posttoday

ไทยรอดบัญชีดำ สหรัฐไม่เล่นงานเรื่องแทรกแซงค่าเงิน

14 มกราคม 2563

ไทยโล่งอก หลังรายงานการคลังของสหรัฐไม่ได้ระบุว่าแทรแซงค่าเงินเพื่อเอาเปรียบการค้ากับสหรัฐ

ไทยโล่งอก หลังรายงานการคลังของสหรัฐไม่ได้ระบุว่าแทรแซงค่าเงินเพื่อเอาเปรียบการค้ากับสหรัฐ

ในรายงานรายครึ่งปีที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงวอชิงตัน หรือวันที่ 14 มกราคม 2563 ตามเวลาประเทศไทย กระทรวงการคลังสหรัฐระบุชื่อ 10 ประเทศที่อาจแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อให้ได้เปรียบในการส่งออกสินค้ามายังสหรัฐ หนึ่งในนั้นคือเพื่อนบ้านของไทยได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซียและเวียดนาม

ในปีนี้ เวียดนามถูกเตือนด้วยข้อหาเดียว ลดลงจาก 2 ข้อหาในรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562

ตามกฎแล้วกระทรวงการคลังจะเก็บชื่อประเทศต่าง ๆ ไว้ในรายการตรวจสอบอย่างน้อยสองรายงานติดต่อกันดังนั้นจึงปรากฎชื่อของสิงคโปร์มาเลเซียและเวียดนามในรายงานฉบับนี้ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว

ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกเพิ่มเข้าไปในรายการตรวจสอบของสหรัฐ กลับรอดพ้นจากการถูกขึ้นบัญชีดำ แม้ว่ากระทรวงการคลังจะกล่าวว่าใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพราะเป็นไปตามหนึ่งในเกณฑ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่กำหนดว่าต้องมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 5.3% ของ GDP 

การเกินดุลการค้าสินค้าของไทยกับสหรัฐพุ่งสูงกว่าระดับ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนพฤศจิกายนตามข้อมูลจากสำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐ ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล 2% ในตัวเลข GDP ล่าสุด

อย่างไรก็ตามเงินบาท แข็งค่าพุ่งขึ้นเกือบ 9% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เงินบาทมีความเคลื่อนไหวที่ดีที่สุดในเอเชีย ซึ่งทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรที่จะมีผู้ใดที่ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่พยายามแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้เปรียบในการส่งออกง

สำหรับประเทศที่เข้าข่ายขึ้นบัญชีดำของกระทรวงการคลังสหรัฐ คือมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่าไทย หรือมีการได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐที่สูงมาก 

สิงคโปร์เกินเกณฑ์สองในสามตามมาตรฐานของสหรัฐ โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 17.9% ของ GDP และการซื้อแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ 9% ของ GDP กระทรวงการคลังสหรัฐยังคงกังวลเกี่ยวกับอัตราการออมที่สูงในขณะเดียวกันยอมรับว่าธนาคารกลางสิงคโปร์ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแทนที่จะอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายการเงินการคลัง

มาเลเซียเกินเกณฑ์สองในสาม โดยเกินดุลสินค้าทวิภาคีที่ 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3% ของ GDP

เวียดนามเกินเกณฑ์หนึ่งในสาม โดยได้เปรียบดุลการค้าทวิภาคีอยู่ที่ 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งสูงเป็นอันดับที่หกในบรรดาประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐอเมริกา แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามลดลงเหลือ 2% ของ GDP