posttoday

ไต้หวันไม่ใช่จีน? ชัยชนะของสายเอกราชในวันที่นโยบายจีนเดียวถูกโดดเดี่ยว

12 มกราคม 2563

บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน ต่อชัยชนะของไช่ที่สะท้อนมติของมหาชนไต้หวันที่เอนเอียงไปในทางเอกราช

ไช่อิงเหวิน ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 แบบลอยลำและชนะแบบถล่มทลายด้วยคะแนน 8 ล้าน เทียบกับคู่แข่งจากพรรคก๊กมินตั๋งคือหานกั๋วอวี๋ ที่ได้ไป 5 ล้านเสียง

ไช่อิงเหวิน สังกัดพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งมีนโยบายสำคัญคือสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน และไช่ก็เคยกล่าวต่อสภาเมื่อเดือนตุลาคมปี 2019 ว่าจีนแผ่นดินใหญ่คือภัยคุกคาม และชี้ว่า "ฮ่องกงกำลังจะกลายเป็นดินแดนโกลาหลเพราะความล้มเหลวของระบอบหนึ่งประเทศสองระบบ แต่จีนก็ยังยัดเยียดระบอบหนึ่งประเทศสองระบบให้กับเรา (ไต้หวัน)"

ดังนั้นชัยชนะของไช่จึงเป็นการสะท้อนมติของมหาชนไต้หวันที่เอนเอียงไปในทางเอกราช หรือผิดหวังที่เห็นระบอบหนึ่งประเทศสองระบบล้มเหลว หรือกลัวว่าเมื่อใช้ระบอบหนึ่งประเทศสองระบบจะลงเอยแบบฮ่องกง หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องการนโยบายจีนเดียว

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไช่อิงเหวินกลับมาชนะอีก และแม้นว่าจะไม่มีไช่อิงเหวินพรรค DPP ส่งใครมาก็จะชนะอยู่ดี

นโยบายจีนเดียวคืออะไร?

นโยบายจีนเดียว (One-China policy) คือหลักการที่ยึดถือกันในจีนแผ่นดินใหญ่กับกลุ่มการเมืองในไต้หวันว่า แม้จีนจะแบ่งเป็น 2 ดินแดนเอกเทศ แต่ความเป็นประเทศจีนมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ว่าจีนทั้งสองจะกลับมาเป็นแผ่นดินเดียวกันหรือไม่ก็ตาม จะไม่มีการยอมให้ไต้หวันเป็นเอกเทศโดยตัดขาดจากความเป็นจีน

ในไต้หวันพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ยอมรับหลักการนี้ เพราะ KMT เป็นพรรคที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกับแผ่นดินใหญ่มาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนในปี 1911 แม้จะพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองในปี 1949 จนต้องถอยร่นมาปักหลักที่ไต้หวัน แต่ KMT ก็ยังอ้างสิทธิเหนือดินแดนทั้งหมดของจีนแผ่นดินใหญ่ (รวมถึงดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านด้วย)

KMT นั้นโยกย้ายมาจากแผ่นดินใหญ่ สมาชิกก่อตั้งล้วนเป็นคนแผ่นดินใหญ่ ผู้ที่สนับสนุนก็น่าจะเป็นครอบครัวจากแผ่นดินใหญ่ ด้วยความผูกพันกับแผ่นดินใหญ่ KMT จึงสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาสนับสนุนรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ เพราะมันคือความคาดหวังว่าสักวันหนึ่งชาว KMT จะได้สานต่อพันธกิจของสงครามกลางเมืองที่แบ่งจีนออกเป็น 2 ประเทศ

แต่พรรค DPP ไม่ยอมรับหลักการนี้เอาเลย และมีแนวคิดสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันที่ตัดขาดจากจีน (Taiwanization) ซึ่งกระบวนนี้จะนำไปสู่การสร้าง "ประเทศไต้หวัน" ที่เป็นอิสระเสรี ไม่มีความเกี่ยวข้องกับจีนในทางการเมือง  

โดยสรุปก็คือ ในไต้หวันมีกลุ่มยอมรับหลักจีนเดียว นำโดยพรรค KMT กลุ่มนี้จะเรียกว่าสหพรรคสีน้ำเงิน (Pan-Blue) ส่วนกลุ่มต่อต้านจีนเดียวสนับสนุนเอกราช นำโดยพรรค DPP เรียกว่าสหพรรคสีเขียว (Pan-Green)

ไต้หวันอาจจะพูดภาษาจีนกลาง แต่ดินแดนของไต้หวันยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีประวัติศาสตร์ยุคใกล้ที่เหินห่างจากจีนเพราะในปลายราชวงศ์ชิงไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ความใกล้ชิดของไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ในระยะใกล้ๆ นี้เกิดจากการอพยพของ KMT มาปักหลักหลังปี 1949

ไต้หวันมีความเป็นตัวของตัวเอง และพยายามใช้ความเป็นตัวเองนี้สร้างอัตลักษณ์ที่จำเพาะเจาะจงขึ้นมาให้ต่างจากจีน หลี่เติงฮุย อดีตประธานาธิบดีไต้หวันจากสหพรรคสีเขียว และผู้ที่ผลักดันเอกราชของไต้หวันอย่างหนักหน่วงคนหนึ่งเคยกล่าวว่า "วัฒนธรรมไต้หวันไม่ใช่สาขาหนึ่งของวัฒนธรรมจีน" และ "ภาษาหมิ่นหนานของไต้หวันไม่ใช่สาขาหนึ่งของภาษาหมิ่นหนานในมณฑลฝูเจี้ยน แต่เป็นสำเนียงภาษาไต้หวัน"

ในไต้หวันนอกจากจะพูดจีนกลาง (กั๋วอวี่) แล้ว ยังพูดภาษาจีนสำเนียงภาคใต้แถบมณฑลฝูเจี้ยนของแผ่นดินใหญ่ เรียกว่าภาษาหมิ่นหนาน แต่หลี่เติงฮุยต้องการแยกภาษาของไต้หวันออกเป็นเอกเทศจึงกล่าวเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ก็เป็นสำเนียงภาษาเดียวกัน

เพื่อที่จะสร้างความเป็นไต้หวัน (Taiwanization) บรรดาพรรคสายเขียวจึงพยายามลดความเป็นจีน (Desinicization) ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งพรรค KMT คัดค้านอย่างมาก เพราะอย่างที่ผู้เขียนเกริ่นไว้ว่า KMT มีความเกี่ยวโยงทางประวัติศาสตร์กับแผ่นดินใหญ่

Taiwanization จึงเป็นแนวคิดที่จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ยอมรับและตอบโต้ด้วยการผ่านกฎหมายต่อต้านการแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 2005 หากไต้หวันประกาศเอกราช จีนก็จะตอบสนองด้วยการใช้ "วิธีที่ไม่สันติ" ซึ่งหมายถึงการใช้กำลังนั่นเอง

ปัญหาก็คือจีนแผ่นดินใหญ่ไม่อาจห้ามกระบวนการ Taiwanization ได้ง่ายๆ เพราะนับวันสายใยระหว่างคนแผ่นดินใหญ่กับคนไต้หวันรุ่นใหม่เริ่มจะบางลงจนเกือบขาดแล้ว เพราะคนรุ่นเก่าของ KMT ที่ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ทำให้คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นว่าพวกเขาจะต่อติดกับแผ่นดินใหญ่ได้อย่างไร แม้จะพูดภาษาเหมือนกัน แต่ค่านิยมต่างกัน ยังไม่นับความรู้สึกท้องถิ่นนิยมในไต้หวันที่เพิ่มขึ้นทุกที

คนไต้หวันอาจจะมี "ความเป็นจีน" แต่พวกเขาไม่อาจบังคับตัวเองให้เป็นคนจีน (Chinese) ได้ ในเมื่อปัจจัยแวดล้อมทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นคนไต้หวัน (Taiwanese) มากกว่า

ยังไม่นับความพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศจากชื่อ "สาธารณรัฐจีน" (Republic of China) มาเป็นไต้หวัน (Taiwan) โดยชื่อแรกนั้นเกี่ยวโยงกับพรรค KMT อย่างแยกไม่ออก เพราะคำว่าก๊กมิน (กั๋วหมิน) แปลว่า สาธารณรัฐซึ่งในที่นี้หมายถึงสาธารณรัฐจีน เป็นชื่อที่พวก KMT นำติดตัวมาด้วยตอนที่อพยพมาปักหลักที่ไต้หวันในปี 1949

การเปลี่ยนชื่อ "สาธารณรัฐจีน" จึงสั่นคลอนพรรค KMT เข้าอย่างจัง พรรคนี้จึงต่อต้านอย่างจริงจังเช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานใดที่มีคำว่าจีนเป็นคำว่าไต้หวันในยุคของพรรคสายเขียว เมื่อพรรคสายน้ำเงินกลับมามีอำนาจแล้วมักจะเปลี่ยนกลับ เช่นกรณีของบริษัทไปรษณีย์จีน (Chunghwa Post Co.) ถูกเปลี่ยนเป็นบริษัทไปรษณีย์ไต้หวัน (Taiwan Post Co.) ในปี 2007 ช่วงรัฐบาลเฉินสุยเปี่ยน พอในปีถัดมา หม่าอิ๋งจิ่วจาก KMT เป็นผู้นำประเทศ ก็เปลี่ยนกลับมาเป็นบริษัทไปรษณีย์จีนอีก

แต่ KMT อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ หากเราจะวัดว่า "คนเก่าคนแก่" ที่โยงใยกับแผ่นดินใหญ่ล้มตายไปเรื่อยๆ และการสร้างอัตลักษณ์ไต้หวันแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ พรรค KMT จึงไม่มีไม้เด็ดไม้ไหนที่จะมาดึงคะแนนเสียงอีก ยกเว้นว่าพวกเขาจะทำให้คนไต้หวันรู้ว่าตัวเองยังมีความเป็นจีนอยู่ และนโยบายจีนเดียวเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้ทุกฝ่าย

ปรากฎว่าชาวไต้หวันไม่เห็นว่าจีนเดียวจะมีคุณต่อพวกเขาอย่างไร ดังที่เราเห็นด้วยแล้วว่าคะแนนเทไปที่พรรค DPP แบบถล่มทลาย เพราะไช่อิงเหวินรู้จุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามดี นั่นคือความโกลาหลที่เกิดขึ้นในฮ่องกง และภาพความนรุนแรงจากการปราบผู้ชุมนุมประท้วง ทำให้ชาวไต้หวันรู้สึกกลัวนโยบายจีนเดียวมากว่าที่จะอ้าแขนรับ

แน่นอนว่าไต้หวันไม่ได้มุ่งที่จะตัดขาดตัวเองจากแผ่นดินใหญ่อย่างตะพึดตะพือ ชาวไต้หวันอาจจะหันมารับนโยบายจีนเดียวได้ก็ต่อเมื่อ "อีกฝั่ง" มีค่านิยมเดียวกับพวกเขาแล้ว

เฉินหมิงทง รัฐมนตรีไต้หวันของสภากิจการแผ่นดินใหญ่จากพรรคสายเขียวกล่าวว่า "อนาคตของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ขึ้นอยู่กับการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของจีน นี่คือทางออกที่ดีทีสุดของปัญหาไต้หวันที่เราจะเสนอให้กับฝ่ายจีนได้"

บทความโดยกรกิจ ดิษฐาน