posttoday

คนไต้หวัน ต้องสร้างสรรค์ ต้องเป็นสากล

01 ธันวาคม 2562

ทุกวันนี้ แม้ว่าไต้หวันจะใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ แต่ไต้หวันก็ส่งเสริมให้คนของตนพัฒนาขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เพื่อเชื่อมต่อกับโลกสากลอย่างกว้างขวางมากขึ้น และเพื่อดึงดูดให้คนเก่งๆ อยากเข้ามาทำงานที่ไต้หวัน

คนไทยส่วนใหญ่ จะรู้ว่าไต้หวันเป็นปลายทางท่องเที่ยวที่อยู่ในกระแสนิยม สำหรับคนที่ชอบท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ หรือชอบความเก๋ไก๋ แปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร ดังนั้น ถ้าถามเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว หรือถามเรื่องอาหารการกินของไต้หวัน เชื่อว่าจะมีข้อมูลอยู่ทั่วไปในเวบไซต์ หรือในบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว แต่เรื่องที่คนไม่ค่อยรู้คือ คนไต้หวันเป็นอย่างไร ซึ่งบางคนก็เข้าใจผิดไปว่าคนไต้หวันก็คือคนจีนนั่นแหละ หรือบางคนเคยบอกว่าคนไต้หวันมีความเป็นจีนผสมกับญี่ปุ่น หรือบางคนก็บอกว่าคนไต้หวันก็เหมือนชาวฮ่องกง คือเป็นคนจีนที่มีความเป็นสากล แต่ถ้าลองไปถามคนไต้หวันโดยตรง เกือบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “คนไต้หวัน ก็คือคนไต้หวัน คนไต้หวันไม่ใช่คนจีน คนไต้หวันไม่เหมือนญี่ปุ่น และคนไต้หวันก็ไม่เหมือนคนฮ่องกง......”

ไต้หวันเคยตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นถึง 50 ปี จึงยังคงมีร่องรอยของวัฒนธรรมญี่ปุ่นแทรกตัวอยู่บ้าง และแม้ว่าคนไต้หวันจะเป็นเชื้อสายจีนฮั่น เหมือนจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็จะมีความแตกต่างทาง แนวคิดอย่างมาก เพราะไต้หวันเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่เป็นสังคมนิยม ดังนั้น กระบวนคิดและมุมมองของคนไต้หวัน จึงแตกต่างจากคนจีนแผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง และอีกเรื่องที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ คือ เด็กไต้หวันเรียนหนังสือเก่งมาก ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มข้นและคุณภาพการศึกษาของไต้หวัน

คนไต้หวัน ต้องสร้างสรรค์ ต้องเป็นสากล

ผลลัพธ์ด้านการศึกษาที่ดีของไต้หวัน คงเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากรากฐานที่ญี่ปุ่นทิ้งไว้ให้สมัยที่เข้ามาครอบครองไต้หวันร่วม 50 ปี บวกกับการเมืองระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ทำให้ไต้หวัน พยายามให้โลกจดจำว่า ไต้หวันก็คือไต้หวัน ไต้หวันไม่ใช่ประเทศจีน(แผ่นดินใหญ่) และคนไต้หวันก็คือคนไต้หวัน (Taiwanese) ซึ่งต่างจากคนจีน (Chinese)

ช่วงปี ค.ศ. 1895-1945 เป็นยุคที่ไต้หวัน ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องดี แต่รากฐานการพัฒนาหลายๆอย่าง ก็เกิดขึ้นในยุคนั้น เรื่องแรกมีจุดเริ่มต้นจากการที่กองทัพญี่ปุ่น ต้องการพัฒนาให้ไต้หวันเป็นพื้นที่ปลูกข้าว เพื่อส่งกลับไปยังประเทศของตน จึงมีการจัดทำระบบชลประทานและพัฒนาพื้นที่ให้สามารถเพาะปลูกได้ ดังเช่นปัจจุบัน เรื่องที่สอง ก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นธุรกิจหลักของไต้หวัน ณ ปัจจุบันนี้ ก็มีจุดเริ่มต้นขึ้นในสมัยอาณานิคมเช่นกัน

ส่วนเรื่องที่สาม คือ การวางรากฐานการศึกษา โดยสมัยนั้น ญี่ปุ่นได้กำหนดการศึกษาภาคบังคับ 6 ปี และจัดตั้งสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ไต้หวันสามารถพัฒนาระบบการศึกษามาได้จนถึงทุกวันนี้ และยังส่งผลให้คนไต้หวันมีอัตราการรู้หนังสือสูงเกือบ 100 %

นอกจากการวางรากฐานการศึกษาที่ยาวนานตั้งแต่สมัยอาณานิคมแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง ที่เชื่อว่าส่งผลต่อการพัฒนาของไต้หวัน นั่นก็คือเรื่องการเมืองระหว่างรัฐบาลจีน กับคนไต้หวัน ซึ่งประเด็นนี้ ก็มีที่มาจากการต่อสู้ทางความคิดของสองพรรคใหญ่ในประเทศจีน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นการต่อสู้กันระหว่าง พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ฝั่งเหมาเจ๋อตุง) กับพรรคก๊กมินตั๋ง (ฝั่งเจียงไคเช็ค) ที่ทำให้เกิดรัฐบาลพลัดถิ่น ของพรรคก๊กมินตั๋ง ในไต้หวัน จนสถาปนาสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ขึ้นบนเกาะไต้หวัน ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์จีนบนแผ่นดินใหญ่ ก็สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น (People’s republic of China) กลายเป็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อในสิทธิความเป็นรัฐบาล ที่ชอบธรรมของตน ทำให้คนไต้หวันเชื่อว่า ตนไม่ควรอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลจีน ในขณะที่จีน ก็เชื่อว่า ไต้หวันยังคงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน

คนไต้หวัน ต้องสร้างสรรค์ ต้องเป็นสากล เด็กไต้หวันมีความเก่งวิทยาศาสตร์และคณิตศาตร์อย่างโดดเด่น

วันเวลาผ่านไป ทั้งสองฝั่ง ก็พัฒนาจนมาถึงปัจจุบัน ที่จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ส่วนไต้หวันก็พัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการปกครองของตนเอง จนมีประชาธิปไตยที่รุ่งเรือง จีนกับไต้หวันจึงไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน หรือไต้หวันเป็นประเทศ ก็ยังไม่ได้มีความชัดเจน

อำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีน ทำให้มีเพียงบางประเทศในโลกเท่านั้น ที่ยอมรับสถานะว่าไต้หวันเป็นประเทศ ดังนั้น ไต้หวันจึงพยายามให้โลกยอมรับและจดจำว่า ไต้หวันไม่ใช่จีน, คนไต้หวันก็ไม่ใช่คนจีน, ไต้หวันมีรัฐบาลของตนเอง, ไต้หวันมีการปกครองของตนเอง และไต้หวันมีวัฒนธรรมของตนเอง

จากปัจจัยต่างๆ ทำให้คนไต้หวันถูกบ่มเพาะให้เป็นคนเก่ง มีความรักชาติ เป็นคนใฝ่รู้ มีความเป็นสากล มีความกระตือรือล้น มุ่งมั่นและขยันขันแข็ง ซึ่งบุคลิกทั้งหมดถูกหล่อหลอม ผ่านระบบการศึกษา อันเป็นแบบฉบับของตนเอง

ถ้าย้อนหลังกลับไปในช่วงปลายทศวรรษ 1980s จะเป็นยุคที่เศรษฐกิจของไต้หวัน เติบโตอย่างต่อเนื่องจากภาคอุตสาหกรรม จนไดัชื่อว่าเป็นหนึ่งในสี่เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย (ร่วมกับ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) โดยเน้นส่งออกสินค้าไฮเทคเป็นหลัก ส่งผลให้ตลาดแรงงาน มีความต้องการคนเก่ง ที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เด็กนักเรียนของไต้หวันจึงแข่งขันกันเรียนสายวิทย์ เพื่อได้โอกาสในการเข้าทำงานในบริษัทที่มั่นคง เป็นเหตุให้เด็กไต้หวันมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

คนไต้หวัน ต้องสร้างสรรค์ ต้องเป็นสากล คนไต้หวันมีอัตราการรู้หนังสือสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็น

ความเก่งวิทย์เก่งคณิตของเด็กไต้หวัน เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน จากผลการสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติ (PISA) ในปี 2006 ซึ่งเป็นปีที่ไต้หวันเข้าร่วมทดสอบเป็นครั้งแรก ผลปรากฎว่าครั้งนั้น เด็กนักเรียนไต้หวันทำคะแนน วิชาคณิตศาสตร์ได้เป็นอันดับที่ 1 ทำคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ได้เป็นอันดับที่ 4 ส่วนทักษะวิชาการอื่น อยู่อันดับที่ 16 ดังนั้น เรื่องของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น เด็กไต้หวันไม่แพ้ใครในโลกแน่นอน

ในขณะเดียวกัน ผลคะแนนที่ออกมา ก็ทำให้ไต้หวันตระหนักว่า เด็กไต้หวันจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งาน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากฝึกให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์เป็นนิสัยเสียก่อน

ประกอบกับ รัฐบาลก็เริ่มตระหนักว่า อุตสาหกรรมของไต้หวัน อาจถึงทางตัน ถ้ายังขาดการใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไต้หวันจึงพยายามแสดงตัวอย่าง ให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า ความสร้างสรรค์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับต้นทุนเดิมๆ ได้ จะเห็นได้จาก มีการจัดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของไต้หวัน ที่พัฒนาจากสถานที่ธรรมดา หรือโรงงานที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว นำมาปรับแต่ง และจัดแสดงอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจขึ้นมา

จากแนวคิดการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ทำให้เกิดประโยชน์ 2 ด้านกับไต้หวัน ประโยชน์ด้านแรกคือ คนไต้หวันจะได้ซึมซับกับบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์ อาจช่วยกระตุ้นให้อยากคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาบ้าง ส่วนประโยชน์อีกด้านหนึ่ง ก็จะช่วยสร้างภาพให้กับนักท่องเที่ยวจดจำว่า “นี่แหละ คือไต้หวัน” เพราะต้องไม่ลืมว่า ไต้หวันต้องการให้โลกยอมรับว่าไต้หวันคืออีกหนึ่งประเทศ

คนไต้หวัน ต้องสร้างสรรค์ ต้องเป็นสากล ไต้หวัน มีชื่อทางการว่าสาธารณรัฐจีน

ทุกวันนี้ แม้ว่าไต้หวันจะใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ แต่ไต้หวันก็ส่งเสริมให้คนของตนพัฒนาขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เพื่อเชื่อมต่อกับโลกสากลอย่างกว้างขวางมากขึ้น และเพื่อดึงดูดให้คนเก่งๆ อยากเข้ามาทำงานที่ไต้หวัน เหมือนที่คนทั่วโลกตัดสินไปทำงานสิงคโปร์ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีข้อจำกัดด้านการสื่อสาร ทั้งนี้รัฐบาลไต้หวันตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ไต้หวันจะเข้าสู่การเป็นประเทศสองภาษาให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะต้องให้เด็กนำไปใช้ได้จริง

สรุปว่า คนไต้หวันมีลักษณะเด่น แบบเดียวกับที่หลายๆประเทศอยากได้และอยากให้เป็น นั่นก็คือ (1) เป็นคนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2) เป็นคนรักชาติ (3) เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ (4) เป็นคนที่มีขีดความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ดังนั้น ต่อให้ต่างชาติจะเชื่อในสถานะความเป็นประเทศหรือไม่ แต่รับรองว่า พวกเขาเชื่อในคุณภาพของคนไต้หวันได้อย่างแน่นอน

คนไต้หวัน ต้องสร้างสรรค์ ต้องเป็นสากล