posttoday

ไอ จามใส่หน้าคนอื่นเพื่อแพร่เชื้อโควิดผิดอาญาเต็มประตู

09 เมษายน 2563

ในช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสระบาด การไอ จาม หรือถ่มน้ำลายใส่คนอื่นเพียงครั้งเดียว อาจทำให้ต้องนอนคุกอีกไปอีกนาน

ก่อนหน้านี้ที่บ้านเรามีการถกเถียงกันว่าชายรายหนึ่งที่เสียชีวิตด้วยโรค Covid-19 ได้ไอใส่คนอื่นหรือไม่ ซึ่งภายหลังก็ทราบแน่ชัดแล้วว่าไม่ได้ไอใส่ เรื่องก็เป็นอันจบไป แล้วถ้ามีคนที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสไอใส่คนอื่นจริงๆ จะผิดกฎหมายหรือไม่ 

เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในญี่ปุ่นกำลังปวดหัวกับการนำตัวบทกฎหมายมาปรับใช้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสที่กำลังระบาดไปทั่วโลกนี้

นับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ญี่ปุ่นเกิดคดีที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโคโรนาไวรัสอย่างน้อย 2 คดี คดีแรก ฮิโระคาสุ นากายะมะ วัย 49 ปี เข้าไปในร้านขายยาแล้วตะโกนว่าตัวเองติดเชื้อแล้วไออย่างรุนแรง จนพนักงานในร้านต้องเรียกตำรวจมาจับตัวไป 

ความจริงก็คือชายคนนี้ไม่ได้ป่วย เพียงแต่รู้สึกโมโหที่หาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้ แต่ก็ไม่ทำให้เขารอดพ้นจากข้อหาขัดขวางการดำเนินธุรกิจ 

อีกคดีหนึ่งเป็นของ โนริฮิโระ โตจิมะ ชายวัย 69 ปี ที่กำลังจะขึ้นเครื่องบินไปเมืองมัตสึยะมะ

ก่อนที่เครื่องจะเทกออฟจากสนามบินนาริตะ ชายคนนี้บอกกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินว่าตัวเองติดเชื้อโคโรนาไวรัส จนกัปตันต้องนำเครื่องวกกลับเข้ามาที่ลานจอด เพื่อเชิญตัวลงจากเครื่อง และต่อมาเขาถูกจับในข้อหาขัดขวางการดำเนินธุรกิจ 

มาถึงตรงนี้ชัดเจนว่าการเอาเรื่องติดเชื้อโคโรนาไวรัสมาข่มขู่หรือล้อเล่นถือเป็นความผิด 

อีกเคสหนึ่งที่น่าสนใจเป็นเคสของชายวัย 57 ปีจาก จ.ไอชิ ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. โดยเจ้าหน้าที่สั่งให้กักตัวอยู่ที่บ้าน แต่ชายคนนี้กลับบอกกับพ่อแม่ว่าอยากออกไปแพร่เชื้อ

เขาไปเที่ยวผับในเมืองกามาโกริ ทั้งร้องคาราโอเกะและเอาแขนโอบพนักงานเสิร์ฟสาวๆ ด้วย แต่หลังจากบอกกับพนักงานว่าตัวเองติดเชื้อ เขาถูกเชิญออกจากร้านทันที 

ส่วนทางผับก็ต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. โดยทางเจ้าของผับได้แจ้งความจับชายคนต้นเหตุในข้อหาเดียวกันกับ 2 คดีแรก ก็คือ ขัดขวางการดำเนินธุรกิจ 

แต่ก่อนที่จะถูกจับกุม ชายวัย 57 รายนี้ต้องเข้าโรงพยาบาลในวันถัดมาเนื่องจากอาการทรุดหนัก ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 18 มี.ค. 

การฝ่าฝืนคำสั่งกักตัวของชายรายนี้ทำให้พนักงานเสิร์ฟอย่างน้อย 1 รายเริ่มมีไข้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. และตรวจพบว่าติดเชื้อในอีกไม่กี่วันต่อมา

หากยังมีชีวิตอยู่ชายรายนี้จะถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายได้หรือไม่

สึเนฮิโกะ มาเอะดะ อดีตพนักงานอัยการยกตัวอย่างคำพิพากษาในคดีก่อนหน้านี้ ที่ชายรายหนึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหาทำร้ายร่างกายหลังจากเจตนาแพร่เชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งข้อหานี้มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี  

หากยึดตามคดีนี้ ชายวัย 57 ปีก็อาจจะมีความผิดในฐานเดียวกัน  

ส่วนในประเทศอังกฤษ แม็กซ์ ฮิลล์ คิวซี ผู้อำนวยการอัยการ (DPP) แห่งอังกฤษและเวลส์ เตือนว่าใครก็ตามที่ไอหรือจาม หรือพ่นน้ำลายใส่ หรือขู่ว่าจะทำการดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่โดยเจตนาให้เกิดอันตรายหรือทำให้เกิดความกลัว มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปีในข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ 

แต่หากทำกับคนธรรมดาที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จะมีความผิดในข้อหาทำร้ายร่างกาย ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน 

ที่อังกฤษมีคดีประเภทนี้เยอะมาก อย่าง มาร์ติน เทิร์นเนอร์ จากเมืองบอร์นมัธ ถูกจำคุก 24 สัปดาห์ หลังจากไอและจามใส่ตำรวจ ก่อนจะพูดว่า “เอาเชื้อโคโรนาไวรัสไป” ส่วนอีกรายหนึ่งจากเมืองเมอร์ซีไซด์ถูกจำคุก 6 เดือนเพราะถ่มน้ำลายใส่พยาบาล 

ขณะที่นิวซีแลนด์ตั้งข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญจนเป็นอันตรายต่อชีวิต (โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี) และขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 4,000 เหรียญแคนาดา หรือทั้งจำทั้งปรับ) กับชายวัย 38 ปีที่ไอและจามใส่คนอื่นในซูเปอร์มาร์เก็ต 

สำหรับประเทศไทย การจงใจไอ จาม หรือบ้วนน้ำลายใส่ผู้อื่น ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ มาตรา 34 (6) ที่ระบุว่าห้ามผู้ใด กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 398 คือ กระทำด้วยประการใดๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนตัวบุคคล หรือทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

กรณีที่แพทย์ พยาบาล หรือผู้อื่นต้องเจ็บป่วยเพราะการไอ จาม หรือบ้วนน้ำลายในครั้งนั้น ผู้กระทำอาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท

หรือมาตรา 297 ซึ่งมีโทษจำคุก 6 เดือน-10 ปี ปรับ 10,000-200,000 บาท แล้วแต่กรณีความร้ายแรงของการบาดเจ็บ

แต่กรณีที่แพทย์ พยาบาล หรือผู้อื่นต้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อดังกล่าว จะมีความผิดตามมาตรา 290 ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 3-15 ปี