 ครั้ง เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่อาจมองข้ามไปในการศึกษาตามปกติที่จะอ่านพันธุกรรมเพียงครั้งเดียว

ทางทีมพบว่าการกลายพันธุ์ทำให้การทำหน้าที่ของ spike protein หรือโปรตีนหนามซึ่งเป็นเกราะด้านนอกที่ไวรัสใช้โจมตีเซลล์ของมนุษย์และสัตว์ เปลี่ยนแปลงไป คือมีความสามารถในการระบาดรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัสกว่า 30 ครั้ง โดยในจำนวนนี้ 19 ครั้ง หรือราว 60% เป็นสายพันธุ์ใหม่ และยังพบอีกว่าสายพันธุ์ที่ดุที่สุดมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่อ่อนแอที่สุดถึง 270 เท่า ทั้งยังทำลายเซลล์ได้เร็วที่สุดด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ยืนยันว่าการกลายพันธุ์ส่งผลต่อความรุนแรงและอันตรายของโคโรนาไวรัส ทำให้แต่ละเมืองแต่ละประเทศมีอัตราการเสียชีวิตแตกต่างกัน และต้องพัฒนาวัคซีนที่รองรับการกลายพันธุ์นี้ด้วย

อย่างไรก็ดี การศึกษาชิ้นนี้ยังมีกลุ่มตัวอย่างที่น้อยมาก เพียง 11 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วงานวิจัยชิ้นอื่นๆ จะใช้ตัวอย่างหลักร้อยหรือหลักพัน