posttoday

เชื้อร้ายจากค้างคาวสู่อาหารเปิบพิสดาร การกินไม่เลือกที่ทำให้โรคร้ายเผยตัว

21 มกราคม 2563

ทีมนักวิจัยของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นเตือนว่าการระบาดโรคซาร์สสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ


ในเดือนพฤศจิกายนปี 2545 จีนพบการระบาดของโรคทางเดินหายใจปริศนาที่อำเภอซุ่นเต๋อ เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง แต่จีนปิดบังเรื่องนี้นานกว่า 2 เดือนจนกระทั่งยอมเปิดเผยในที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2546

แต่ก็สายเกินการณ์แล้ว เพราะเชื้อโรคนี้ติดต่อไปยังชาวอเมริกันที่เดินทางไปยังสิงคโปร์ โดยเครื่องบินแวะพักที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม และจากนั้นยังแพร่ไปอีกสายหนึ่งเข้าสู่ฮ่องกง

การปิดบังข่าวการระบาดของจีนทำให้องค์การอนามัยโลกตำหนิจีนอย่างมาก ซึ่งจีนได้มีแถลงการณ์ขอโทษในภายหลัง

โรคระบาดนี้ได้ชื่อว่ากลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เรื่อเรียกสั้นๆ ว่าโรคซาร์ส เป็นเชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ประเภทหนึ่ง การระบาดของซาร์สสร้างความตื่นตระหนักในหมู่ชาวโลกอย่างมาก และทำให้จีนต้องเสียชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องความโปร่งใสในการจัดการกับโรคระบาด

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ชาวโลกกังวลอย่างมากก็คือพฤติกรรมการกินอาหารแบบเปิบพิสดารของชาวจีน โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้ง เพราะในเวลาต่อมาพบว่าเชื้อโรคนี้มาจากเนื้อสัตว์ป่าที่นำมาแล่ขายเพื่อไปปรุงอาหารแปลกที่ชาวจีนขวนขวายกันหามารับประทาน

ในปลายเดือนพฤษภาคม 2546 มีการศึกษาตัวอย่างของสัตว์ป่าที่ขายเป็นอาหารในตลาดท้องถิ่นในมณฑลกวางตุ้ง ผลการศึกษาพบว่า เชื้อโคโรนาไวรัสของโรคซาร์สพบในอีเห็นเครือ (Paguma sp.) แม้ว่าอีเห็นเครือจะไม่แสดงอาการทางคลินิกของไวรัสก็ตาม ซึ่งหมายความว่ามันมีเชื้อแต่มันไม่แสดงอาการป่วย

ข้อสรุปเบื้องต้นคือไวรัสโรคซาร์สข้ามสายพันธุ์จากอีเห็นข้างลาย (P. hermaphroditus) มาสู่มนุษย์ ทำให้อีเห็นข้างลายมากกว่า 10,000 ตัวต้องถูกฆ่าทิ้งในมณฑลกวางตุ้ง ต่อมายังพบโคโรนาไวรัสดังกล่าวได้ในจิ้งจอกแร็กคูน (Nyctereuteus sp.) และหมาหริ่ง (Melogale spp.) และแมวบ้าน

อนึ่ง ในปลายปี 2549 นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของมหาวิทยาลัยฮ่องกงและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคกว่างโจว จึงพบตัวเชื่อมโยงทางพันธุกรรมระหว่างโคโรนาไวรัสของโรคซาร์สที่ปรากฏในอีเห็นและมนุษย์ และยืนยันว่าเชื้อมีการข้ามสายพันธุ์

แต่นี่ยังไม่ใช่ต้นเหตุของเชื้อซาร์ส ในปี 2548 มีงานวิจัยสองชิ้นระบุถึงโคโรนาไวรัสที่คล้ายกับโรคซาร์สจำนวนหนึ่งถูกพบในค้างคาวที่ประเทศจีน

จากการวิเคราะห์สายวิวัฒนาการของไวรัสเหล่านี้บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่โคโรนาไวรัสที่คล้ายกับโรคซาร์จะมาจากค้างคาวและแพร่กระจายไปยังมนุษย์ ไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านอาหารป่าที่วางขายในตลาดจีน

เช่นเดียวกับอีเห็นเครือที่มีไวรัสแต่ไม่แสดงอาการ ค้างคาวก็เช่นกันไม่แสดงอาการใดๆ ให้เป็นที่สังเกตได้ว่าป่วย แต่พวกมันเป็นแหล่งโคโรนาไวรัสที่คล้ายกับโรคซาร์สตามธรรมชาติ

ที่น่ากังวลก็คือ ในช่วงเวลานั้นมีการนำค้างคาวมาประกอบอาหารกันมาขึ้นในภาคใต้ของจีน ในรายงานการวิจัยของ Wendong Li และ Zhengli Shi กล่าวว่า "ค้างคาวอาจติดเชื้อไวรัสหลายตัวอยู่ตลาดเวลา แต่มักจะไม่แสดงอาการทางคลินิก ด้วยลักษณะเช่นนี้ของมัน และการนำค้างคาวและผลิตภัณฑ์จากค้างคาวมาทำอาการท้องถิ่นและยาแผนโบราณมากขึ้นในจีนภาคใต้และที่อื่นๆ ในเอเชีย ทำให้เราต้องศึกษาค้างคาวในฐานะแหล่งกักเก็บไวรัสโคโรนาไวรัสของโรคซาร์ส"

บทสรุปของรายงานเมื่อปี 2548 เตือนว่า "ดังนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่เราจะต้องเพิ่มความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายของพาหนะที่กักเก็บไวรัส การติดเชื้อจากสัตว์สู่สัตว์ และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์ (โดยเฉพาะในระบบตลาดสด) และความหลากหลายทางพันธุกรรมของไวรัสที่เกิดจากค้างคาว เพื่อป้องกันการระบาดในอนาคต"

ในปีเดียวกันนั้น มีรานงานของคณะนักวิจัยนำโดย Susanna K. P. Lau ระบุว่า แม้จะมีการพบอีเห็นที่นำมาขายในตลาดเป็นตัวแพร่เชื้อซาร์ส แต่อีกเห็นก็เป็นเพียง "ตัวขยาย" เชื้อไวรัสไปสู่มนุษย์เท่านั้น และทีมวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสตรงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมงกุฎจีน (Rhinolophus sinicus)

และเป็นอีกครั้งที่รายงานชี้ว่า มูลค้างคาวถูกชาวจีนนำไปใช้เป็นเครื่องยาแผนโบราณ นอกจากนี้ ชาวจีนและคนบางกลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมาเลเซียและอินโดนีเซียยังนิยมรับประทนเนื้อค้างคาวในฐานะอาหารเปิบพิสดาร ชาวจีนหลายคนเชื้อว่าการกินเนื้อคางคาวช่วยรักษาาอาการโรคหืด โรคเกี่ยวกับไต และอาการเจ็บป่วยทั่วไป

แต่ตอนนี้เป็นเรื่องยอกย้อนที่สุด เพราะคนท้องถิ่นเชื่อว่าเนื้อค้างคาวช่วยรักษาโรคทางเดินหายใจ แต่จริงๆ แล้วมันกลับเป็นตัวการของโรคทางเดินทางใจเฉียบพลันรุนแรง 

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าค้างคาวคือผู้ต้องหาหลัก แต่เชื้อที่พบในค้างคาวตามสถานที่ต่างๆ ของจีนเพียงแค่คล้ายไม่ได้ตรงเป๊ะกับเชื้อไวรัสซาร์ส ดังนั้นจึงต้องหาจิ๊กซอว์ที่ตรงที่สุด พร้อมกับตอบคำถามให้ได้ว่า คือค้างคาวจากที่ไหนที่เป็นแหล่งซาร์สที่แท้จริง?

หลังจากโรคซารส์ได้ถูกควบคุมแล้ว โลกของเราผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย จนเกือบลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดการระบาดที่ทำให้โลกขวัญผวามาแล้วและเราเกือบจะลืมไปแล้วว่าเรายังไม่พบต้นเหตุของโรคซาร์ส

จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2560 ทีมนักวิจัยของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นนำโดย Ben Hu ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร PLoS Pathogens โดยประกาศว่า หลังจากค้นหาทั่วประเทศจีนมานานหลายปี นักวิจัยก็ว่าที่ถ้ำห่างไกลแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนานเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวมงกุฎ (Horseshoe bat) ที่มีเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับโรคซาร์สแบบพิมพ์เดียวกัน

มนุษยชาติใช้เวลาถึง 15 ปีในการค้นพบที่มาของโรคซาร์ส และที่น่าสนใจก็คือข้อสรุปว่าค้างคาวเป็นต้นเหตุของโรคซาร์สยังไปตรงกับเนื้อเรื่องของภาพยนต์เรื่อง Contagion ของฮอลลีวูดเมื่อปี 2011 ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการระบาดของโรคลึกลับที่กวางตุ้งและมีค้างคาวเป็นต้นเหตุ แพร่ผ่านเนื้อสัตว์ที่ไม่สะอาด

ทีมนักวิจัยของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นเตือนว่าการระบาดโรคซาร์สสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะถ้ำค้างคาวที่พวกเขาพบต้นเหตุของเชื้อนั้นอยู่ห่างจากหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดเพียงหนึ่งกิโลเมตร และห่างจากเมืองคุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลยูนนานเพียง 60 กิโลเมตร

เฉพาะในถ้ำนี้ นอกจากจะพบเชื้อโคโรนาไวรัสของโรคซาร์สแล้ว ยังพบโคโรนาไวรัสอีก 11 ชนิดใหม่

ในปี 2562 เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาตัวใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ต้นเหตุเบื้องต้นมาจากตลาดอาหารทะเลในอู่ฮั่น

ขณะที่บทความเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้น โรคนี้ยังไม่พบที่มาและมันได้ชื่อเบื้องต้นว่าโคโรนาไวรัสอู่ฮั่น (Wuhan coronavirus) และทราบแล้วว่ามันติดต่อจากคนสู่คน

เป็นเรื่องบังเอิญที่น่าประหลาดที่กลุ่มคนที่พบต้นเหตุของโรคซาร์สมาจากอู่ฮั่น

และอู่ฮั่นกลับกลายเป็นต้นเหตุของการระบาดครั้งใหม่ของโรคร้ายแรงที่คล้ายคลึงกัน


อ้างอิง

Li, Wendong et al. “Bats are natural reservoirs of SARS-like coronaviruses.” Science 310 5748 (2005): 676-9 .

Lau SK, Woo PC, Li KS, et al. Severe acute respiratory syndrome coronavirus-like virus in Chinese horseshoe bats. Proc Natl Acad Sci U S A. 2005;102(39):14040–14045. doi:10.1073/pnas.0506735102

Hu B, Zeng L-P, Yang X-L, Ge X-Y, Zhang W, Li B, et al. (2017) Discovery of a rich gene pool of bat SARS-related coronaviruses provides new insights into the origin of SARS coronavirus. PLoS Pathog 13(11): e1006698. https://doi.org/10.1371/journal.ppat.1006698