posttoday

โพลล์ชี้คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เห็นประโยชน์ในการรวมกลุ่มอาเซียน

16 มกราคม 2563

ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมอาเซียนต้องกลับมาทบทวนบทบาทหลังจากรวมตัวกันมาแล้ว 52 ปี

ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมอาเซียนต้องกลับมาทบทวนบทบาทหลังจากรวมตัวกันมาแล้ว 52 ปี

สถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งเป็นคลังสมอง (think tank) ของสิงคโปร์ สำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ และผู้นำธุรกิจ 1,308 คนจากประเทศอาเซียน ในหัวข้อ The State of Southeast Asia (รัฐอาเซียน) พบว่า 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าไม่เห็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากกลุ่มอาเซียน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 73%

งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า ความจริงที่ว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 3 ใน 4 ไม่เชื่อมั่นในการรวมตัวกันชี้ให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะทบทวนบทบาทของประชาคมอาเซียนหลังจากก่อตั้งมา 52 ปี ทว่าก็ให้ข้อสังเกตว่าแม้ผลวิจัยจะออกมาเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าอาเซียนไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม

เฮืองถิฮา จากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ที่ร่วมการวิจัยครั้งนี้ด้วยเผยว่า สาเหตุที่ประชาคมอาเซียนไม่สามารถบรรลุผลที่เป็นรูปธรรมมาจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง เนื่องจากอาเซียนเกิดจากการรวมตัวกันระหว่างรัฐบาล 10 ประเทศ ข้อตกลงต่างๆ ของอาเซียนต้องนำไปปฏิบัติในระดับประเทศจึงจะค่อยๆ เห็นผลในระดับท้องถิ่น ดังนั้นความล่าช้าในการนำไปปฏิบัติในระดับประเทศจึงกลายเป็นอุปสรรคในการยังประโยชน์ในระดับบุคคล

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในอาเซียน โดยมีปัญหาหลัก 3 ข้อ ได้แก่ ความไร้เสถียรภาพของการเมืองภายในแต่ละประเทศ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และภาวะโลกร้อน

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 73.2% กังวลว่าอาเซียนจะกลายเป็นสนามวัดพลังของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 62%

ผู้ตอบแบบสอบถามชาวกัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์รู้สึกกังวลมากว่าอาเซียนจะกลายเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของจีนกับสหรัฐ โดยรายงานระบุว่าสาเหตุที่ประเทศเหล่านี้สัมผัสได้ถึงการแข่งขันของสองมหาอำนาจเพราะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสหรัฐและจีนมากกว่าประเทศอื่น รวมทั้งต้องพึ่งพาจีนในแง่เศรษฐกิจ

สหรัฐคือตลาดส่งออกรายใหญ่ของกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนจีนเป็นแหล่งที่ทั้งสามประเทศนี้นำเข้าสินค้ามากที่สุด

ขณะที่ปัญหาชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ของเมียนมานั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 55% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและไม่เห็นด้วยที่อาเซียนจะเข้าไปจัดการ เนื่องจากอาเซียนยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก