posttoday

เปิดแฟ้มสงครามโลก จีนคิดอย่างไรเมื่อไทยเป็นศัตรู

08 ธันวาคม 2562

เมื่อไทยต้องร่วมมือกับญี่ปุ่นในช่วงสงคราม จึงเกือบจะเกิดความบาดหมางกับเพื่อนบ้านระดับเฮฟวี่เวทคือจีน

วันนี้คือวันครบรอบ 78 ปีที่ญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ทำให้ไทยต้องตกอยู่ในสภาพ "ร่วมมือกับญี่ปุ่น"

การร่วมมือแบบแกมบังคั ทำให้เกิดความบาดหมางกับเพื่อนบ้านระดับเฮฟวี่เวทคือจีน ซึ่งถูกญี่ปุ่นรุกรานและต้องทำสงครามกับญี่ปุ่นมาหลายสิบปีแล้ว ความบาดหมางนี้ลงลึกมาถึงชาวจีนในขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย เพราะชาวจีนในไทยถูกตั้งแง่ด้วยนโยบายชาตินิยมของจอมพลป. พิบูลสงคราม ทำให้ชาวจีนเหล่านี้เก็บความแค้นเอาไว้ ดังจะเห็นได้ว่าหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวจีนในประเทศไทยต้องการที่จะให้กองทัพก๊กมินตั๋งยกทัพเข้ามาควบคุมไทยไว้ในฐานะผู้แพ้สงคราม แต่ไม่สมดังหวัง เพราะฝ่ายพันธมิตรอังกฤษมาดูแลไทยแทน ทำให้เกิดความวุ่นวายในหมู่คนจีนขึ้น

ดังนั้น ในช่วงใกล้สงครามจะสิ้นสุด สถานะของไทยจะไม่สู้ดีนัก เพราะนอกจากจะตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นแล้วยังจับพลัดจับพลูเป็นฝ่ายผู้แพ้สงคราม เรียกว่าต้องเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง และมีโอกาสสูงที่จีนจะเอาคืนไทย แต่เจียงไคเช็ก ผู้นำจีนฝ่ายก๊กมินตั๋งแสดงท่าทีมาตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่มองไทยเป็นศัตรู โดยในปี 2486 เจียงไคเช็กมีแถลงการณ์แสดงความเห็นใจชาวไทยที่ต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ของญี่ปุ่น

เปิดแฟ้มสงครามโลก จีนคิดอย่างไรเมื่อไทยเป็นศัตรู ประเทศไทย. มุมมองทางอากาศของการโจมตีของพันธมิตรบนเส้นทางรถไฟพม่า - ไทย ด้านใต้เจดีย์สามองค์ในความพยายามที่จะทำลายเสบียงและการสื่อสารของญี่ปุ่น (Copyright expired - public domain)

แต่เจียงไคเช็กต้องเปลี่ยนความคิดไม่นาน เมื่อกองทัพไทยยกทัพขึ้นไปยึดบางส่วนของรัฐฉานในพม่าแล้วผนวกเป็นสหรัฐไทยเดิม ทำให้ไทยมีพรมแดนติดกับจีนโดยตรงที่มณฑลยูนนาน กลายเป็นภัยคุกคามต่อจีนไปในทันที และรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามยังไปรับรองรัฐบาลจีนกลุ่มของวังจิงเว่ย ซึ่งเป็นหุ่นเชิดของญี่ปุ่นและเป็นศัตรูร่วมชาติอันดับหนึ่งของเจียงไคเช็ก

แต่ช่วงที่จุดจบของสงครามกำลังงวดเข้ามา เจียงไคเช็ก เปลี่ยนท่าทีอีกครั้ง มีแถลงการณ์ส่วนตัวทางวิทยุจากจุงกิง (ฉงชิ่ง) มาถีงคนไทยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2487 บอกว่า จีนไม่คิดว่าไทยเป็นศัตรู ย้ำความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง พร้อมกับรับรองเอกราชของไทย แต่คนไทยจะต้องช่วยปลดปล่อยตัวเองด้วย นี่คือแถลงการณ์ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานที่ช่วยให้ไทยพอที่จะหายใจหายคอได้ เพราะค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าญี่ปุ่นจะแพ้อย่างแน่นอน

แถลงการณ์นี้มีชื่อว่า "เพื่อนบ้านของจีนที่ถูกกดลงเป็นทาส" (China's enslaved neighbour A message to the armed forces and people of Thailand) เนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้

เปิดแฟ้มสงครามโลก จีนคิดอย่างไรเมื่อไทยเป็นศัตรู ภาพถ่ายทางอากาศของสะพานข้ามแม่น้ำแควประเทศไทยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการระเบิดทางอากาศ (Copyright expired - public domain)

ถึงทหารและพลเมืองของประเทศไทย: ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2484 เมื่อประเทศไทยลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับญี่ปุ่น ผมได้แต่หวังว่าสันติสุขจะเกิดกับพวกคุณ ผมควรจะพูดให้เร็วกว่านี้ เกี่ยวกับความจริงที่ว่าประเทศไทยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเราได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศที่กำลังทำสงครามกับจีน อย่างไรก็ตาม ผมกลับไม่ได้พูด เพราะผมเข้าใจสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างเต็มที่ประเทศของคุณประสบในเวลานั้น ในเวลานั้นผมตระหนักถึงความยากลำบากของคุณเพราะผมรู้ว่าสถานการณ์ของคุณไม่เหมือนกับที่จีนเผชิญก่อนที่เราจะรับมือกับการรุกรานของญี่ปุ่นในปี 2480

แต่ตอนนี้สถานการณ์ทั้งหมดแตกต่างจากที่เคยเป็น การต่อสู้ทั่วโลกขณะนี้ค่อยๆ เข้าสู่ขั้นเด็ดขาด แม้จะมีความพยายามที่เพิ่มขึ้นของทหารญี่ปุ่นที่จะบีบบังคับคุณและบังคับให้คุณต่อสู้เพื่อพวกเขา แต่ประเทศฝ่ายอักษะถูกไล่ต้อนในยุโรปและในเอเชีย จากการรุกรานกลายเป็นการตั้งรับและการพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าในทุกที่ วันที่คุณจะช่วยประเทศของคุณกำลังใกล้เข้ามา ขณะที่สภาพการปฏิบัติที่คุณเผชิญอยู่เมื่อปีที่แล้วเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นผมต้องการพูดกับคุณอย่างตรงไปตรงมาเพื่อช่วยให้คุณเข้าอกเข้าใจถึงความรู้สึกของจีนที่มีต่อคุณ และหลักการพื้นฐานที่เป็นแนวทางต่อชะตากรรมของจีนและนโยบายสงครามของเรา

เปิดแฟ้มสงครามโลก จีนคิดอย่างไรเมื่อไทยเป็นศัตรู สระบุรีประเทศไทย ก.ย. 1945 จ่าสิบเอกเซอิจิ โอคาดะ ทหารชาวญี่ปุ่นในขบวนพาเหรดเพื่อระบุตัวเชลยสงคราม (POWs) โอคาดะถูกตั้งข้อหาบังคับให้ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไปทำงานที่หินตก ในปี 1943 ตามเส้นทางรถไฟสายไทย - พม่า และถูกตัดสินจำคุก 10 ปี เขายังเป็นที่รู้จักกันในนาม "หมอแห่งความตาย" เขาเป็นคนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเชลยศึกหลายคนในพื้นที่หินตก ในขณะที่เขาเป็นแพทย์และจ่าสิบเอก (Copyright expired - public domain)

1. ความรู้สึกของจีนที่มีต่อประเทศไทย ตามความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์จีน - ไทยได้ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่าหนึ่งพันปี เรามีเพื่อนร่วมชาติไม่น้อยกว่าสามล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตแดนของคุณ เราถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านพี่เมืองน้องของจีนมาโดยตลอด ชาวจีนทุกคนรู้สึกผูกพันอย่างใกล้ชิดและพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างจีนและไทย จีนทุกคนปรารถนาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย คนจีนไม่เคยยอมให้การกระทำของคุณในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีผลกระทบต่อมิตรภาพดั้งเดิมของพวกเขาที่มีต่อประเทศไทย สำหรับรัฐบาลจีนและประชาชนจีนต่างตระหนักในความจริงเกี่ยวกับพันธมิตรญี่ปุ่น - ไทย ซึ่งญี่ปุ่นใช้กำลังบีบบังคับเจตจำนงเสรีของทหารและประชาชนไทยเอง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทัพไทยและประชาชนไทยจะสังเกตเห็นมิตรภาพจีนดังกล่าวในมุมมองที่แท้จริง รับรองได้เลยว่ามิตรภาพจีนที่ทหารไทยและชาวไทยยอมรับนับถือนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง

2. หลักการพื้นฐานที่นำทางชะตากรรมของจีน ความเชื่อของจีนในฐานะประชาชาตินั้นขึ้นอยู่กับหลักการสามประการของดร. ซุนยัตเซ็น ทุกประเทศในโลกควรเป็นอิสระและเท่าเทียมกันตามหลักการสามประการ ด้วยความเชื่อที่จีนมีอยู่นี้จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ด้วยความเชื่อนี้เองที่จีนได้ลงนามกับประเทศอื่นๆ อีก 25 ประเทศ ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2485 แถลงการณ์ร่วมอุทิศตนเพื่อการปลดปล่อยให้ทุกชาติอิสระจากในการถูกจองจำภายใต้ญี่ปุ่นเยอรมนีและประเทศฝ่ายอักษะอื่นๆ เพื่อพวกเขาจะได้อิสรภาพทางการเมืองกลับคืนมา ผมสามารถพูดอย่างจริงใจว่าจีนและพันธมิตรของจีนไม่มีความทะเยอทะยานในดินแดนในประเทศไทยและไม่ได้มีเจตนาที่จะบ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยและอิสรภาพของไทย สิ่งนี้จะยังคงเป็นจริงในอนาคตอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต อย่างไรก็ตามคนไทยควรตระหนักถึงความจริงที่ว่าดินแดนของพวกเขาอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น คนไทยตกเป็นทาส และอำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระของพวกเขาถูกละเมิดโดยชาวญี่ปุ่น ในขณะที่ดินแดนและเสรีภาพของประเทศไทยจะได้กลับคืนมาก้ด้วยชัยชนะของจีนและพันธมิตรของจีน

เปิดแฟ้มสงครามโลก จีนคิดอย่างไรเมื่อไทยเป็นศัตรู ชุมพร ประเทศไทย 19 มีนาคม 2488 รถไฟขนส่งน้ำมันของญี่ปุ่นถูกโจมตี จนกลุ่มควันสีดำขนาดใหญ่พุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า เพื่อขัดขวางการส่งเสบียงของญี่ปุ่นไปถึงหน้าพม่า เครื่องบินทิ้งระเบิดหนักกว่าแปดสิบลำของของกองบัญชาการกองทัพอากาศกองบัญชาการกองทัพอากาศตะวันออกได้บินข้ามมหาสมุทรอินเดียเพื่อปฏิบัติการโจมตีที่ยาวนานที่สุด (Copyright expired - public domain)

3. นโยบายสงครามของจีนเห็นว่า ด้วยกองกำลังติดอาวุธและคนไทยภายใต้การปราบปรามของญี่ปุ่น เราจึงพิจารณาประเทศไทยในนโยบายสงครามของเรา เป็นเพียงแค่เป็นดินแดนที่ข้าศึกยึดครองไม่ใช่เป็นดินแดนของศัตรู ดังนั้นจึงเป็นเครื่องจักรสงครามญี่ปุ่นไม่ใช่กองทัพและประชาชนชาวไทยที่เราพิจารณาว่าเป็นเป้าหมายของเรา จีนและพันธมิตรของจีนจะทำการโจมตีอย่างรุนแรงต่อศัตรูทันทีที่มีการโจมตีเรา คาดว่าพวกญี่ปุ่นในประเทศไทยและดินแดนใกล้เคียงจะพยายามอย่างเต็มที่ในการพยายามยื้อชะตากรรมของพวกเขาออกไป ภายใต้สภาวะสงครามเช่นนี้ทุกวันที่ผ่านไปที่ญี่ปุ่นสามารถยึดครองประเทศไทยจะส่งผลให้เกิดการเสียสละชีวิตคนไทยที่บริสุทธิ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้กองทัพไทยและประชาชนควรต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นด้วยการกระทำที่เป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับกองทัพจีนและต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเขาเพื่อกำจัดศัตรูออกจากจีนและไทยเช่นกัน นี่คือสิ่งที่ทหารผู้รักชาติและพลเมืองไทยทุกคนควรทำเพื่อประเทศของตนเอง เพื่อเอเชียตะวันออก และเพื่อโลกทั้งมวล เรามีความชอบธรรมในการคาดหวังให้คนไทยทำเช่นนั้น

โดยสรุปแล้ว สงครามนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างกองกำลังต่อต้านการรุกรานกับผู้รุกราน เป็นการต่อสู้ระหว่างความถูกต้องและอำนาจ ระหว่างแสงสว่างและความมืด ในขณะที่เราเข้าอกเข้าใจในสถานการณ์ที่ยากลำบากของคุณในอดีต เราคาดหวังอย่างจริงจังว่าตอนนี้คุณจะต้องทำหน้าที่ของคุณทันทีเพื่อความรอดของประเทศของคุณและโลกโดยรวม เราหวังว่าคุณจะเข้าใจและเห็นคุณค่าความรู้สึกแบบพี่น้องของคนจีนต่อคุณ เราหวังว่าคุณจะหวนกลับยืดหยัดอีกครั้งด้วยความมั่นคงและกล้าหาญ ด้วยความรักชาติที่สุจริตระหว่างประเทศของคุณที่ครั้งหนึ่งประเทศของคุณเคยมี และบรรลุถึงสิทธิในการเป็นปากเป็นเสียงให้ประเทศของคุณในครอบครัวสหประชาชาติหลังสงคราม

จบแถลงการณ์ของเจียงไคเช็ก (ต่อมาตีพิมพ์มนหนังสือ ใน The voice of China ; speeches of Generalissimo and Madame Chiang Kai-shek)

เปิดแฟ้มสงครามโลก จีนคิดอย่างไรเมื่อไทยเป็นศัตรู สัตหีบ ประเทศไทย 1 มิถุนายน 2488 ภาพมุมมองระดับต่ำจากหนึ่งในเครื่องบิน RAF Liberator ที่เข้าโจมตีเรือในอ่าวไทย แสดงให้เห็นมีเรือบรรทุกสินค้าขนาด 250 ฟุตเกิดเพลิงลุกไหม้ข้างหน้าพร้อมกับควันดำจำนวนหนึ่งที่พุ่งขึ้นจากลำ

หลังจากที่เจียงไคเช็กมีแถลงการณ์นี้ออกไป อีกเพียงไม่กี่วันต่อมา ประธานาธิบดีรูสเวลต์ของสหรัฐก็มีแถลงการณ์รับรองเอกราชของชาติไทยเช่นกัน และต่อมากระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรก็เสนอต่อรัฐบาลว่าควรจะมีแถลงการณ์ในลักษณะเดียวกัน แต่นาบยกรัฐมนตรีเชอร์ชิลปัดตกไป เพราะเห็นว่าควรจะวางมาตรการบางอย่างต่อไทยไว้ก่อน (ดู Stowe หน้า 264)

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของเจียงไคเช็กคือจุดเริ่มที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับว่าไทยไม่ใช่ผู้แพ้สงคราม เพียงแต่ถูกญี่ปุ่นข่มขี่เท่านั้น และมีเอกราชกับเสรีภาพเต็มที่ ความสำเร็จนี้ต้องยกคุณความดีให้กับขบวนการเสรีไทยฝ่ายต่างๆ ทั้งสายสหรัฐและอังกฤษ รวมถึงผู้แทนลับที่รัฐบาลไทยส่งไปเจรจากับจีนด้วย

บทความพิเศษโดยกรกิจ ดิษฐาน ผู้เขียนหนังสือ "สงครามกลางเมืองจีน" 

อ้างอิง

Chiang Kai-shek. (1944). The voice of China ; speeches of Generalissimo and Madame Chiang Kai-shek between December 7, 1941, and October 10, 1943, including some recent messages to British leaders and the British people. London,: Chinese Ministery of Information, London Office. 

Stowe, Judith A. (1991). Siam Becomes Thailand: A Story of Intrigue. London,: Hurst & Company.