posttoday

“มะริด เมียนมา" ขุมทรัพย์ใหม่ของนักลงทุน

18 ธันวาคม 2562

เมืองมะริด ประตูเศรษฐกิจด้านการลงทุนแห่งใหม่ของเมียนมา ที่กำลังจะเฉิดฉายในอีกไม่กี่ปีนี้

เมืองมะริด ประตูเศรษฐกิจด้านการลงทุนแห่งใหม่ของเมียนมา ที่กำลังจะเฉิดฉายในอีกไม่กี่ปีนี้

*********************

หลังจาก “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” เปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนได้ 100% พร้อมปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้เอื้อกับนักธุรกิจ “เมืองมะริด” จึงเป็นอีกหนึ่งหมุดที่เมียนมาตั้งเป้าให้เป็นเมืองการค้าการลงทุนและอีกประตูเศรษฐกิจของประเทศแถบนี้

“โพสต์ทูเดย์” มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสเมืองที่มีระบบเศรษฐกิจ วิถีชีวิต วัฒนธรรม เฉพาะตัวแห่งนี้เพื่อดูถึงสถานะความพร้อมที่คาดกันว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้ามะริดจะเป็นอีกหนึ่งเมืองที่น่าลงทุน

เปิด “เมืองมะริด” หมุดการค้า-การลงทุนใหม่

มะริด เป็นเมืองหนึ่งในเขตตะนาวศรี ตั้งอยู่ตอนใต้ของเมียนมา เป็นเมืองท่าสำคัญด้านการประมง สภาพภูมิประเทศมีทรัพยากรทางธรรมชาติสมบูรณ์มากโดยเฉพาะทรัพยากรในทะเล

วีระ ศรีวัฒนตระกูล นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาการค้าการลงทุนประจวบ-มะริด อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 สมัย ฉายภาพให้ฟังว่า สภาพเศรษฐกิจของมะริดส่วนใหญ่มาจากการประมงและท่องเที่ยว ส่วนการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และพาณิชย์ตอนนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

มะริดเมื่อ 8 ปีก่อนไม่มีการพัฒนาเท่าในปัจจุบัน เนื่องจากระบบคมนาคมสาธารณูปโภค อาทิ การเดินทาง ไฟฟ้า น้ำประปา ยังไม่พัฒนา เพราะสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชนราว 1 .4 ล้านคน และภาคอุตสาหกรรมต่างๆในเมือง แต่ทว่าเมื่อ 3 ปัจจัยเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆก็เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้หลั่งไหลเข้ามาลงทุนได้

“มะริดมีความพร้อมด้านฐานะการเงิน เพราะมีความมั่งคั่งจากอุตสาหกรรมประมง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเปรียบเหมือนกุญแจล็อคเอาไว้ คือความไม่พร้อมด้านสาธารณูปโภค งบประมาณจากรัฐบาลในการเข้ามาสนับสนุน”

อดีตผู้ว่าฯประจวบ มองว่า ไม่กี่ปีต่อจากนี้มะริดจะเป็นเมืองที่มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมาก เพราะปัจจุบันมีการทำถนนจากจุดผ่านแดนด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เชื่อมไปถึงมะริดตรงนี้จะเท่ากับเป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจให้มะริดเกิดการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวมากขึ้น

นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนประจวบ-มะริด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยเข้าไปทำธุรกิจในเมืองมะริดมากขึ้น หนึ่งในนั้นเป็นบริษัทเอกชนไทยที่มีศักยภาพด้านบริหารจัดการน้ำที่ได้สัมปทานเข้าไปผลิตน้ำประปาเป็นเจ้าแรก ซึ่งเชื่อว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของมะริด เพราะชาวเมืองจะมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค และมันจะเป็นอีกปัจจัยเพื่อช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไป

“มะริด เมียนมา" ขุมทรัพย์ใหม่ของนักลงทุน เมืองมะริด

เมียนมา เปิดกว้างพร้อมซัพพอร์ตนักลงทุน

สำหรับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐของเมียนมา อู้ ทล่ะ ตั้น ประธานหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมะริด เล่าว่า มะริดเป็นเมืองประมง เกษตร มีประชากรจำนวนกว่า 1.4 ล้านคน มีเสถียรภาพการพัฒนาเศรษฐกิจที่สูงมาก เพราะมีระบบคมนาคมทางถนนดีเชื่อมโยงกับด่านสิงขร ชายแดนไทยไม่ถึง 200 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าอนาคตมะริดจะเป็นศูนย์กลางการค้าในย่านนี้

พร้อมมองว่าภายใน5ปี มะริดจะเป็นพื้นที่ที่น่าลงทุนมาก เพราะจะมีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งระบบขนส่ง ไฟ น้ำประปา โดยตอนมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำจากประเทศไทยเข้ามาดูแลพัฒนาระบบน้ำของเมือง ซึ่งตอนนี้ได้ทำเอ็มโอยูกับรัฐบาลเมียนมาแล้ว และกำลังเริ่มดำเนินการต่อไป ส่วนระบบไฟฟ้าตอนนี้กำลังพัฒนาเพื่อให้มะริดมีความมั่นคงทางด้านพลังงานมากขึ้น

ประธานหอการค้าจังหวัดมะริด ทิ้งท้ายว่า ตนเองในฐานะตัวแทนชาวเมืองจึงขอเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนไม่ว่าภาคอุตสาหรรม ประมง เกษตรหรือการท่องเที่ยว เพราะอนาคตมะริดจะเป็นอีกหนึ่งเมืองย่านนี้ที่น่าลงทุน

ขณะที่ H.E. U Myint Swe รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กล่าวว่า ตอนนี้สภาพเศรษฐกิจของประเทศน่าลงทุนมาก ตอนนี้กำลังมีการพัฒนาโครงการทวายน้ำลึก ดังนั้นรัฐบาลจึงอยากเชิญนักลงทุนภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา โดยรัฐบาลจะคอยสนับสนุนและผลักดัน

“มะริด เมียนมา" ขุมทรัพย์ใหม่ของนักลงทุน

น้ำประปาฝีมือคนไทย ช่วยเพื่อนบ้านให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ ดร.คณพศ นิจสิริภัช ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทไบรท์ บลู วอเตอร์ เอกชนไทยที่ได้รับสัมปทานผลิตน้ำประปาในเมืองมะริด กล่าวว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำระบบน้ำอุตสาหกรรม ประปา บริหารจัดการแหล่งน้ำ ปัจจุบันดำเนินธุรกิจหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร ภูเก็ต ปทุมธานี ลำพูน เชียงใหม่ และตอนนี้กำลังขยายไปเมียนมา

สำหรับโครงการพัฒนาระบบน้ำประปาในเมืองมะริด หลังได้รับการติดต่อให้เข้าไปดำเนินการสำรวจเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี พบว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพมาก แต่ติดปัญหาหลักอย่างหนึ่งคือระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้าและน้ำประปายังไม่พร้อม แต่ตอนนี้รัฐบาลเมียนมากำลังเร่งดำเนินการพัฒนาเรื่องไฟฟ้า

ส่วนน้ำประปาเพื่อใช้อุปโภคบริโภค ปัจจุบันมะริดยังใช้น้ำบาดาลซึ่งอาจมีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่และหากใช้เป็นระยะเวลานานอาจทำให้ดินทรุด และอนาคตอาจมีสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นไปเรื่อยเพราะเป็นเมืองติดทะเลซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล

ดร.คณพศ เปิดเผยว่า หลังทางบริษัทได้รับการอนุมัติโครงการพัฒนาน้ำประปาในมะริดจากรัฐบาลเมียนมา คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างได้ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 และจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีครึ่ง ในการเดินท่อระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร เพื่อดึงน้ำจากต้นแม่น้ำตะนาวศรี เข้ามาสู่โรงกรองซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองมะริด จากนั้นจะสามารถส่งน้ำให้ประชาชนในเมืองได้

ประธานกรรมการบริษัทไบรท์ บลู วอเตอร์ฯ คาดว่า หลังเริ่มดำเนินการผลิตน้ำประปาจะผลิตน้ำได้วันละ 1 แสนคิว ส่วนการจัดจำหน่ายจะขายในราคาสมเหตุสมผลและถูกกว่าในปัจจุบัน นอกจากนี้คาดว่าไม่เกิน 5 ปี เมื่อเมืองมะริดมีความเจริญขึ้นอาจต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 3 แสนคิวต่อวัน เพราะมองว่าเมื่อระบบสาธารณูปโภคดีจะทำให้นักลงทุนเข้ามามากขึ้น

“เรามองว่าถ้าสามารถทำคุณภาพน้ำให้ดีได้ และขายในราคาที่ถูกลง ก็จะทำให้ประชาชนชาวเมียนมาได้ใช้ของที่มีคุณภาพ และจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้มะริดมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน”

“มะริด เมียนมา" ขุมทรัพย์ใหม่ของนักลงทุน อู้ ทล่ะ ตั้น ประธานหอการค้าฯมะริด(ซ้าย) - ดร.คณพศ นิจสิริภัช ประธานกลุ่มบริษัทไบรท์ บลู วอเตอร์(ขวา)

“มะริด เมียนมา" ขุมทรัพย์ใหม่ของนักลงทุน

“มะริด เมียนมา" ขุมทรัพย์ใหม่ของนักลงทุน

“มะริด เมียนมา" ขุมทรัพย์ใหม่ของนักลงทุน

“มะริด เมียนมา" ขุมทรัพย์ใหม่ของนักลงทุน