posttoday

เรียนรู้จากอดีต วันที่ชาวโลกตำหนิไทยปกปิดข่าวไข้หวัดนกระบาด

28 มกราคม 2563

หลังจากที่มีกระแสเปรียบเทียบการทำงานของรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์กับรัฐบาลทักษิณเรื่องการรับมือกับการระบาด

ในปี พ.ศ. 2546-2547 ไข้หวัดนกได้การระบาดมาสู่ประเทศไทย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างย่อยยับ มีการฆ่าไก่ทิ้งถึง 30 ล้านตัว และยังมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ในปี 2547 การระบาดครอบคลุมถึง 60 จังหวัดมีผู้เสียชีวิต 12 ราย การระบาดต่อเนื่องไปจนถึง 2551

แต่ในช่วงที่ร้ายแรงที่สุดคือระหว่างปี 2547 - 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อและป่วย รวมแล้วมีผู้เสียชีวิต 17 ราย

รัฐบาลไทยในยุคนั้นถูกตำหนิจากประชาคมโลกอย่างหนักเรื่องความล่าช้าในการรับมือ ในเวลานั้นองค์การอนามัยโลกได้ตำหนิรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรไว้ว่า "แม้การเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังของรัฐบาลไทยจะดำเนินไปอย่างดี แต่การเสียชีวิตจากไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 แสดงให้เห็นว่ามาตรการกักกันเพื่อป้องกันการระบาดในหมู่สัตว์ยังไม่ดีพอ" คำกล่าวนี้เป็นของ Kumara Rai ผู้แทนขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (1)

รัฐบาลไทยในเวลานั้นยังถูกตำหนิว่าปิดบังข้อมูลข่าวสาร ทักษิณ ชินวัตรได้อธิบายเรื่องนี้ว่า รัฐบาลไทย "สงสัยมาสักสองสามสัปดาห์ก่อน" แล้วว่าไก่อาจตายเพราะโรคไข้หวัดนก รัฐบาลจึงใช้มาตรการควบคุมไวรัสไม่ให้แพร่กระจายไป โดยทำกันแบบเงียบๆ เพื่อที่จะไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก

ตอนนั้นทักษิณ ชินวัตรกล่าวว่าแม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่มีผลการทดสอบโรคอย่างเป็นทางการ "แต่เราก็ปฏิบัติเหมือนกับว่ามันเป็นโรคไข้หวัดนก"

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่วันก่อนที่ทักษิณ ชินวัตรจะกล่าวเช่นนี้ รัฐบาลไทยกลับบอกว่าไก่ที่ตายไปนั้นตายเพราะโรคอหิวาห์ (2)

ในบทความเรื่อง "การเมืองของโรคไข้หวัดนกในไทย" (The Politics of Bird Flu in Thailand) เมื่อปี 2547 ระบุว่า รัฐบาลทักษิณปิดข่าวเรื่องการระบาดของไข้หวัดนกมานานถึง 2 เดือน และยอมรับเพราะยอมจำนนต่อหลักฐานที่เปิดโปงโดยองค์การเพื่อสังคมและวุฒิสมาชิกฝ่ายค้าน และหลังจากมีมีเด็กติดเชื้อ 2 คน แหล่งข่าวเผยว่า รัฐบาลและอุตสาหกรรมสัตว์ปีกรู้เรื่องการระบาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 แต่รัฐบาลเพิ่งจะเปิดเผยวันที่ 23 มกราคม 2547

ในบทความเรื่องนี้ของ Chanyapate และ Delforge ได้เปิดเผยไทม์ไลน์อย่างละเอียดว่ามีการพบเชื้อไข้หวัดนกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนโดยสัตวแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบเชื้อ H5N1 ที่ซากไก่ในจังหวัดนครสวรรค์ และแจ้งไปที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ แต่ก็ไม่มีปฏิกริยาตอบรับใดๆ (3)

ในเดือนธันวาคม เกษตรกรที่เขตหนองจอก กรุงเทพฯ นำซากไก่ไปให้กรมปศุสัตว์ตรวจ ทางกรมบอกว่าไก่ตายโดยไม่มีสาเหตุทางการแพทย์ใดๆ แต่เกษตรกรรายนี้เชื่อว่าทางกรมไม่ได้บอกความจริง เพราะไก่ตายไปถึง 350 ตัวในเวลาไม่กี่วัน (4)

นอกจากนี้ ยังมีปากคำของพนักงานในโรงงงานชำแหละไก่แห่งหนึ่งที่เผยว่า มีการชำแหละไก่จากปกติ 90,000 ตัวต่อวัน มาเป็นการชำแหละไก่ถึงวันละ 130,000 ตัวในช่วงที่เกิดการระบาดและนำไก่ที่ติดโรคมาชำแหละอีกด้วยโดยไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ

การทำเช่นนี้ไม่สามารถปกปิดความจริงได้ และเมื่อต่างประเทศทราบความจริงจึงตำหนิรัฐบาลไทยอย่างรุนแรง หนึ่งในนั้นคือ David Bryne กรรมาธิการด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภคของสหภาพยุโรป (European Union Health Commissioner) ที่เดินทางมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 19-22 มกราคม 2547 นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และกระทรวงเกษตรให้ความมั่นใจกับเขาว่าประเทศไทยปลอดจากโรคนี้ แต่หลังจากเพียงไม่กี่วันก่อน รัฐบาลไทยก็ประกาศว่าพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก (5)

ข่าวนี้ทำให้ Bryne รู้สึก "เสียชื่อเสียง" และอารมณ์เสียยิ่งขึ้นเมื่อเขารู้ว่ารัฐบาลไทยได้ปิดกั้นข่าวการระบาดของโรค เพราะกลัวว่าจะทำให้ประชาชนหวาดกลัว (หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์รายงานข่าวนี้เอาไว้ว่า "กมธ.ยุโรปฉุนขาด โดนรัฐบาลไทยต้ม (สุก)")

"นายศาสตรา" คอลัมนิสต์ของโพสต์ทูเดย์ได้เขียนวิจารณ์รัฐบาลในขณะนั้นอย่างดุเดือดว่า

"เมื่อโรคเริ่มระบาดตอนปลายปี พ.ศ.2546 เจ้าหน้าที่รู้หรือควรรู้ว่าเกิดโรคระบาดขึ้นแล้ว และควรหาทางควบคุมโรคมิให้แพร่ระบาด กว้างขวางออกไป แต่เพราะเกรงจะกระทบธุรกิจส่งออกไก่ ทำให้มีการปกปิดและบิดเบือนว่าเป็นการระบาดของโรคอื่น ถึงขั้นโชว์กินไก่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ผลสุดท้ายก็เหมือน ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด ในที่สุดก็ต้อง ยอมรับเมื่อเห็นว่าปิดต่อไปไม่ได้เพราะมีคนตายจากไข้หวัดนกเกิดขึ้นแล้ว"

และ "ครั้งนั้น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแอ่นอกแก้ต่างแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข โดยยืนยันว่าไม่มีการปกปิดข้อเท็จจริง แต่เป็นเพราะเป็นโรคระบาดใหม่ เจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่ง ขัดต่อข้อเท็จจริง เพราะไข้หวัดนกไม่ใช่โรคระบาดใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกในประเทศไทย แต่ระบาดครั้งแรกในฮ่องกงก่อนหน้าที่จะระบาดในประเทศไทยถึง 6 ปีเศษ ถ้าผู้รับผิดชอบในไทยไม่เรียนรู้เรื่องนี้เลย ก็เป็นความผิดพลาดที่น่ากลัวยิ่งกว่า"

สื่อต่างประเทศ (เช่น Los Angeles Times ของสหรัฐ) ชี้ว่าการปกปิดข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดนกในไทย ทำให้รัฐบาลไทยในเวลานั้นถูกตำหนิว่า ทำตัวเหมือนรัฐบาลจีนที่ปกปิดการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2545 ก่อนที่จะยอมรับในเวลาต่อมาว่ามีการระบาดจริง

แน่นอนว่า รัฐบาลในขณะนั้นไม่ยอมรับข้อกล่าวหากปกปิดข้อมูล นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกของรัฐบาลอธิบายว่า "สิ่งที่ดูเหมือนการปกปิดนั้น เป็นการตีความหมายของกระบวนการผิดไป" (6)

ส่วนนายกรัฐมนตรีทักษิณกล่าวว่าเป็น "ความผิดพลาดและความผิดพลั้งของมนุษย์" (mistakes and human errors)

เมื่อรัฐบาลไทยหมดความน่าเชื่อถือ และประเทศไทยเสียชื่อ จึงนำไปสู่การ "สร้างภาพลักษณ์ใหม่" โดยนายกรัฐมนตรีทักษิณจึง "กินไก่โชว์" ในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกับป้ายประกาศรณรงค์ทั่วบ้านทั่วเมืองให้คนไทยกลับมารับประทานไก่

แต่การกระทำเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นการกู้สถานการณ์อุตสาหกรรมสัตว์ปีกที่พังพินาศ โดยที่ความเสีบยหายได้เกิดขึ้นไปแล้วเพราะการปิดข่าวและการรับมือที่ไร้ประสิทธิภาพ


อ้างอิง

1. WHO criticizes Thailand after bird flu death
https://www.upi.com/Top_News/2004/09/11/WHO-criticizes-Thailand-after-bird-flu-death/98611094916830/?ur3=1

2. Thailand Defends Its Handling of Bird Flu
https://www.latimes.com/archives/la-xpm-2004-jan-26-fg-birdflu26-story.html

3. The Politics of Bird Flu in Thailand
https://focusweb.org/the-politics-of-bird-flu-in-thailand/

4. The Politics of Bird Flu in Thailand
https://focusweb.org/the-politics-of-bird-flu-in-thailand/

5. Thai PM admits mistakes over bird flu
https://www.theguardian.com/world/2004/jan/28/birdflu.thailand