posttoday

แรงงานไทยกระทบแน่ โควิดพ่นพิษเศรษฐกิจอาเซียน คนนับล้านจ่อตกงาน

04 เมษายน 2563

คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิกเตือน เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบหนักสุด ส่วน ADB คาดเศรษฐกิจไทยเติบโตติดลบ 4.8%

คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (ESCAP) คาด คนนับล้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะตกงาน เนื่องจากเศรษฐกิจหยุดชะงักจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส โดยประเทศที่มีระบบการคุ้มครองทางสังคมไม่แข็งแรงจะได้รับความเสียหายมากที่สุด

ในรายงานนโยบายของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดย ESCAP ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ระบุว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรค Covid-19 ที่แน่ชัด แต่จะต้องเกิดผลกระทบมหาศาล เนื่องจากภาคการบริการและอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน ใช้แรงงานนอกระบบและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถึง 80% ทั้งยังเป็นแหล่งงานแหล่งใหญ่ที่สุดของภูมิภาค

ฮัมซา อาลี มาลิค ประธานฝ่ายนโยบายเศรษฐศาสตร์มหัพภาคและการเงินเพื่อการพัฒนาของ EACAP กล่าวว่า “แน่นอนว่าตำแหน่งงานหลายล้านตำแหน่งจะได้รับผลกระทบ แต่อาจจต้องใช้เวลาจึงจะมีข้อมูลชัดเจน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด”

มาลิคยังเผยอีกว่า บางประเทศที่มีระบบคุ้มครองทางสังคมเข้มแข็งอาจจะพอรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศไม่มีระบบดังกล่าว ดังนั้นเมื่อมีการปลดพนักงานและการว่างงานเพิ่มขึ้นจะมีผู้คนเดือดร้อนอีกมากมาย

นอกจากนี้ ESCAP ยังแนะนำให้รัฐบาลใช้นโยบายทางการเงินเพื่อสนับสนุนการจ้างงานและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยต้องมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือประชาชนก่อน แล้วจึงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคม อาทิ ประกันสุขภาพ ให้เข้มแข็ง เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมหากเกิดวิกฤตขึ้นในอนาคต

ขณะที่รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะลดลงจาก 4.4% ในปี 2019 เหลือ 1% ในปีนี้ ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% ในปี 2021 โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการค้าขายและการลงทุนที่เหนียวแน่นกับจีน

หากมองเป็นรายประเทศ ADB คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตติดลบ 4.8% สิงคโปร์เติบโต 0.2% อินโดนีเซียลดจาก 5% เมื่อปีที่แล้วเหลือ 2.5% ในปีนี้ และเวียดนามลดจาก 7% เหลือ 4.8%ยะสุยุกิ ซะวะดะ ประธานนักเศรษฐศาสตร์ของ ADB เตือนว่า วิวัฒนาการของโรคระบาดและภาพรวมของเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกมักจะไม่มีอะไรแน่นอน การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจน้อยกว่าที่คาดการณ์ในปัจจุบัน