posttoday

โหวตสวนแบบสร้างสรรค์ ร่วมอุดมการณ์พรรค แต่ไม่หักหลังตัวเอง

19 ธันวาคม 2562

แน่นอนว่าพรรคจะต้องใช้มาตรการทางวินัยลงโทษ แต่หากมีเหตุผลมากพอก็อาจจะไม่ลงโทษก็ได้

ขณะที่บ้านเรากำลังวิวาทกันเรื่อง "โหวตสวน" ของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ทั้ง 4 คน ซึ่งทำให้ทั้งสี่ถูกขับออกจากพรรค และยังถูกผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ต่อว่าแบบไม่มีชิ้นดี

ข้ามไปที่สหรัฐ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติให้ดำเนินกระบวนการถดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีเสียงส่วนใหญ่เป็นพรรคเดโมแครต ดังนั้นคะแนนเสียงโหวตให้ถอดถอนทรัมป์จึงมากพอ แต่หลังจากนั้นต้องไปต่อที่วุฒิสภาซึ่งจะชี้ขาดว่าทรัมป์จะพ้นตำแหน่งหรือไม่ สภานี้มีเสียงส่วนใหญ่มาจากพรรครีพับลิกันพรรคพวกของทรัมป์เอง ดังนั้นโอกาสรอดจึงสูงมาก

ไม่เพียงเท่านั้น ในการโหวตชั้นสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ในพรรคเดโมแครตเองยังมีสมาชิก 3 คนโหวตสวนเพื่อร่วมพรรค โดยไม่รับรองกระบวนการถดถอน นับว่าเป็นข่าวใหญ่รองลงมา และเข้ากับสถานการณ์บ้านเราพอดี

สมาชิกเดโมแครตทั้ง 3 คนจะถูกพรรคไล่ออกหรือไม่? ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ เพราะนี่เป็นเรื่องปกติของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่สมาชิกพรรคจะต้องฟังมติพรรคก็จริง แต่หากขัดต่อมโนธรรมของตัวเองแล้วจะออกเสียงขัดต่อพรรคก็ย่อมได้

แน่นอนว่า พรรคจะต้องใช้มาตรการทางวินัยลงโทษ แต่หากมีเหตุผลมากพอก็อาจจะไม่ลงโทษก็ได้ เช่น ในเวลานั้นพรรคมีเสียงเหลือเฟือที่จะผ่านมติ

พรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตยไม่ใช่ว่าจะมีเสรีภาพไปเสียทุกอย่าง สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามมติพรรค เรียกว่า Party-line vote คือต้องออกเสียงในญัตติต่างๆ ตามคนอื่นๆ ในพรรค เรื่องนี้เป็นพันธกิจที่สำคัญมากสำหรับสมาชิกพรรคหนึ่งๆ เพราะหากขืนมติพรรคแล้ว แม้แต่เสียงเดียวก็อาจทำให้เกิดความพลิกผันได้

เช่น หากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีเสียงของพรรคการเมือง 2 พรรคเกือบเท่าๆ กัน การโหวตสวนจะเป็นอันตรายอย่างมากเพราะจะทำให้พรรคหนึ่งชนะไปแบบฉิวเฉียด กรณีที่ล่อแหลมเช่นนี้มักจะไม่มีการโหวตสวนกัน แต่กรณีที่เกิดขึ้นจริงในการถดถอนทรัมป์ ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีคนในพรรคเดโมแครตถึง 233 คน ส่วนรีพับลิกกัน 197 คน หากมีแค่ 3 คนจากเดโมแครตโหวตสวนก็ไม่น่ากังวลอะไร เพราะคะแนนยังห่าง

ดีเสียอีกที่คนในเดโแครตจะใช้โอกาสนี้แสดงให้ประชาชนเห็นว่าพวกเขาสังกัดพรรคก็จริง แต่ก็มีความคิดเป็นของตัวเอง

ในบางประเทศการโหวตสวนมติพรรค เรียกว่าการข้ามฟลอร์ (Crossing the floor) หมายถึงการลุกจากที่นั่งในสภาของพรรคตน ข้ามฟลอร์อยู่อีกข้างหนึ่งของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นโวหารเท่านั้นไม่ได้หมายความว่าจะมีการลุกไปนั่งจริงๆ ในบางประเทศมีกฎหมายเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองลงโทษสมาชิกที่ทำ Crossing the floor ได้ด้วยการขับออกจากพรรค เช่น อินเดีย และบังกลาเทศ

ที่อังกฤษนักการเมืองสามารถโหวตสวนได้ "แต่อย่าให้บ่อย" และมีมาตรฐานชัดเจนของวิป (Whip) หรือผู้คุมวินัยพรรคว่าสมาชิกสามารถโหวตสวนได้หรือสามารถไม่ออกเสียงได้หรือขาดประชุมได้ในกรณีได้บ้าง มาตรฐานมีดังนี้

single-line whip ขาดประชุมได้ ไม่ออกเสียงตามพรรคได้

two-line whip สมาชิกจะต้องประชุม แต่หากมาไม่ได้จะต้องแจ้งล้วงหน้า

three-line whip สมาชิกห้ามขาดประชุมและห้ามโหวตสวนโดยเด็ดขาด ยกเว้นกรณีคอขาดบาดตาย หากละเมิดอาจถูกขับออกจากพรรค กรณีที่ต้องสั่งการแบบ three-line whip ก็เช่นการออกเสียงไม่ไว้วางใจ

three-line whip เป็นคำสั่งเด็ดขาด ไม่ว่าคำสั่งของพรรคจะขัดต่อมโนธรรมของสมาชิกแค่ไหนก็ตาม สมาชิกมีพันธะต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อแม้

แต่บางประเทศโหวตสวนครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังไม่ถูกขับออกไป เช่นที่ออสเตรเลียมีกรณีของบาร์นาบี จอยซ์ แห่งพรรค National Party of Australia ที่โหวตสวนถึง 19 ครั้ง และกรณีของเรก ไรท์ แห่งพรรค Liberal Party of Australia ที่โหวตสวนถึง 150 ครั้ง

ย้อนกลับมาที่สหรัฐ การโหวตสวนเป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกัน ดาวเด่นในสภาที่โหวตสวนมากที่สุดแล้วในตอนนี้คือ อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ แห่งพรรคเดโมแครตและสมาชิกสภาหญิงที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ปรากฎว่าเธอโหวตสวนพรรคถึง 31 ครั้งแล้วเฉพาะแค่ในสมัยประชุม 2019-20 นี้

แต่เธอก็ยังไม่ใช่สมาชิกที่โหวตสวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะอยู่ในอันดับ 208 เท่านั้น

มาถึงตอนนี้ เราจะเห็นแล้วว่าโหวตสวนเป็นทั้งการไม่มีวินัยต่อกลไกลพรรคการเมืองตามวิถีรัฐสภา ขณะเดียวกันก็ยังเป็น "ความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย" ที่แสดงถึงการเคารพทัศนะส่วนบุคคล 

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยในรัฐบาลชุดนี้ มีการโหวตสวนมาแล้ว คือกรณีของนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่โหวตสวนมติพรรคภูมิใจไทยในการเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นพรรคภูมิใจไทยได้ตั้งคณะกรรมการสอบนายสิริพงศ์ไปตามระเเบียบ (ปรากฎว่าปัจจุบันนายสิริพงศ์ นั่งตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมาธิการกีฬา) 

ในเวลานั้น หนึ่งในผู้ที่แสดงความชื่นชมคือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่กล่าวในทวิตเตอร์ @Thanathorn_FWP ว่า ""สิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ" เป็น ส.ส.พรรคภูมิใจไทยเพียงหนึ่งเดียวที่งดออกเสียง ไม่โหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี - วันนี้เขาเป็น ส.ส. ที่กล้าหาญมากที่สุดในสภา"

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาพรรคอนาคตใหม่ได้สั่งขับสมาชิก 4 คนออกไปจากพรรคเพราะโหวตสวนในญัตติต่างๆ ต่างกรรมต่างวาระกัน ตามด้วยกระแสต่อต้านสมาชิก "งูเห่า" ทั้งสี่คนทั้งในพรรคอนาคตใหม่และในโลกโซเชียล

น่าสนใจว่าหนึ่งในสี่ที่ถูกขับคือ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ ที่เคยเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิดที่อนาคตใหม่ขจะขับ ส.ส. ทั้ง 4 คนออกจากพรรค เพราะวินัยพรรคเป็นสิ่งสำคัญ (แต่น่าสนใจว่าทำไมภูมิใจไทยจึงไม่ขับนายสิริพงศ์ หรือ "เสี่ยโต้ง" ทั้งๆ ที่กรณีของเขานั้นหากเทียบกับอังกฤษแล้วนี่คือระดับ three-line whip)

อนึ่ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่สำนักงานอัยการสูงสุดว่า เขา "ให้ความสำคัญกับสมาชิก ให้สมาชิกมีบทบาท มีสิทธิ มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย"

"โอกาสได้แสดงความคิดเห็น" ที่นายธนาธรบอก คงไม่ใช่การแสดงความเห็นส่วนบุคคลของสมาชิกพรรคในสภาเป็นแน่แท้

ภาพ Pattarapong Chatpattarasill / Bangkok Post