posttoday

ซเดเนค ฮริบ นายกเทศมนตรีกรุงปราก ผู้ไม่ยอมอ่อนข้อให้จีน

14 มกราคม 2563

นายกเทศมนตรีกรุงปรากของสาธารณรัฐเชก โจมตีรัฐบาลจีนว่าเชื่อถือไม่ได้ พร้อมฉีกสัญญาเมืองพี่เมืองน้องกับกรุงปักกิ่งของจีน แล้วหันไปเซ็นกับกรุงไทเปของไต้หวันแทน

นายกเทศมนตรีกรุงปรากของสาธารณรัฐเชก โจมตีรัฐบาลจีนว่าเชื่อถือไม่ได้ พร้อมฉีกสัญญาเมืองพี่เมืองน้องกับกรุงปักกิ่งของจีน แล้วหันไปเซ็นกับกรุงไทเปของไต้หวันแทน

นายกเทศมนตรี ซเดเนค ฮริบ แห่งกรุงปรากของสาธารณรัฐเชก เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลจีนลงในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Welt am Sonntag ของเยอรมนีว่า จีนเต็มไปด้วยความไม่เป็นมิตร และยังพยายามครอบงำความคิดของชาวเชก

ฮริบเขียนบทความดังกล่าวเพื่ออธิบายการฉีกสัญญาการเป็นเมืองพี่เมืองน้องระหว่างกรุงปรากกับกรุงปักกิ่งของจีนเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสาธารณรัฐเชกแย่ลง ท่ามกลางความพยายามกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศของประธานาธิบดี มิลอช เซมาน ของสาธารณรัฐเชก

เมื่อปี 2016 สภากรุงปรากไฟเขียวทำบันทึกข้อตกลงให้กรุงปรากเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับกรุงปักกิ่งของจีน แต่ต่อมาซเดเนคถอนตัวจากข้อตกลงนี้ โดยให้เหตุผลว่ากังวลเกี่ยวกับนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบของจีน และไม่สามารถลงนามในสัญญาที่บังคับให้ทางการกรุงปรากแสดงเจตนารมณ์ที่ขัดกับความเป็นอิสระของทิเบตและไต้หวันได้

โดยซเดเนคแย้งว่าข้อตกลงที่ระบุให้จีนมีอำนาจอธิปไตเหนือไต้หวันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ไม่เหมาะที่จะนำมาใส่ไว้ในข้อตกลงเมืองพี่เมืองน้องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม

อย่างที่ทราบกันว่าไต้หวันเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการทูตสำหรับจีน เนื่องจากจีนถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนหนึ่งของตัวเอง และมักจะกดดันให้รัฐบาลต่างๆ เคารพหลักการนี้ด้วย

นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีกรุงปรากยังเผยอีกว่า สัญญาที่จีนเคยรับปากว่าจะเข้ามาลงทุนในสาธารณรัฐเชกก็ยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม มีแต่การเข้าถือสิทธิ์ในบริษัทหรือสปอร์ตคลับที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การลงทุนที่ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่หรือเกิดการแลกเปลี่ยนโนว์ฮาวอย่างที่จีนเคยรับปากไว้

ซเดเนค ฮริบ นายกเทศมนตรีกรุงปราก ผู้ไม่ยอมอ่อนข้อให้จีน ซเดเนคและเคอเหวินเจ๋อ นายกเทศมนตรีกรุงไทเปของไต้หวัน ร่วมลงนามข้อตกลงเมืองพี่เมืองน้องที่ศาลาว่าการกรุงปราก Photo by Michal CIZEK / AFP

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซเดเนคและเคอเหวินเจ๋อ นายกเทศมนตรีกรุงไทเปได้ร่วมลงนามข้อตกลงเมืองพี่เมืองน้อง รวมทั้งข้อตกลงทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างกัน

ในวันถัดมาทางการกรุงปักกิ่งของจีนได้ประกาศยุติการติดต่อราชการกับทางการกรุงปราก และเตือนว่าทางการปรากกำลังตัดสินใจผิดพลาดเกี่ยวกับหลักการหนึ่งประเทศสองระบบของจีน

ไม่บ่อยนักที่ผู้นำท้องถิ่นกล้าแข็งข้อกับรัฐบาลประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ทั้งยังสวนทางกับนโยบายของ มิลอส เซมาน ผู้นำประเทศที่พยายามกระชับความสัมพันธ์กับจีนมาตั้งแต่ปี 2012 ถึงขั้นแต่งตั้งที่ปรึกษาชาวจีนและประกาศว่าต้องการเรียนรู้วิธีทำให้สังคมมีเสถียรภาพจากผู้นำคอมมิวนิสต์ของจีน

แต่นับตั้งแต่ซเดเนคได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงปรากเมื่อเดือน พ.ย. 2018 ความสัมพันธ์กับจีนก็เปลี่ยนไป

เมื่อครั้งที่เขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ราว 1 เดือน ระหว่างที่สาธารณรัฐเชกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทูตจากต่างประเทศ เขาเคยปฏิเสธคำขอของทูตจากจีนให้ไล่ทูตจากไต้หวันออกจากห้องประชุมมาแล้ว

และเมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว ซเดเนคยังสั่งให้กลับมาชักธงชาติธิเบตเหนือศาลาว่าการกรุงปรากซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เริ่มมาตั้งแต่ วาตสลัฟ ฮาแว็ล ประธานาธิบดีคนแรกหลังยุคคอมมิวนิสต์ของสาธารณรัฐเชก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าปรากสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระจากจีนของทิเบต ก่อนที่จะถูก อาเดรียนา กรานาโชวา นายกเทศมนตรีคนก่อนสั่งให้ปลดเมื่อปี 2014

และในช่วงเวลาเดียวกันซเดเนคยังให้การต้อนรับการเยือนของ ลอบซัง ซังเกย์ นายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลัดถิ่นธิเบต ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลจีนอย่างมาก

การไม่ยอมสยบต่อรัฐบาลจีนทำให้ซเดเนคได้รับเสียงชื่นชมจากชาวเชกในฐานะที่ช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์การเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการเลือกรูปแบบการปกครองของตัวเองของประเทศ ในห้วงเวลาที่การเมืองของเชกถูกครอบงำโดยนักการเมืองฝั่งประชานิยมอย่างประธานาธิบดีเซมานผู้มีแนวคิดนิยมจีน

ด้านเส้นทางการเข้าสู่การเมืองของซเดเนค อดีตแพทย์วัย 38 ปีจากพรรค Czech Pirate Party ค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น เพราะเขาไม่ได้ถูกเลือกเข้ามาโดยตรง พรรคของซเดเนคได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ก่อนจะรวบรวมเก้าอี้เพิ่มเติมจนได้คะแนนเสียงเพียงพอในการฟอร์มทีม โดยสภาโหวตให้ซเดเนคเป็นนายกเทศมนตรีเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2018 ในฐานะที่เขาได้คะแนนเสียงจากชาวกรุงปรากมากที่สุดในบรรดาพรรคร่วม

แม้ก่อนลงเล่นการเมืองซเดเนคเคยเป็นนักเรียนแพทย์แลกเปลี่ยนในกรุงไทเปของไต้หวันราว 2 เดือน และยังได้รับประกาศนียบัตรให้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของไต้หวัน แต่เขายืนยันว่าข้อเรียกร้องให้จีนลบข้อข้อความที่ระบุให้ปรากเคารพหลักการหนึ่งประเทศสองระบบของจีนออกจากข้อตกลงเกิดจากการตัดสินใจร่วมกันของสภากรุงปราก ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัว