posttoday

วันที่โรคระบาดบุกสยาม เกิดอะไรขึ้นเมื่อคนไทย2ล้านคนติดเชื้อ

19 มีนาคม 2563

นี่คือสงครามที่เอาชนะได้ยากที่สุด เมื่อทหารไทยไปรบกับโรคระบาดใหญ่ในยุโรปแต่นำมันกลับมาบ้านเกิดด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโรคระบาดที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อนโจมตีประเทศไทยจนเอาไม่อยู่ และมีประชาชนนับบ้านคนต้องติดเชื้อ? นี่ไม่ใช่สถานการณ์สมมติของโควิด-19 ที่อาจจะถล่มไทยในเร็วๆ นี้ แต่เป็นโรคระบาดที่เลวร้ายยิ่งกว่า เป็นการระบาดที่ถูกเปรียบเทียบกับโควิด-19

ในเดือนสิงหาคม 1918 ไข้หวัดใหญ่สเปนที่เริ่มเล่นงานสหรัฐอย่างหนักหน่วง ในเดือนกรกฎาคมมาโผล่ที่เมืองเบรสต์ ประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับทหารอเมริกันที่เดินทางมาช่วยฝ่ายสัมพันธมิตร แต่เชื้อไวรัสได้กลายพันธุ์จนมีความรุนแรงกว่า ในช่วงเดียวกันนั้นสงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังรุนแรงขึ้นทุกวัน

ก่อนหน้านั้น 1 เดือนกองกำลังทหารอาสาจากประเทศสยามได้เดินทางมาถึงเมืองมาร์กเซยเมืองท่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเพื่อมาช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรรบ ในเวลานั้นทหารชาวสยามยังห่างไกลจากโรคระบาดเพราะเมืองเบรสต์อยู่ทางตอนเหนือ แต่พวกเขาจะไม่มีทางรอดจากมัน เพราะต้องขึ้นเหนือไปที่แนวรบอยู่ดี

ในเวลานั้นความสนใจยังมุ่งอยู่ที่การรบ บันทึกจากยุคนั้นก็ให้น้ำหนักไปที่การรบมากว่าและเอ่ยถึงโรคระบาดเล็กน้อย ทั้งๆ ที่โรคนี้กำลังฆ่าคนอย่างรวดเร็วและในอนาคตมันจะทำให้ประชากรโลกติดเชื้อไปถึง 25–30%

ในหนังสือ "แหล่เทศน์ประวัติกองทหารบกรถยนตร์ ซึ่งไปในงานพระราชสงคราม ทวีปยุโรป" แต่งโดย สิบเอก เคลือบ เกษร ทหารชาวสยามที่ไปรับในฝรั่งเศสและเยอรมนีเล่าถึงการเสียชีวิตของทหารสยามหลายคนด้วยอาการที่เรียกว่า "โรคอนิวมูเนีย" หรือนิวมอเนีย (โรคปอดบวม) โดยบอกว่าเป็นเพราะอากาศที่หนาวจัดจน "บางคนทนหนาวจนปอดตัวเสีย"

สิบเอก เคลือบ เกษรได้บันทึกชื่อทหารสยามที่หนาวตาย (หรือตายเพราะนิวมอเนีย) เอาไว้ทุกคนตั้งแต่พลทหาร จนถึงนายทหาร แม้แต่แพทย์รักษาทหาร เช่น นายดาบเยื้อน สังอยุธ ก็เสียชีวิต และมีนายหนึ่งถูกระเบิดจนได้รับบาดเจ็บพอรักษาหายก็มาเป็นนิวมอเนียเสียชีวิต

สิบเอก เคลือบเล่าไว้ว่า "ผู้ที่หนาวตายในกองรถยนตร์ รวมได้แปดคนไม่กลับเมืองไทย" อาการของผู้ป่วยมีตั้งแต่มีไข้หวัด หมดสติ หนาวสั่นจนขยับตัวไม่ได้

ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่มีทหารชาวสยามเสียชีวิตในการรบเลย แต่ในบรรดาทหาร 19 นายที่สละชีพในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีถึง 10 นายต้องเสียชีวิตในโรงพยาบาลเพราะสิ่งที่สิบเอกเคลือบเรียกว่า "นิวมอเนีย"

นักวิชาการทุกวันนี้ระบุว่าสิ่งที่สิบเอก เคลือบคิดว่าเป็นนิวมอเนียนั้นที่แท้จริงแล้วมันคือไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดไปทั่วสมรภูมิของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ทหารอเมริกันตายนอกสนามรบยิ่งกว่าในสนามรบ แต่ในขณะเดียวกันไข้หวัดใหญ่ก็ระบาดในหมู่ศัตรูคือฝ่ายฝ่ายมหาอำนาจกลางจนติดเชื้อกันมาก บั่นทอนแสนยานุภาพการรบจนต้องยอมแพ้ในที่สุด

แต่ไข้หวัดใหญ่สเปนทำไมจึงถูกเข้าใจว่าเป็นโรคปอดบวม?

นั่นก็เพราะไข้หวัดใหญ่สเปนไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้คนตาย เพราะในไข้หวัดใหญ่สเปนนอกจากจะมีเชื้อไข้หวัด (influenza) ยังมีโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (bacterial pneumonia) เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตด้วย พูดง่ายๆ ก็คือเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้วนอกจากป่วยเป็นไข้หวัดแล้วยังอาจป่วยเป็นโรคปอดด้วยเพราะมันเล่นงานระบบทางเดินหายใจไปพร้อมๆ กัน

แต่จากการศึกษาโดยสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐ (NIAID) พบว่า โรคปอดบวมต่างหากที่ทำให้คนตายมากที่สุดในการระบาดเมื่อปี 1918 จากการศึกษาตัวอย่างปอดของคนไข้เมื่อ 100 ปีก่อนที่เก็บรักษาเอาไว้

ดังนั้นที่สิบเอก เคลือบ เกษรบอกว่าทหารสยามเสียชีวิตเพราะนิวมอเนียจึงไม่ใช่ความเข้าใจผิดเสียทีเดียว แต่เป็นความจริงที่คนสมัยนั้นไม่ทราบ กว่าจะทราบก็ใช้เวลาอีก 100 ปีต่อมา

อาการเหล่านี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการระบาดของโควิด-19 พอสมควรเพราะไม่ใช่แค่ไข้หวัดเท่านั้นที่เล่นงานร่างกาย แต่เป็นอาการปอดอักเสบ/ปอดบวมด้วย 

เมื่อทหารอาสาเดินทางจากยุโรปกลับมาที่สยาม พวกเขาได้นำโรคระบาดใหม่กลับมาด้วย และมันระบาดในประเทศอย่างหนัก ในปีพ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ประชากรของประเทศสยามอยู่ที่ 8,478,566 คน มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ถึง 2,317,633 คน คิดเป็นอัตราการติดเชื้อถึง 36.6%

ชาวสยามเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปนถึง 80,263 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 1.0%

ในเวลานั้นประเทศสยามยังแบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลต่างๆ ปรากฎว่ามณฑลที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ มณฑลปราจีน (ได้แก่เมืองปราจีนบุรี เมืองชลบุรี เมืองนครนายก เมืองฉะเชิงเทรา เมืองบางละมุง เมืองพนัสนิคม และเมืองพนมสารคาม) มีผู้ติดเชื้อคิดเป็นร้อยละของประชากร 42.3%

แต่มณฑลที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุดคือมณฑลพายัพ (นครเชียงใหม่บวกกับเมืองแม่ฮ่องสอนและเมืองเชียงราย นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน นครแพร่ เมืองเถิน) มีอัตราการตาย 1.5%

ไข้หวัดใหญ่สเปนเป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายที่สุดในเวลานั้น นับเป็นโชคร้ายที่ประเทศสยามพบกับโรคระบาดติดต่อกันถึง 3 ปีซ้อน ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า "ไม่มีเหตุใดจะเปรียบเทียบได้กับกาฬโรคเมื่อ พ.ศ. 2460 หรือไข้หวัดใหญ่ พ.ศ. 2461 หรืออหิวาตกโรคเมื่อ พ.ศ. 2462"

แต่หลังจากสามปีแห่งความยากลำบาก วิบากกรรมของประเทศสยามก็จบสิ้นลง

แต่ไข้หวัดใหญ่ยังคงแผลงฤทธิ์ต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) ในปีสุดท้ายของการระบาดนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ในฐานะรัชทายาทของประเทศสยามทรงประชวรด้วยโรคไข้หวัดใหญ่/ปวดบวม จนทิวงคตระหว่างเสด็จไปยังสิงคโปร์

แม้ว่าจะยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด แต่นักวิชาการต่างชาติบางคนเชื่อว่าทิวงคตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สเปน

ในวันนี้ โควิด-19 กลายเป็นโรคระบาดใหญ่โรคใหม่ที่เข้ามารุกรานประเทศไทย สถานการณืเริ่มที่จะใกล้เคียงการระบาดของไข้หวัดสเปนเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เมื่อ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คาดการณ์ว่าในระยะ 12 เดือน อาจจะมีผู้ติดเชื้อในไทยถึง 1.1 ล้านคน

แต่สิ่งที่ต่างจากไข้หวัดสเปนคือ หากครั้งนี้มีผู้ติดเชื้อหลักล้านจริง แต่ 80% จะมีอาการน้อย ส่วนไข้หวัดสเปนมีอัตราการตายสูงมาก

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพทหารอาสาชาวสยามกำลังเดินทางไปแนวหน้าของสงครามโลกครั้งที่ 1 จากหนังสือ Fighting America's fight