posttoday

คนออนไลน์เปลี่ยนพฤติกรรมห่วงข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล

07 ธันวาคม 2562

ผลสำรวจความคิดเห็นเผยผู้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โลกออนไลน์เนื่องจากกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

ผลสำรวจความคิดเห็นเผยผู้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โลกออนไลน์เนื่องจากกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

การสำรวจความคิดเห็นประชาชนขององค์กรนิรโทษกรรมสากล (AI) พบว่าผู้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ เนื่องจากความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว โดย 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 10,000 คนจาก 9 ประเทศ อาทิ บราซิล อินเดีย สหรัฐ อียิปต์ หลีกเลี่ยงการใช้คำค้นหาที่เฉพาะเจาะจงหรือเว็บเพจบางเว็บเพจ เพื่อไม่ให้ถูกติดตามเก็บข้อมูล

นอกจากนี้ 7 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามยังกังวลว่าจะถูกบริษัทเทคโนโลยีเก็บข้อมูลส่วนตัวและนำไปใช้ไม่เหมาะสม ขณะที่ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกังวลว่าการใช้อินเทอร์เน็ตจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว

ด้านสมาคมอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทเทคโนโลยี รวมทั้งเฟซบุ๊คและกูเกิล ยังไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ๆ โดยเฉพาะผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ต้องเผชิญข้อกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางมิชอบและไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ เช่นกรณีของเฟซบุ๊คที่ละเลยให้บริษัทเคมบริดจ์ แอนาลิติกา (Cambridge Analytica) นำข้อมูบลส่วนตัวของผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามยังเผยอีกว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์ของเฟซบุ๊คก็เพิ่มความระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลส่วนตัว เช่น อายุ เพศ รสนิยมทางเพศ และกว่า 30% เผยว่าได้ใช้เครื่องมือดิจิทัลช่วยในการจำกัดการติดตามทางออนไลน์แล้ว

นอกจากนี้ 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าต้องการให้รัฐบาลออกกฎควบคุมบริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันนี้มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่มีการควบคุม อาทิ เยอรมนี เดนมาร์ก นอร์เวย์ และฝรั่งเศส ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้รับการปกป้องจากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (GDPR) ของสหภาพยุโรป ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2018