posttoday

เมื่อคำถามของนางงามกลายเป็นเรื่องตบตีทางการเมือง

10 ธันวาคม 2562

ต่อให้ฟ้าใสเป็นที่รักของคนทั่วไป แต่ถ้าเธอตอบคำถามไม่ตรงกับใจของแฟนการเมืองกลุ่มต่างๆ เธอก็จะถูกโจมตีอยู่ดี

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยมีปฏิกิริยากับคำถามฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น บทเวที Miss Universe เพราะคำถามนั้นเป็นคำถามการเมือง และเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองเสียด้วย

ปฏิกิริยานี้มีตั้งแต่เห็นใจฟ้าใสที่ได้คำถามยาก บางคนพอใจกับคำตอบของเธอ บางคนให้กำลังใจ และบางคนกระฟัดกระเฟียดกับคำตอบของเธอ ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะไม่ถูกใจเป็นการส่วนตัว

หลายคนโยงไปถึงเรื่องการเมืองว่าบ้านเมืองไม่เป็น "ประชาธิปไตยที่แท้จริง" เราจึงไม่ได้เป็น Miss Universe แล้วโจมตีรัฐบาลว่าเป็นเหตุให้ฟ้าใสตกรอบ บางคนคนเชียร์ให้นักการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบไปขึ้นเวทีบ้าง เพราะเชื่อว่าตอบได้ดีกว่า

คำถามนางงามจึงกลายเป็นสงครามน้ำลายทางการเมืองในบ้านเราไปอย่างไม่น่าเชื่อ

คำถามก็คือทำไมคนไทยต้องวุ่นวายกับคำตอบของนางงาม? เราวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะคำถามของกองประกวด Miss Universe เป็นคำถามการเมืองมากขึ้นทุกปี และคำถามเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนทั่วโลก ไม่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น

เพียงแต่เมื่อคำถามนี้ออกมาจากปากตัวแทนคนไทยในเวทีการประกวด มันทำให้คนไทยรู้สึกว่าคำตอบควรจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความเห็นสาธารณะของคนไทย แต่ปัญหาก็คือ ประเทศไทยมีความแตกแยกทางการเมืองรุนแรง ทุกวันนี้เราแทบไม่เห็นใครที่จะสร้างฉันทามติทางการเมืองได้เลย

ต่อให้ฟ้าใสเป็นที่รักของคนทั่วไป แต่ถ้าเธอตอบคำถามไม่ตรงกับใจของแฟนการเมืองกลุ่มต่างๆ เธอก็จะถูกโจมตีอยู่ดี แน่นอนว่ารัฐบาลก็ย่อมต้องถูกโจมตีด้วย เพราะคนไทยมีทักษะสูงในการโยงเรื่องอะไรก็ตามในจักรวาลนี้ไปให้รัฐบาลรับบาป

ไม่เฉพาะแต่รัฐบาลพลังประชารัฐ ต่อให้เป็นรัฐบาลเพื่อไทย หรือรัฐบาลอนาคตใหม่ ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คือไม่ชอบคำตอบของนางงาม แต่รัฐบาลต้องถูกด่าแทน

กลับมาที่คำถามของกองประกวด Miss Universe เราจะพบว่าคำถามเริ่มเป็นประเด็นร้อนๆ มากขึ้นทุกปี ใครที่ตอบไม่ฉะฉาน หรือไม่ก็ตอบไม่ถูกใจกรรมการจนต้องตกรอบ (บางคนยังตอบไม่ถูกใจคนในประเทศจะต้องถูกตามมาตำหนิไล่หลังอีก)

เช่นเมื่อปีที่แล้ว นางงามจากปวยร์โตรีโก เจอคำถามว่า "นักข่าวหลายร้อยคนทั่วโลกถูกจำคุกในปีนี้ เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพวกเขา ทำไมเสรีภาพสื่อถึงสำคัญ?"

เธอตอบว่า "สื่อมวลชนมีไว้เพื่อแจ้งข้อมูลให้เราทราบ งานของพวกเขาคือให้ข่าวเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกในขณะนี้ พวกเขาควรมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะสามารถรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยจะต้องไม่ลืมว่าพวกเขาต้องมีความเห็นอกเห็นใจ เพราะมีคนมากมายที่กำลังทุกข์ทรมานจากปัญหาต่างๆ ในโลกนี้"

ปวยร์โตรีโกตอบได้ดี (โดยไม่วายทิ้งอารามณ์นางามใจดีในตอนท้าย) และไม่ต้องพบแรงกดดันเพราะปวยร์โตรีโกเป็นเครือรัฐของสหรัฐอันเป็นประเทศเสรี แต่คำตอบของเธอก็ยังไม่ดีพอที่จะได้มงกุฏ แบบนี้ก็คงโทษไม่ได้ว่าปวยร์โตรีโกไม่เป็นประชาธิปไตย

นางจากเวียดนามเจอคำถามหินยิ่งกว่าเพราะเป็นประเด็นร้อนระดับโลกในเวลานั้น เธอถูกถามว่า

"การเคลื่อนไหว #MeToo ทำให้เกิดวิวาทะระดับโลก บางคนมีปฏิกริยาตอบโต้โดยบอกว่าโลกของเราหมกมุ่นกับการเมืองมากเกินไป คุณคิดว่าการเคลื่อนไหว #MeToo ล้ำเส้นเกินไปหรือไม่?" แต่เธอตอบอย่างง่ายเกินไปว่าไม่เห็นล่าล้ำเส้น และผู้หญิงควรได้รับการปกป้องและมีสิทธิ ซึ่งคำตอบนี้ไม่ผิด แต่ไม่ได้สะท้อนความซับซ้อนของขบวนการ #MeToo

นางงามจากฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดได้คำถามว่า "เมื่อเร็ว ๆ นี้แคนาดาได้เข้าร่วมกับอุรุกวัยในฐานะประเทศที่สองในโลกที่ผ่านกฎหมายกัญชาเสรี คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย?"

ส่วนนางงามจากแอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้วได้คำถามว่า "หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบกับการเพิ่มขึ้นของผู้อพยพเข้าเมือง คุณคิดว่าประเทศต่างๆ ควรจำกัดจำนวนผู้ลี้ภัยที่ได้รับอนุญาตข้ามเขตแดนของตนหรือไม่?"

หากเราไม่ลำเอียงจนเกินไป จะเห็นได้ว่าคำถามของนางงามฟิลิปปินส์มีความ "ร้อน" ทางการเมืองและทางสังคมน้อยที่สุด ส่วนคำถามของนางงามแอฟริกาใต้ ถ้าเป็นนางงามจากปวยร์โตรีโกได้ไป คำตอบของเธอจะสร้างปัญหาในทันที เพราะคนปวยร์โตรีโกก็มีปัญหาเรื่องเผชิญกับกระแสการต่อต้านชาวฮิสแปนิกและการต่อต้านผู้อพยพในสหรัฐ หรือหากนางงามรัสเซียได้คำถามของปวยร์โตรีโกไป เธออาจจะอ้ำๆ อึ้งๆ เอาได้ เพราะรัสเซียมีปัญหาเรื่องกดขี่ผู้สื่อข่าวอย่างร้ายแรง

ย้อนกลับมาดูคำถามของฟ้าใส ปวีณสุดา คำถามที่เธอได้ไปคือ "การจับตารัฐบาล (Government surveillance) นั้นนำมาใช้ในหลายๆ ประเทศเพื่อปกป้องประเทศและประชาชนของพวกเขาให้ปลอดภัย แต่บางคนเชื่อว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเรา อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณระหว่างความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัย?"

อันที่จริงคำถามนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับไทย แต่เป็นคำถามที่ทุกรัฐบาลตกเป็นจำเลย เช่น สหรัฐมีกรณีอื้อฉาวของการดักฟังโทรศัพท์และข้อมูลออนไลน์ หรือกรณี NSA และเมื่อพิจารณาคำถามดีๆ จะทราบว่าคำถามนี้เล็งไปที่จีน ซึ่งมีระบบ Government surveillance ที่ทรงประสิทธิภาพมาก ซึ่งรัฐบาลจีนมีเหตผลในเรื่องการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยในการทำเช่นนี้

เมื่อวิเครราห์ลงไปอีก คำามถนี้ดูจะเฉียดๆ ประเด็นปัญหาของหัวเหวย (Huawei) ที่ถูกโลกตะวันตกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับกองทัพจีนและมีระบบ 5G ที่อาจจะกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ได้ 

สำหรับประเทศไทยนั้น เรามีระบบ Government surveillance ที่ย่ำแย่เอามากๆ ถึงขนาดเคยมีข่าวเรื่องกล้องดัมมี่ในกรุงเทพฯ แถมยังเสียเงินติดป้ายบอกประชาชน (หรือโจร) ด้วยว่าพื้นที่นี้มีกล้องวงจรปิด รวมถึงยังมีกล้องที่ควรจะใช้งานได้แต่จับภาพอะไรไม่ได้อีก

หรือแม้แต่การตรวจสอบข่าวปลอมของรัฐบาล ซึ่งถือเป็น Government surveillance อย่างหนึ่งก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะข่าวปลอมก็ยังชุกชุมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นเราอนุมานได้ว่ารัฐบาลไทยไม่มีประสิทธิภาพนักในการตรวจสอบว่าประชาชนทำอะไรบ้าง

คำตอบของฟ้าใสแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างความั่นคงและเสรีภาพส่วนบุคคล อันที่จริงคนไทยควรจะดีใจที่ตัวแทนของเรารักษาน้ำใจของฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายอนุรักษ์นิยมเอาไว้ แม้ไม่ได้มงกุฏแต่เธอแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่คนไทยควรมี แค่การรู้จักวิเคราะห์ถ่วงดุล

ไม่ใช่ว่าจะต้องมาดราม่ากันทุกเรื่องโดยไม่ได้ใตร่ตรองเหตุและผล