posttoday

ส่งท้ายทศวรรษที่ 2010 ยุคสมัยแห่งการก่อรัฐประหาร

18 ธันวาคม 2562

นับเฉพาะการรัฐประหาร ทศวรรษที่ 2010s มีทั้งความพยายามรัฐประหารและการยึดอำนาจที่สำเร็จมากที่สุดยุคสมัยหนึ่ง

ปี 2019 กำลังจะสิ้นสุดลงโดยที่หลายคนยังไม่ทันตั้งตัว และยังไม่รู้ว่านี่ไม่ใช่แค่การสิ้นสุดของปี 2019 แต่ยังเป็นการสิ้นสุดของทศวรรษที่ 2010s อีกด้วย

ทศวรรษที่ 2010s ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความพลิกผันอย่างหนักหน่วงของการเมืองโลก เพราะเต็มไปด้วยสงคราม การก่อรัฐประหาร และการปฏิวัติ ยังไม่นับความเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์ทางการเมืองจากเสรีนิยมที่เบ่งบานในทศวรรษที่ 2000s แต่เกิดกระแสพลิกกลับ กลายเป็นการผงาดขึ้นมาของอุดมการณ์ฝ่ายขวา

นับเฉพาะการรัฐประหาร ทศวรรษที่ 2010s มีทั้งความพยายามรัฐประหารและการยึดอำนาจที่สำเร็จมากที่สุดยุคสมัยหนึ่ง เหตุการณ์ที่ช็อคโลกที่สุด (แต่ก็พอจะคาดเดาได้ในเวลาเดียวกัน) คือรัฐประหารในประเทศไทย ปี 2014 (พ.ศ. 2557)

ย้อนกลับไปในตอนนั้น นานาประเทศไม่ยอมรับการยึดอำนาจของกองทัพไทยและถูกตำหนิจากประชาคมโลก เช่น จอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ประณามการก่อรัฐประหารโดยกล่าวว่ารู้สึกผิดหวัง และจะกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ

สหภาพยุโรประงับการทำข้อตกลงกับไทย เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการปกครองโดยพลเมืองโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องของนานาประเทศที่จะให้ไทยคืนระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วนั้นไม่เป็นผล

แม้ว่าการรัฐประหารในไทยจะเกิดขึ้นทีหลังหลายประเทศ แต่วิกฤตการเมืองไทยเป็นตัวจุดชนวนกระแสการเมืองโลกหลายอย่าง เช่น การเมืองเรื่องของสีเสื้อ และการรัฐประหารเพราะเมื่อย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 2000s โลกของเราแทบจะลืมการรัฐประหารไปแล้ว จนกระทั่งวิกฤตการเมืองไทยบ่มเพาะให้ "ผีของรัฐประหาร" กลับมาหลอกหลอนระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2006 หรือพ.ศ. 2549

ส่งท้ายทศวรรษที่ 2010 ยุคสมัยแห่งการก่อรัฐประหาร การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ภาพโดย Posttoday - photo

หลังจากนั้นโลกของเราเหมือนถูกปลดล็อค เพราะมี "coup d'état" เกิดขึ้นถี่ยิบ จากปี 2006 ในไทย ตามด้วยการยึดอำนาจโดยทหารในปี 2009 ที่ประเทศฮอนดูรัส

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2010s การยึดอำนาจเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนสลับกันกับการปฏิวัติประชาชน การปฏิวัติมวลชนที่เชิญทหารเข้าร่วม และการโค่นล้มเผด็จการ

เฉพาะรัฐประการก่อน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2010 เกิดรัฐประหารที่ประเทศไนเจอร์ โดยทหารบุกเข้าไปจับตัวประธานาธิบดีมามาดู ทันจา กลางทำเนียบกลางวันแสกๆ แล้วตั้ง "สภาสูงสุดเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย"

วันที่ 21 มีนาคม 2012 เกิดรัฐประหารที่ประเทศมาลี ทหารมาลีที่ไม่พอใจรัฐบาลบุกเข้ายึดทำเนียบและสถานที่สำคัญไว้ แล้วตั้ง "คณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยและรัฐ"

ส่งท้ายทศวรรษที่ 2010 ยุคสมัยแห่งการก่อรัฐประหาร การชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ปี 2557 ภาพโดย Post Today / ภัทรชัย ปรีชาพานิช

วันที่ 12 เมษายน เกิดยึดอำนาจที่ประเทศที่กินี-บิสเซา เมื่อกองทัพขวางการเลือกตั้งกลางคัน แล้วตั้ง "สภาการเปลี่ยนผ่านแห่งชาติ" ขึ้น อ้างว่าเพราะรัฐบาลพลเรือนต้องการยืมมือต่างชาติเพื่อจะปฏิรูปกองทัพ

วันที่ 3 กรกฎาคม 2013 กองทัพอียิปต์โค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีโมฮาเมห็ด มอร์ซี แล้วฉีกรัฐธรรมนูญปี 2012 อ้างว่าเพื่อยุติความขัดแย้งในบ้านเมืองหลังเกิดการชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ แล้วทหารตั้งประธานศาลฏีกาเป็นผู้นำประเทศชั่วคราว

วันที่ 22 พฤษภาคม 2014 เกิดการรัฐประหารที่ประเทศไทย โค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  

วันที่ 21 กันยายน 2014 กองกำลังกบฎฮูษียึดอำนาจจากประธานาธิบดีอับดราบูฮ์ มันซูร์ ฮาดี แต่การยึดอำนาจครั้งนี้ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองเยเมนที่ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะซาอุดีอาระเบียแทรกแซงกิจการภายในของเยเมนด้วยการส่งกองกัพเข้ามาโจมตีและปิดล้อมทางเรือ อ้างว่าเพื่อช่วยเหลือประธานาธิบดีฮาดี

ส่งท้ายทศวรรษที่ 2010 ยุคสมัยแห่งการก่อรัฐประหาร กลุ่มเสื้อแดงนัดจุดเทียนไม่เอารัฐประหาร ทหารเข้าพื้นที่ห้าม เพราะ คสช.สั่งห้ามชุมนุมเกิดน 5 คน ทำให้เสื้อแดงไม่พอใจ ตะโกนโห่ร้อง ทำให้ทหารจับตัวมวลชลเสื้อแดงไปจำนวน 5 คนที่มีลักษณะการชุมนุมที่รุยแรง ที่ลานสกายวอล์กหน้าหอศิลป์ กรุงเทพ - Bangkok Post / Pattarapong Chatpattarasill

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2017 กองทัพซิมบาบเวยึดอำนาจจากประธานาธิบดีโรเบิร์ท มูกาเบ ที่ครองอำนาจมานานถึง 30 ปีจากนั้นกองทัพจัดการกับเครือข่ายอำนาจของมูกาเบที่ถูกเรียกว่าเป็น "อาชญากร" และควบคุมตัวมูกาเบไว้

วันที่ 11 เมษายน 2019 เกิดการรัฐประหารที่ซูดาน หลังเกิดการประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจค่าครองชีพที่แพงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2018 จนกระทั้งกองทัพยึดอำนาจากประธานาธิบดีโอมาร์ อัลบาชีร์ ที่ครองอำนาจมานานเกือบ 30 ปี จากนั้นทหารตั้ง "สภากองทัพเพื่อการเปลี่ยนผ่าน" แต่การประท้วงก็ไม่จบลงง่ายๆ

ส่งท้ายทศวรรษที่ 2010 ยุคสมัยแห่งการก่อรัฐประหาร นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถ่ายภาพกับทหารที่รักษาความสงบระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร - Bangkok Post / Pattarapong Chatpattarasill

เราจะเห็นได้ว่าประเทศที่ทำรัฐประหารสำเร็จล้วนแต่เป็นประเทศด้อยพัฒนาในทวีปแอฟริกา ยกเว้นไทยที่มีเศรษบกิจอยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนา รายได้ปานกลางค่อนข้างสูง แต่ไทยเป็นทั้งตัวการทำให้เกิดกระแสยึดอำนาจและยังเกิดรัฐประหารถึง 2 ครั้งในระยะทศวรรษที่ 2000s - 2010s ซึ่งนับเป็นสถิติที่ไม่ค่อยจะน่าภูมิใจนัก

นี่กล่าวมานี้เป็นแค่การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ ยังมีความพยายามก่อรัฐประหารอีก ที่โด่งดังที่สุดคือความพยายามรัฐประหารที่ตุรกี ระหว่างวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2016 ที่จบลงด้วยความล้มเหลวของฝ่ายกบฎ ทำการเกิดการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองครั้งใหญ่ ทำให้เกิดความร้าวฉานระหว่างสหรัฐกับรัฐบาลตุรกี ที่กล่าวหาว่าสหรัฐให้การหนุนหลังฝ่ายกบฎ ความร้าวฉานนี้ส่งผลกระทบต่อ ดุลอำนาจการเมืองโลก เพราะตุรกีสลัดตัวจากสหรัฐและนาโต้ แล้วเอนเอียงมาทางรัสเซีย จนกระทบต่อสงครามในซีเรียอีกต่อหนึ่ง

รวมแล้วมีทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จถึง 42 ครั้ง ไม่เรียกว่าเป็นทศวรรษแห่งการรัฐประหารก็คงไม่ได้