posttoday

โลกกลับตาลปัตร จีนเริ่มเดินหน้าอีกครั้ง ประเทศอื่นกำลังชะงักงัน

02 มีนาคม 2563

อะไรคือเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้จีนเริ่มจะควบคุมการระบาดเอาไว้ได้ ส่วนประเทศอื่นๆ กลับระบาดหนักกว่าเดิม

ขณะที่ยุโรปกำลังตื่นกลัวกับการระบาดที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณวันต่อวัน แต่จีนกลับมีตัวเลขติดเชื้อลดลงทุกวัน

ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในจีนวันที่ 2 มีนาคม 2563 เหลือแค่ 196 ราย ลดลงมากมายจากตัวเลขวันที่ 1 มีนาคมที่ 570 ราย

สัญญาณบ่งชี้ล่าสุดคือ อู่ฮั่นปิดโรงพยาบาลสนาม 1 แห่งจากทั้งหมด 16 แห่งที่สร้างขึ้นมาแบบเร่งรีบเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ หลังจากปล่อยตัวผู้ป่วยคนสุดท้ายจากโรงพยาบาลเฉพาะกาลไปเรียบร้อยแล้ว

ที่เมืองอู่ฮั่นผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตให้เหมือนปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ได้หมายความจะไม่ระวังการระบาด แต่หมายความว่าคนจีนเริ่มที่จะเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังปิดเมือง ปิดบ้าน กักกันตัวเอง

นี่คืออานุภาพของการปกครองโดย "เผด็จการชนชั้นแรงงาน" โดย "พรรคการเมืองพรรคเดียว" อันเป็นการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เมื่อจะทำอะไรเด็ดขาดก็ทำได้ทันที ไม่ต้องมารีรอว่าจะโดนด่าว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนประชาชนก็เชื่อฟัง (หรือกลัว) รัฐบาล และอาจจะเพราะกลัวตายด้วย จึงกักตัวเองตามคำสั่ง ถึงจะมีบางคนพยายามละเมิดคำสั่งแต่ก็น้อยมาก

นี่คือเหตุที่ทำให้จีนสามารถลดการติดเชื้อลงได้ และเริ่มที่จะกลับมามีความหวังอีกครั้ง

สิ่งจำเป็นในตอนนี้ไม่ใช่ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ เพราะแค่นั้นยังไม่พอ มนุษยชาติจะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ต่อเมื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจีนเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทั่วโลกต่างกัววลเมื่อจีนปิดเมือง ควบคุมการเข้าประเทศ ทำให้โรงงานหยุดเดินเครื่อง การคมนาคมขนส่งเป็นอัมพาต

จีนคือซัพพลายเออร์รายใหญ่ของอุตสาหกรรมโลก เมื่อจีนหยุด การผลิตทั่วโลกก็พลอยสะดุดไปด้วย

แต่ตอนนี้ทุกอย่างกำลังกลับคืนมาดังเดิม มีรายงานข่าวจากจีนว่าตอนนี้โรงงงานการผลิตเริ่มเดินเครื่องอีกครั้ง เช่น โรงงานของ COFCO Group รัฐวิสาหกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดของจีนกลับมาเดินเครื่องจักรการผลิตอีก ยกเว้นโรงวานในมณฑลหูเป่ย

ส่วนที่อื่นๆ เช่น มณฑลเสฉวน มีพนักงานกว่า 20,000 คน กลับมาทำงานที่โรงงานของ Jabil Chengdu ในเมืองเฉิงตูอีกครั้ง

Jabil Chengdu เป็นบริษัทในเครือของ Jabil Inc. เป็นบริษัทการผลิตชั้นนำของโลก และยังเป็นผู้บริการห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกชั้นนำ โรงงานที่เฉิงตูยังเป็นโรงงานระดับ "Megafactories" การเดินเครื่องอีกครั้งของบริษัทนี้สะท้อนว่ากลไกของการผลิตเริ่มที่จะกลับมาปกติ

ถ้าโรงงานในมณฑลหูเป่ยกลับมาเดินเครื่องแบบเต็มสูบอีกครั้ง เท่ากับจีนรอดพ้นจากวิกฤตแล้ว แต่เรื่องนี้ยังอาจจะเป็นไปได้ยากในเร็วๆ นี้

เมื่อมองที่กำลังการซื้อของคนจีนที่ยังไม่ตกลงมา เราคาดการณ์ได้เลยว่าเมื่อคุมการระบาดได้และความเชื่อมั่นกลับคืนมา คืนคนจีนจะจับจ่ายใช้สอยอย่างหนักเพื่อชดเชยกับความต้องการอยากจะใช้ชีวิตแบบปกติที่ต้องถูกกดทับเอาไว้ช่วงกักกันโรค

ปัญหาก็คือมันอาจจะเป็นการใช้จ่ายเฉพาะในจีน ส่วนอื่นๆ ของโลกอาจจะต้องรอไปก่อน

สถานการณ์ตอนนี้กลับตาลปัตร การระบาดเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวในเกาหลีใต้ การระบาดหนักหน่วงในญี่ปุ่น ที่ยุโรปไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

ทำไมถึงจะจบลงได้ยาก? นั่นเพราะประเทศอื่นๆ ไม่ได้ปกครองแบบเผด็จการพรรคเดียวที่สั่งชี้เป็นชี้ตายได้ คำสั่งของรัฐบาลจึงต้องพะวงกับการขัดขืนของประชาชน และสิทธิมนุษยชน ไหนจะมีประชาชนจำนวนนึ่งต่อต้านขัดขืน เพราะเห็นว่ารัฐบาลพยายามบั่นทอนสิทธิของพวกเขา

ตัวอย่างเช่นที่เกาหลีใต้ เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งห้ามชุมนุมเพื่อป้องกันการระบาด กลุ่มที่หวงแหนสิทธิประชาชนก็ออกมาชุมนุมเสียอย่างนั้น

เราไม่รู้ว่าการชุมนุมมีผลทำให้เกาหลีใต้มีผู้ระบาดมากที่สุดในโลก (ยกเว้นจีน) หรือไม่? แต่ที่แน่ๆ คือตอนนี้เกาหลีใต้ตกอยู่ในสภาพเดินหน้าไปไหนไม่ได้

ขณะที่จีนเริ่มเปิดโรงงาน ตอนนี้เกาหลีใต้เริ่มปิดโรงงาน เช่น LG Display บริษัท Hyundai และ Samsung เป็นต้น เฉพาะแค่ได้ยินชื่อบริษัทเหล่านี้ก็ทำให้ใจสั่นแล้ว เพราะเป็นบริษัทระดับ "แชบอล" ซึ่งมีธุรกิจครอบคลุมทุกมิติชีวิตผู้บริโภคและยังมีฐานการผลิตทั่วโลก

ผลก็คือตัวเลขการผลิตของโรงงานในเกาหลีใต้ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปีครึ่ง ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี

ที่อิตาลีเจอกับสถานการณ์คล้ายๆ กับเกาหลีใต้ ประชาชนในเขตกักกันรู้สึกว่าพวกเขาต้องมาเสียสละตัวเองเพื่อให้คนอื่นรอด แต่คำว่าเสียสละไม่ได้มีความหมายด้านบวก คนในพื้นที่รู้สึกว่าพวกเขาถูกทอดทิ้งเป็นแพะรับบาปเสียมากกว่า

ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ความรู้สึกถูกกดทับ และอยากที่จะขัดขืนคำสั่งยิ่งจะทำให้การควบคุมไวรัสเป็นไปได้ยาก

ในประเทศที่ให้ค่ากับประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและสิทธิส่วนบุคคล การกักกันดูเหมือนจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชน มากกว่าความรู้สึกว่านี่คือหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

มิหนำซ้ำ สื่อตะวันตกยังโจมตีจีนว่าฉวยโอกาสตอนที่กักกันโรค ทำการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน และวิจารณ์ว่าชาวอู่ฮั่นถูกขังไว้ในเมืองจนไม่มีเวลาซื้อข้าวซื้อปลา ซึ่งเรื่องนี้มีรายงานยืนยันว่าชาวอู่ฮั่นมีปัญหาเรื่องการซื้อหาอาหาร แต่ไม่ได้หมายความซัพพลายอาหารจะขาดไปจากเมือง

ในการระบาดครั้งนี้เราจะได้ประจักษ์ต่อสายตาว่า รัฐบาลเผด็จการแบบจีนอาจจะควบคุมการระบาดได้ดีกว่ารัฐบาลเสรีนิยม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเผด็จการดีกว่าเสรีนิยม แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าในสถานการณ์ที่คับขันประชาชนจะต้องเสียสละสิทธิส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมเป็นการชั่วคราว

ถ้าการระบาดหมดสิ้นไปแล้วรัฐบาลยังใช้อำนาจควบคุมอยู่ เห็นทีรัฐบาลนั้นคงไม่รอด เพราะไม่มีประชาชนในประเทศประชาธิปไตยแห่งไหนที่จะยอมได้ แน่นอนว่าเงื่อนไขนี้ใช้ไม่ได้กับจีน

ประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้ปกครองแบบจีนจะต้องไม่จะขิดตะขวงใจที่จะใช้อำนาจที่ตัวเองควบคุมการระบาดอย่างถึงที่สุด เพราะมันคือเวลาที่จะต้องใช้อำนาจเต็มที่ ใครที่ละเมิดกฎหมายควรดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะการละเมิดนั้นทำให้คนอื่นเสี่ยงตายไปด้วย

ที่สำคัญพอๆ กันคือมันจะทำให้ประเทศฟื้นตัวได้ช้า เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมของโลก ยิ่งอิตาลียิ่งสำคัญเข้าไปอีก เพราะเป็นหนึ่งใน G7 หรือระดับหัวกะทิของประเทศอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับฝรั่งเศส เยอรมนี ที่ถือเป็นหัวกะทิด้านอุตสาหกรรมที่เข้มข้นกว่าอิตาลีเสียอีก

การชะงักงันในเกาหลีใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนีจะทำให้ทั้งโลกสะดุดไปด้วย

แม้จีนจะฟื้นตัวได้ แม้ประชาชนอยากจะใช้จ่ายใจจะขาด แต่ถ้าห่วงโซ่การผลิตยังขาดรุ่งริ่ง ต่อให้เศรษฐกิจใหญ่โตแค่ไหนๆ ก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน

เช่นประเทศไทยที่ตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน แต่จะหวังพึ่งนักท่องเที่ยวยุโรปก็ไม่ได้เหมือนกันเพราะยุโรปก็แย่เต็มที

ดังนั้น มันจึงไม่ใช่การมาอวดว่าเผด็จการดีกว่าเสรีประชาธิปไตยในการควบคุมโรคระบาด แต่มันคือการแบ่งปันประสบการณ์การควบคุมโรคให้อยู่หมัด รัฐบาลตะวันตกต้องอุดช่องโหว่ตรงนี้ให้ได้ ไม่ใช่มัวแต่มาโจมตีกันเรื่องระบอบการปกครอง

มันไม่ใช่เวลาที่จะมาคุยกันเรื่องนี้

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน