posttoday

ไขปริศนาได้แล้ว ท่ามือที่หายไปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

12 ธันวาคม 2562

แม้จะพบเพียงแค่แขนซ้ายแต่มือซ้ายยังคงประกอบกับมือขวาดังนั้นจึงไม่ยากที่ที่จะคาดเดาว่าแขนซ้ายขจะต้องอยู่ในท่าเดียวกัน

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีประติมากรรมหินแกะสลักชิ้นหนึ่งเป็นรูปผู้ชายในท่านั่งขัดสมาธิ ใบหน้าสงบเย็นและหลับตาลงเหมือนอยู่ในภวังค์ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือมือทั้ง 2

ประติมากรรมชิ้นนี้พบที่ปรางค์พรหมทัต ทางทิศใต้ของปราสาทหินพิมาย ดังนั้นคนโบราณจึงเรียกว่าท้าวพรหมทัต แต่นักโบราณคดีประเมินว่านี่คือรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ของอาณาจักรเขมรโบราณ (ครองราชย์พ.ศ. 1724 - 1761) เพราะพบประติมากรรมแบบเดียวกันอีกในหลายพื้นที่ของไทย ลาว และกัมพูชา

ที่กัมพูชาพบประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่เขตเมืองนครวัด จังหวัดเสียมเรียบ แต่ส่วนมือถูกทำลายไปเช่นเดียวกับที่พิมาย ดังนั้นจึงกลายเป็นปริศนาที่ยังไขไม่ออกว่า งานศิลปะอันทรงคุณค่าชิ้นนี้ควรจะมีลักษณะท่ามืออย่างไร

ล่าสุด Apsara Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านโบราณคดีของกัมพูชาและนักโบราณคดีฝรั่งเศส ได้ค้นพบแบนและส่วนมือในท่าพนมมือไหว้ของประติมากรรมปริศนา จึงนำมาต่อเข้ากับรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปรากฏว่าต่อเข้ากันได้ แม้จะมีชิ้นส่วนแตกหักไปบ้างก็ตาม

แม้จะพบเพียงแค่แขนซ้ายแต่มือซ้ายยังคงประกอบกับมือขวาดังนั้นจึงไม่ยากที่ที่จะคาดเดาว่าแขนซ้ายจะต้องอยู่ในท่าเดียวกัน

จากการต่อชิ้นส่วนที่หายไปทำให้เราทราบในที่สุดว่า ประติมากรรมชิ้นเอกของอาณาจักรเขมรโบราณ อยู่ในท่าพนมมือ และอาจจะเคยตั้งไว้ที่ปราสาทประธานของปราสาทนครธม โดยประจันหน้าหรือไม่ก๋จอาจจะหันหลังให้พระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดมหึมา 

ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันไปต่างๆ นานาว่า ท่าที่ถูกต้องควรมีรูปแบบใด เช่น มีข้อเสนอว่าควรอยู่ในท่าถือคัมภีร์ใบลาน หรืออยู่ในท่าประคองมือนั่งสมาธิ