posttoday

ความกลัว "ภัยจากคนผิวเหลือง" ยังหลอกหลอนโลกตะวันตก

05 กุมภาพันธ์ 2563

จอร์จ สไตเนอร์ นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส-อเมริกันบอกว่านิสัยเหยียดเชื้อชาติซ่อนอยู่ในตัวเราทุกคน

จอร์จ สไตเนอร์ (George Steiner) นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส-อเมริกันผู้เป็นพหูสูต (ซึ่งเพิ่งจากไปในวันที่ 3 กุมภาพันธ์) เคยบอกว่า

"มันง่ายมากที่จะนั่งอยู่ในบ้านแล้วพูดว่า 'การเหยียดเชื้อชาติเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก' แต่ลองถามผมแบบเดียวกันถ้าเกิดครอบครัวจาเมกาย้ายมาอยู่ข้างๆ บ้านพร้อมกับลูกหกคน พากันเล่นเร็กเก้และเพลงร็อคตลอดทั้งวัน หรือไม่ก็มีนายหน้าอสังหาฯ มาที่บ้านของผมแล้วบอกผมว่าเพราะครอบครัวชาวจาเมกาย้ายมาอยู่ข้างๆ มูลค่าของทรัพย์สินของผมเลยตกลงต่ำเตี้ยเรี่ยกดิน แล้วค่อยถามผมแล้วกัน!"

ที่เปรียบเทียบกับชาวจาเมกาก็เพราะชาวจาเมกาส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำเมื่อคนผิวดำย้ายเข้ามาอยู่ในย่านของคนผิวขาว มักทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลง วิธีการนี้เรียกว่า Blockbusting

ก่อนทศวรรษที่ 80 พวกนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐจะใช้วิธี Blockbusting เพื่อโน้มน้าวให้บ้านผิวขาวขายบ้านในราคาต่ำ โดยอ้างว่าจะมีชนเชื้อชาติกลุ่มน้อยจะย้ายเข้ามาในย่านนั้น ทำให้คนผิวขาวกลัวแล้วยอมขายบ้านทิ้งไป จากนั้นนายหน้าจะขายบ้านหลังเดียวกันในราคาที่สูงกว่าให้ครอบครัวผิวดำที่เริ่มมีกินมีใช้และต้องการหนีออกจากย่านชุมชนแออัดของชนกลุ่มน้อย

นี่คือการเหยียดเชื้อชาติที่มองไม่เห็นกับตา แต่มองเห็นผ่านตัวเลขการลงทุน

สไตเนอร์อยากจะบอกว่า การที่เราพูดเรื่องเหยียดเชื้อชาตินั้นมันง่าย จนกว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้เข้ากับตัวเอง

ทีนี้ลองเปลี่ยนจากชาวจาเมกามาเป็นชาวจีน ชาวอู่ฮั่น หรือชาวหูเป่ยบ้าง เปลี่ยนจากการเล่นเพลงเร็กเก้ทั้งวันทั้งคืน มาเป็นความกลัวไวรัสโคโรนา มันคงให้ความรู้สึกคล้ายๆ กัน คือไม่อยากจะต้อนรับสักเท่าไร

ความกลัว "ภัยจากคนผิวเหลือง" ยังหลอกหลอนโลกตะวันตก

ผู้เขียนไม่อยากจะบอกว่าสไตเนอร์เหยียดเชื้อชาติ เพราะเชื่อเขามองโลกแบบตรงไปตรงมาอย่างที่เขาพูดว่า มนุษย์เรามีความเหยียดเชื้อชาติด้วยกันทุกคน แต่ห่อหุ้มมันเอาไว้ตื้นๆ (ด้วยมโนสำนึก) หากมีอะไรนิดหน่อยมาสะกิด ความเหยียดมันก็จะเผยตัวออกมา

ในตอนนี้คือไวรัสที่เป็นตัวสะกิดให้มโนสำนึกบางๆ ที่หุ้มอาการเหยียดเชื้อชาติ ขาดผึงแล้วเผยตัวออกมาทั่วโลก

แน่นอนว่า มนุษย์ก็มีสิทธิ์ที่จะกลัว และเราไม่ควรจะต่อว่าคนกลัวตายเพราะ "มันง่ายมากที่จะนั่งอยู่ในบ้านแล้วพูดว่า 'การเหยียดเชื้อชาติเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก'" เมื่อใดก็ตามที่เราออกจากบ้านแล้วเจอสถานการณ์แบบเดียวกัน เราจะเข้าใจว่าทำไมการเลือกปฏิบัติจึงเกิดขึ้น

แต่นอกจากความกลัวตามสัญชาติญาณแล้ว มนุษย์ยังมีความภาคภูมิใจในความเป็นสัตว์สังคมที่มีเหตุมีผล ความกลัวและเหตุผลจึงมักขัดแย้งกันอยู่เสมอ บางคนปล่อยให้ความกลัวเอาชนะ แต่บางคนยึดในเหตุผลไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม

คนทั้ง 2 ประเภทนี้ไม่มีใครถูกไม่มีใครผิด ความถูกผิดนั้นบางทีขึ้นกับสถานการณ์และมีมิติที่ซับซ้อนมาก สไตเนอร์เองก็ยังเคยบอกว่าการเหยียดเชื้อชาตินั้นมีระดับชั้นของมัน

เช่น เราจะเหยียดเพราะความกลัวตายเพราะติดเชื้อ เยียดเพราะเห็นว่าเชื้อชาตินั้นต่ำทรามกว่า หรือเหยียดเพราะจองหองในเชื้อชาติตัวเอง

ในอาการเหยียดเพราะความกลัวตายเพราะติดเชื้อไวรัส ยังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็นการเหยียดเพราะจำเป็นตามสถานการณ์ (ปกติไม่เคยคิดที่จะรังเกียจ) และเหยียยดเพราะไม่ชอบเป็นทุนเดิมแต่มีเหตุผลให้เหยียดอย่างชอบธรรม

หากเราใช้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนมาวัดแล้ว ไม่ว่าการเหยียดแบบไหนก็ตามมันก็เหยียดเหมือนกันทั้งสิ้น แต่มาตรฐานสากลแบบนี้มีแค่มิติเดียว มันไม่มองไปที่ความจำเป็นเรื่องอื่นๆ ของชีวิต เหมือนที่สไตเนอร์บอกว่า "ลองเจอกับตัวเองดูบ้างสิ"

การกีดกันเชื้อชาติโดยอ้างว่ากลัวตายอาจจะพอเข้าใจได้ แต่การเหยียดเชื้อชาติโดยอ้างความจำเป็นจากภัยคุกคามนั้นมันนำไปสู่การเหยียดที่ถึงขั้นเอาชีวิตกันได้เหมือนกัน

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสไตเนอร์ก็คือ เขายังเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือชุดว่าด้วยแนวคิดฝ่ายขวา หนึ่งในนั้นคือหนังสือรวมงานเขียนของโชเซฟ อาร์ตูร์ เดอ กอบิโน (Joseph Arthur de Gobineau) ชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคนที่ทำให้แนวคิดเหยียดเชื้อชาติ (Racism) เป็นระบบขึ้นมา

ความกลัว "ภัยจากคนผิวเหลือง" ยังหลอกหลอนโลกตะวันตก

กอบิโนเป็นพวกคลั่งลัทธิคนขาวเป็นใหญ่ ถึงกับบอกว่า "คนขาวนั้นโดยเนื้อแท้แล้วผูกขาดความงาม ภูมิปัญญา และความเข็งแกร่ง" คนผิวเหลืองมีหน้าตาและปัญญาระดับกลางๆ

แนวคิดกอบิโนนำไปสู่การเชื่อว่าคนขาวยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นอารยะ (พวกอารยัน) และเป็นรากฐานให้แนวคิดของพวกนาซี

หลังจากนี้คงไม่ต้องบอกว่าเพราะความเชื่อผิดๆ แบบนี้ทำให้มีคนตายไปกี่ล้านคน

แต่กอบิโนไม่ได้หยุดแค่นั้น เขายังวิพากษ์วัฒนธรรมจีนและคนเอเชียด้วยสายตาที่ชิงชังโดยเชื่อว่า พวกอารยันต่างหากที่ช่วยสร้างอารยธรรมจีน แต่กลับบอกว่าวัฒนธรรมจีนนั้นแย่ไปเสียทั้งหมดเทียบอะไรกับตะวันตกไม่ได้เลย และยังเชื่ออีกว่าอารยธรรมตะวันตกจะต้องถูกจีนคุกคาม ในไม่ช้าพวกคนจีนจะเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด และทำลายโลกตะวันตก

นี่คือความคิดจากร้อยกว่าปีที่แล้ว จนถึงทุกวันนี้โลกตะวันตกก็ยังมองจีนด้วยสายตาหวาดระแวงกลัวว่า "ภัยคนผิวเหลือง" (Yellow Peril) จะทำลายโลกของพวกเขา แต่จีนก็ยังไม่เห็นจะทำลายโลกตะวันตกเสียที มีแต่จะขนเงินไปให้

ในช่วงที่ไวรัสโรโคนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาด ความเกลียดชังคนจีนและคนเอเชียรุนแรงขึ้นมากในฝรั่งเศส เหมือนกับว่าผีของกอบิโนถูกปลุกขึ้นมาหลอกหลอนอีกครั้ง

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน