posttoday

ปล่อยแพะ ดีกว่าปล่อยพาล อย่าทำให้คุกเป็นแค่ที่พักของคนอันตราย

17 ธันวาคม 2562

เราจะทำอย่างไรไม่ให้คนที่ยังไม่สำนึกออกมาเพ่นพ่านในสังคมก่อนเวลาอันควร บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน

เราจะทำอย่างไรไม่ให้คนที่ยังไม่สำนึกออกมาเพ่นพ่านในสังคมก่อนเวลาอันควร บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน

ในภาพยนต์เรื่อง Shawshank Redemption มีคำพูดที่สะเทือนใจอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งตัวละครบอกว่า "คนที่อยู่ในคุกนี้เป็นคนบริสุทธิ์ทุกคนนั่นแหละ" (Everyone in here is innocent) และความบริสุทธิ์ของตัวละครหลักในเรื่องก็เป็นจุดพลิกผันสำคัญของภาพยนต์เรื่องนี้

คำพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าในคุกมีแต่แพะ แต่หมายความว่าในหมู่คนผิดจริงๆ มีคนที่ถูกกล่าวหาผิดๆ รวมอยู่ด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อกล่าวหาลอยๆ เพราะมีการศึกษาในหลายประเทศ เช่นที่สหรัฐมีองค์กร The Innocence Project (โครงการผู้บริสุทธิ์) ซึ่งรายงานไว้ในปี 2014 ในสหรัฐมีผู้ต้องขังที่ไม่ได้ผิดถึง 2.3% - 5% แต่คนเหล่านี้ต้องสิ้นอิสระภาพ เพราะช่องโหว่ในกระบวนการทางกฎหมาย

บางคนติดคุกเกือบค่อนชีวิตจึงจะได้รับการพิสูจน์ว่าไม่มีความผิดแล้วได้รับอิสรภาพในช่วงปลายชีวิต แต่มันคุ้มกันหรือ?

สหรัฐเป็นประเทศที่ไม่ลดโทษพร่ำเพรื่อ นักโทษคดีอุกฉกรรจ์มักจะติดคุกกันหัวโต เพื่อที่จะได้สำนึกผิด เกิดความยำเกรงในกฎหมาย หรืออย่างน้อยก็หมดอิสรภาพอยู่ในนั้นจนแก่เฒ่า หมดกำลังที่จะทำร้ายผู้คนอีก

ตรงกันข้ามกับประเทศไทย ซึ่งนักโทษคดีร้ายแรงมักจะได้รับโอกาสลดโทษเป็นระยะๆ แม้ผู้เขียนจะรู้ว่ากรมราชทัณฑ์มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการประเมินผู้ต้องขัง แต่กรณีของนายสมคิด พุ่มพวงทำให้ผู้เขียนชักไม่แน่ใจแล้วว่ามาตรฐานของกรมราชทัณฑ์ดีพอแค่ไหน

ในสหรัฐ การจะลดโทษผู้กระทำความผิด จะต้องพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่า โดยใช้คณะกรรมการทัณฑ์บน (Parole Board) ซึ่งประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายพื้นเพและสาขาอาชีพในการพิจารณาว่าควรจะปล่อยตัวผู้กระทำความผิดแล้วหรือยัง

ดังนั้นจึงเป็นการยากมากที่ฆาตกรต่อเนื่อง ฆาตกรฆ่าข่มขืน ฆาตกรหั่นศพจะได้รับโอกาสออกมาเพ่นพ่านข้างนอกอีก เช่นในกรณีของชาร์ลส์ แมนสัน ฆาตกรชื่อดังในทศวรรษที่ 60 - 70 ผู้วางแผนและลงมือฆ่า 7 ศพ ต้องโทษประหารชีวิต แต่เมื่อรัฐแคลิฟอร์เนียยกเลิกโทษนี้ก็เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิตพร้อมโอกาสได้รับทัณฑ์บน แต่แมนสันติดคุกตั้งแต่ปี 1971 จนถึงปี 2017 จนตายไปเมื่ออายุ 83 ก็ยังไม่เคยได้รับโอกาสได้ออกไป

เขาติดคุกได้ 7 ปี ก็ได้โอกาสทัณฑ์บน แต่ไม่ผ่านการพิจารณา หลังจากนั้นก็เข้ารับพิจารณาอีก 12 ครั้ง ในระหว่างนั้นในปี 1997 แมนสันไม่ยอมมาพบคณะกรรมการทัณฑ์บนอีก การพิจารณาจึงต้องทำแบบลับหลัง แต่ก็ไม่ผ่านอยู่ดี ครั้งหลังสุดในปี 2012 (ซึ่งเป็นครั้งที่ 12) คณะกรรมการทัณฑ์บนระบุว่า แมนสันไม่มีสภาพพร้อมที่จะออกไปดำรงชีวิตแบบคนปกติ แล้วเลื่อนกำหนดพิจารณาออกไปถึง 15 ปี แทนที่จะเป็นทุกๆ 7 ปีเหมือนเคย แต่ก่อนที่จะถึงปี 2027 ที่เขาจะฟังคำชี้ขาดอีกครั้ง แมนสันก็ตายเสียก่อน

เราจะเห็นได้ว่าคณะกรรมการทัณฑ์บนทำงานอย่างไม่บกพร่อง คือให้โอกาสผู้ต้องขังอยู่สม่ำเสมอ แต่เพราะผู้ต้องขังไม่มีทีท่าจะเป็นคนปกติได้ จึงต้องอยู่ในคุกต่อไป

ปัญหาก็คือเราไม่มีคุกมากพอสำหรับขังคน

สหรัฐเป็นประเทศที่มีผู้ต้องขังมากที่สุดในโลก ข้อมูลนี้อาจจะน่าตกใจเล็กน้อย แต่เราจะยิ่งตกใจมากกว่านี้หากรู้ว่าประเทศไทยมีผู้ต้องขังมากที่สุดอันดับที่ 6 ของโลก (วัดที่จำนวนประชากรคนคุก) ที่ต้องตกใจก็เพราะอันดับที่ 1 - 5 ล้วนแต่เป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากรมหาศาล คือสหรัฐ จีน บราซิล รัสเซีย และอินเดีย

พูดสั้นๆ ก็คือไทยมีอัตราส่วนของคนติดคุกมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

ดังนั้นเราจึงพอที่จะเข้าใจได้หากกรมราชทัณฑ์ต้องแก้ปัญหาด้วยการระบายผู้ต้องขังออกมา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ในบรรดา "นักโทษชั้นดี" มีคนชั้นเลวออกออกมาคุกคามชีวิตประชาชนด้วย

แถมนักโทษชั้นดีที่มีความประพฤติดีจริงๆ ยังพลอยโดนหางเลขไปด้วย เพราะนับจากนี้ประชาชนจะมองพวกเขาด้วยความหวาดระแวง ส่วนกรมราชทัณฑ์อาจจะต้องเข้มงวดมากขึ้นในการพิจารณาลดหย่อนโทษ (ซึ่งหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น)

อีกอย่างที่ต้องคิดให้หนักคือ กระบวนการอบรมผู้กระทำความผิดที่เราใช้อยู่ตอนนี้ทำให้คนไม่ดีกลายเป็นคนดีของสังคมหรือไม่ เพราะเมื่อดูจากสถิติจะพบว่าในปี 2558 มีอัตราผู้กระทำผิดถูกจับเข้าคุกอีกครั้ง 17% แต่ในปี 2559 กระโดดขึ้นมาที่ 25% และในปี 2560 พุ่งพรวดขึ้นมาเป็น 33%

การที่อดีตนักโทษกกลับมาเป็นนักโทษอีกครั้งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Recidivism ประทศที่มีอัตราสูงมากคือสหรัฐ 60% และอังกฤษ 50% คดีส่วนใหญ่ที่กลับมาเข้าคุกอีกเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง

หากแก้ไขจุดนี้ยังไม่ได้ ผู้เขียนอยากจะแนะนำให้กรมราชทัณฑ์รอบคอบกับการลดโทษผู้กระทำความผิดในคดีใช้ความรุนแรง เพราะสถิติมันบอกชัดอยู่

อย่างที่ผู้เขียนพาดหัวไว้ว่า "ปล่อยแพะ ดีกว่าปล่อยพาล" บางทีเราควรทุ่มเทเวลาให้กับช่วยคนบริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมจะดีกว่า ส่วนคนกระทำความผิดร้ายแรงนั้นไม่ต้องรีบปล่อยออกมาก็ได้

ปล่อยมาแล้วเป็นแบบนายสมคิด พุ่มพวง จะเป็นการทำงานที่เสียภาษีประชาชนไปเปล่าๆ