posttoday

นักการเมืองสายม็อบปลุกประชาธิปไตยรับใช้ตัวเอง

02 ธันวาคม 2562

นักการเมืองผู้นำม็อบ หรือ เดมะก็อก (Demagogue) หมายถึงผู้นำฝูงชนที่ปลุกเร้าให้คนจำนวนมากก่อการวุ่นวาย โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยโน้มน้าวด้วยวาทะศิลป์ที่ลำเอียง บิดเบือนความจริง และยัดข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้คนธรรมดารู้สึกต่อต้านชนชั้นนำ

นักการเมืองผู้นำม็อบ หรือ เดมะก็อก (Demagogue) หมายถึงผู้นำฝูงชนที่ปลุกเร้าให้คนจำนวนมากก่อการวุ่นวาย โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยโน้มน้าวด้วยวาทะศิลป์ที่ลำเอียง บิดเบือนความจริง และยัดข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้คนธรรมดารู้สึกต่อต้านชนชั้นนำ

ไรน์ฮาร์ด ลูธิน (Reinhard Luthin) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน นิยามนักการเมืองผู้นำม็อบเอาไว้ว่า

"ผู้นำม็อบคืออะไร? เขาเป็นนักการเมืองที่มีทักษะในการปราศรัย ใช้ทั้งคำเยินยอและคำหยาบคาย รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหางในการอภิปรายประเด็นสำคัญ มักให้คำมั่นสัญญาไปเรื่อยเพื่อให้ความหวังกับทุกคน ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลของมหาชน และปลุกเร้าอคติทางเชื้อชาติ ทางศาสนา และชนชั้น คนแบบนี้มีความต้องการอำนาจโดยไม่ต้องอาศัยหลักการ ชักนำให้เขาแสวงหาความเป็นผู้นำแห่งมวลชน นานหลาสยศตวรรษแล้วที่คนประเภทนี้ฝึกฝนทักษะของการเป็น 'คนของประชาชน' เป็นผลผลิตของขนบทางการเมืองที่เก่าแก่พอๆ กับอารยธรรมตะวันตกนั่นเอง"

อารยธรรมตะวันตกที่ลูธินเอ่ยถึง คือระบอบประชาธิปไตยที่มีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ แต่ตั้งแต่ยุคนั้นแล้วที่มีคนใช้วาทะศิลป์ปลุกเร้าให้ประชาชนละทิ้งความมีเหตุมีผลแล้วหันมาใช้อารมณ์ตัดสินชะตากรรมของบ้านเมือง

ประเทศประชาธิปไตยต้นแบบอย่างสหรัฐก็พบปัญหาคนที่ชักนำประชาชนแบบผิดๆ อยู่บ่อยๆ และมีนักคิดติติงเรื่องนี้มาเป็นร้อยปีแล้ว เช่น เจมส์ เฟนิมอร์ คูเปอร์ (James Fenimore Cooper) ที่เขียนบทความเรื่อง "ว่าด้วยผู้นำม็อบ" (On Demagogues) โดยนิยามความหมายของคำว่า ผู้นำม็อบ (demagogue) ไว้ว่า "ผู้นำแห่งการปลุกปั่น" เขาบอกว่า

"ลักษณะพิเศษของผู้นำม็อบก็คือการกอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเอง โดยทำเป็นอุทิศตนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างลึกซึ้ง บางครั้งก็มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้คนชั่วร้าย ไร้หลักการและเห็นแก่ตัวให้ทำประโยชน์ให้ตัวเองแล้วทำร้ายผู้อื่น เวทีแสดงละครตบตาของผู้นำม็อบคือระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาชนคือผู้ที่ถืออำนาจ เป็นนายที่เขาแสร้งเป็นบ่าวคอยรับใช้อย่างดีที่สุดเพื่อที่เขาจะกอบโกยที่ลงทุนลงแรงไป ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแยกให้ออกระหว่างคนที่ทำงานหนักเพื่อประชาชนเพื่อประโยชน์ของคนทั่วไป กับคนที่ลงแรงเพื่อประชาชนแต่หวังที่จะกอบโกยเข้าตัวเอง"

คูเปอร์ ได้แนะนำวิธีแยกนักการเมืองเพื่อประชาชนกับนักการเมืองที่ตบตาว่าเป็นคนของประชาชนเอาไว้ดังต่อไปนี้

1. บอกว่าตัวเองเป็นคนของสามัญชนคนทั่วไป และเป็นผู้ที่ต่อต้านชนชั้นนำ (ซึ่งไม่ได้หมายถึงชนชั้นสูงศักดิ์ แต่หมายถึงผู้นำประเทศทั่วๆ ไป)

2. คนพวกนี้พยายามที่จะใกล้ชิดกับประชาชนสนิทสนมจนผิดสังเกต ต่างจากนักการเมืองอื่นๆ ที่จะเข้าถึงประชาชนอย่างดูเป็นธรรมชาติ

3. เมื่อสนิทสนมกับประชาชนแล้ว ก็จะใช้โอกาสนี้กอบโกยคะแนนนิยมเพื่อที่จะใช้ผลักดันตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายที่หวังไว้

4. คนพวกนี้มักจะขู่ที่ทำลายกฎระเบียบ สถาบันการปกครอง หรือแม้แต่กฎหมายที่มีอยู่เดิม

งานเขียนของ เจมส์ เฟนิมอร์ คูเปอร์ แม้จะผ่านมาถึง 100 กว่าปีแล้ว (เขียนในปี 1838) แต่ยังคงใช้ได้ดีในปัจจุบัน เพราะโลกไม่เคยร้างจากนักการเมืองจอมตบตาที่ทำให้ประชาชนคิดว่าเขาคือผู้กอบกู้