posttoday

เปิดสมรรถนะขีปนาวุธ Tor-M1 ผู้ต้องสงสัยหลักที่สอยเครื่องบินยูเครน?

10 มกราคม 2563

อิหร่านซื้อ Tor-M1 ครั้งแรกจากรัสเซียเมื่อปี 2005 ตอนนั้นสหรัฐกังวลมาก เพราะมีสมรรถนะสูง เคลื่อนที่เร็ว ความแม่นยำสูง

อิหร่านซื้อ Tor-M1 ครั้งแรกจากรัสเซียเมื่อปี 2005 ตอนนั้นสหรัฐกังวลมาก เพราะมีสมรรถนะสูง เคลื่อนที่เร็ว ความแม่นยำสูง

ท่ามกลางความสงสัยที่ยังไม่มีคำตอบถึงสาเหตุการตกของเครื่องบินโดยสารของยูเครน นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนาดาที่มีผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมนี้ถึง 63 คน เชื่อว่าขีปนาวุธที่ยิงจากพื้นสู่อากาศคือตัวการ ส่วนรัฐบาลยูเครนกำลังตรวจสอบรายงานที่ระบุว่าพบเศษชิ้นส่วนขีปนาวุธ Tor-M1 ที่ผลิตในรัสเซียในที่เกิดเหตุ

ส่วนคลิปวิดีโอที่สำนักข่าว The New York Times ตรวจสอบแล้ว ปรากฏภาพที่ดูเหมือนจะเป็นขีปนาวุธระเบิดใกล้กับเครื่องบินโดยสารของยูเครนเหนือเมืองพารันด์ ใกล้กับสนามบินในกรุงเตหะราน ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่เครื่องบินยูเครนแอร์ไลนส์ เที่ยวบินที่ 752 หายไปจากจอเรดาร์ก่อนตก

ขีปนาวุธ Tor-M1 หรืออีกชื่อที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) คือ SA-15 Gauntlet

จากข้อมูลของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (FAS) Tor-M1 เป็นขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานพิสัยใกล้ที่มีชุดเรดาร์และเครื่องยิงขีปนาวุธติดอยู่บนรถรวมเป็น 1 ระบบ ถูกออกแบบให้โจมตีเป้าหมายที่อยู่ในระดับความสูงไม่เกิน 6,000 เมตร วิถีกระสุน 12 กิโลเมตร

เปิดสมรรถนะขีปนาวุธ Tor-M1 ผู้ต้องสงสัยหลักที่สอยเครื่องบินยูเครน?

ตามปกติเครื่องบินรบและขีปนาวุธนำวิถีซึ่งเป็นเป้าหมายการโจมตีของ Tor-M1 มักจะบินหลอกล่อเพื่อหลีบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ รวมทั้งมีระบบเป้าลวง อาทิ Chaff แผ่นอะลูมิเนียมขนาดเล็กสะท้อนคลื่นเรดาร์สำหรับรบกวนการตรวจจับของเรดาร์ หรือ flare หรือพลุไฟ สำหรับรับมือกับจรวดนำวิถีด้วยความร้อน โดยการสร้างความร้อนให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิของเครื่องบินรบ ทำให้ Tor-M1 จับเป้าหมายได้ยาก

การโจมตีของ Tor-M1 จะต้องระบุเป้าหมายบนจอเรดาร์และสั่งปล่อยขีปนาวุธ

ส่วนเครื่องบินพาณิชย์จะมีเครื่องรับส่งเรดาร์ที่ระบุตัวตน ความเร็ว และระดับการบินไปยังคลื่นความถี่ที่นานาชาติกำหนดไว้ ดังนั้นเครื่องบินของยูเครนจะปรากฏทั้งบนจอเรดาร์ของการบินพลเรือนและของจอเราดาร์สั่งการของ Tor-M1

นอกจากนี้ อดีตเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยทางอากาศของสหภาพยุโรปซึ่งปัจจุบันทำงานด้านเทคโนโลยีระบบป้องกันขีปนาวุธ เผยว่า ปกติแล้วเส้นทางการบินและรหัสเครื่องส่งเราดาร์ของสายการบินพาณิชย์จะถูกส่งไปยังฐานทัพที่อยู่ใกล้กับสนามบิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ควบคุมขีปนาวุธเทียบเคียงเครื่องบินแต่ละลำบนจอเราดาร์กับเส้นทางการบินที่ได้รับและแยกแยะเป้าหมาย

Tor-M1 เป็นขีปนาวุธนำวิถีด้วยเรดาร์ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 3 เท่าของความเร็วเสียง หรือราว 3,708 กิโลเมตรรต่อชั่วโมง หมายความว่าหากถูกตั้งพิกัดให้โจมตีเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไป 5 กิโลเมตร ขีปนาวุธนี้จะไปถึงเป้าหมายภายใน 5 วินาที ด้วยความเร็วระดับนี้หากสั่งยิงไปแล้ว โอกาสจะสั่งยกเลิกแทบเป็นไปไม่ได้เลย

Tor-M1 ยังถูกออกแบบให้สาดพ่นเศษโลหะเข้าใส่เป้าหมายก่อนการระเบิดด้วย ตรงนี้มีจุดน่าสังเกตว่าเศษชิ้นส่วนของเครื่องบินยูเครนมีรูคล้ายรูกระสุนอยู่ด้วย รูเหล่านั้นอาจจะมาจากเศษโลหะนี้หรือไม่

ไมเคิล ดัสแมน นักวิจัยจากสถาบัน Middlebury Institute of International Studies เผยว่า Tor-M1 เป็นหนึ่งในระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัยที่สุดของอิหร่าน ตอนที่อิหร่านซื้อ Tor-M1 จากรัสเซียในช่วงกลางทศวรรษ 2000 สหรัฐแสดงความกังวลเกี่ยวกับดีลซื้อขายนี้อย่างมาก เนื่องจาก Tor-M1 มีสมรรถนะค่อนข้างสูง

เจ้าหน้าที่สหรัฐรายหนึ่งเผยกับ The New York Times ว่า ดาวเทียมตรวจจับการปล่อยขีปนาวุธของสหรัฐตรวจพบการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ของอิหร่านในวันที่เครื่องบินยูเครนตก

และก่อนหน้านี้ระบบอินฟราเรดตรวจจับการยิงขีปนาวุธของสหรัฐเคยตรวจพบขีปนาวธต่อต้านอากาศยานที่ยิงโดยกลุ่มก่อการร้ายในภาคตะวันออกของยูเครนที่รัสเซียให้การหนุนหลังที่ทำให้เครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ เที่ยวบิน MH17 ตกเมื่อปี 2014 จนมีผู้เสียชีวิตทั้งลำ 298 ราย

อย่างไรก็ดี หลังจากหน่วยข่าวกรองของอังกฤษและแคนาดาเผยตรงกันว่า ความผิดพลาดของระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านทำให้เครื่องบินยูเครนตก อาลี อาเบดซาเดห์ ผู้บริหารองค์กรการบินพลเรือนของอิหร่านปฏิเสธพัลวัน โดยเผยว่า มั่นใจว่าเครื่องบินลำดังกล่าวไม่ได้ถูกขีปนาวุธยิง


หลังจากนี้คงต้องรอปะติดปะต่อข้อมูลที่เก็บกู้ได้จากกล่องดำเพื่อไขปริศนาให้ชาวโลกรับรู้