posttoday

เจาะลึกพิธีไดโจไซ ขั้นตอนลึกลับที่สุดในงานราชาภิเษกญี่ปุ่น

14 พฤศจิกายน 2562

เป็นกระบวนการที่ลึกลับที่สุดและใช้งบประมาณมากที่สุด จึงเป็นขั้นตอนในงานพระราชพิธีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดด้วย โดยกรกิจ ดิษฐาน

ระบวนการที่ลึกลับที่สุดและใช้งบประมาณมากที่สุด จึงเป็นขั้นตอนในงานพระราชพิธีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดด้วย โดยกรกิจ ดิษฐาน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดินารูฮิโตะแห่งญี่ปุ่นไม่ได้จบลงที่งานพระราชพิธีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2019 แต่ระหว่างวันที่ 14 - 15 พฤศจิกายน ยังมีอีกพระราชพิธีหนึ่งที่สำคัญมากเรียกว่า ไดโจไซ (Daijosai) เป็นกระบวนการที่ลึกลับที่สุดและใช้งบประมาณมากที่สุด จึงเป็นขั้นตอนในงานพระราชพิธีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดด้วย

พิธีนี้มีกระบวนการยาวนาน โดยเริ่มที่การปลูกข้าวหลวงและเกี่ยวข้าวหลวง จากนั้นนำข้าวที่ได้ไปทำเป็นข้าวปรุงอาหารและหมักเหล้าสาเกถวายเทพเจ้า พิธีการช่วงนี้เรียกว่า "ไดโจคิว โนะ งิ" โดยจะจัดขึ้นในศาลเจ้าชินโตชั่วคราวที่เรียกว่าไดโจคิว ซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นพิเศษในอุทยานฟากตะวันออกของพระราชวังหลวงในกรุงโตเกียว ตัวศาลเจ้าประกอบด้วยอาคารเกือบ 30 หลังซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 6,500 ตารางเมตร เมื่อประกอบพิธีเสร็จแล้วจะทำการเผาทิ้ง

ในยุคโบราณไดโจคิวจะใช้เวลาสร้างเพียง 5 วัน และต้องเสร็จก่อนงานพิธี 1 วัน แต่ในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงต้องใช้เวลาเตรียมการนานหลายเดือน

ผังของศาลไดโจคิวประกอบไปด้วย 1. ยุกิเด็ง เป็นศาลหลักทางตะวันออก 2. สุกิเด็ง เป็นศาลหลักด้านตะวันตก เป็นที่ตั้งบัลลังก์ของเทพเจ้าและที่ถวายเครื่องสังเวย และ3. ไดคิวเด็ง เป็นหอเปลื้อง หรือสถานที่จักรพรรดิทรงสรงน้ำแล้วเปลี่ยนฉลองพระองค์เพื่อเข้าพิธี นอกจากนี้ยังมีอาคารบริหารอีกหลายหลัง

เจาะลึกพิธีไดโจไซ ขั้นตอนลึกลับที่สุดในงานราชาภิเษกญี่ปุ่น Photo by STR / Japan Pool via Jiji Press / AFP

การที่ศาลแแบ่งออกเป็นฝ่ายตะวันออก (ยุกิเด็ง) และฝ่ายตะวันตก (สุกิเด็ง) เพื่อสะท้อนว่ามีข้าวจากแปลงนาหลวง 2 แห่ง นาหลวงเรียกว่า ไซตะซึ่งจะคัดเลือกจากเมืองตามทิศนั้นๆ เช่น ฝ่ายตะวันตกจะเลือกจากมณฑลคิไน เช่นยามาโตะ ซึ่งเป็นมณฑลศูนย์กลางของญี่ปุ่นแต่โบราณ (ปัจจุบันยามาโตะอยู่ในจังหวะนาระ) แต่หลังจากายุคสมัยใหม่ ได้คัดเลือกข้าวจากนาหลวงทั่วประเทศ

วิธีการคัดเลือกไซตะ จะทำโดยการเสี่ยงทายโดยกระดองเต่า ซึ่งเป็นพิธีเสี่ยงทายยุคดึกดำบรรพ์ อันที่จริงแล้วพิธีไดโจไซเป็นพิธีที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างแบบยุคโบราณก่อนที่ญี่ปุ่นจะได้รับอิทธิพลจากจีน เช่น ตัวศาลก็สร้างแบบญี่ปุ่น มีการยกพื้นสูง หลังคามุงหญ้า ภาชนะก็เป็นดินเผาไม่เคลือบ และเมื่อเสร็จพิธีต้องรื้อศาลท้ิง ในสมัยก่อนนั้นต้องเผาทิ้ง เช่นเดียวกับในยุคโบราณเมื่อจักรพรรดิสวรรคตแล้วจะรื้อวังหลวงแล้วย้ายเมืองหลวงไปเรื่อยๆ 

ในรัชกาลนี้ ข้าวไซตะนาหลวงตะวันออกมาจากเมืองทาเคาเนซาวา จังหวัดโทชิงิ ส่วนนาหลวงตะวันตกมาจากหมู่บ้านโทมิโนะโช จังหวัดเกียวโต

เจาะลึกพิธีไดโจไซ ขั้นตอนลึกลับที่สุดในงานราชาภิเษกญี่ปุ่น Photo by STR / Japan Pool via Jiji Press / AFP

เมื่อถึงเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น สมเด็จพระจักรพรรดิจะเสด็จมายังศาลเจ้า ฉลองพระองค์ผ้าไหมสีขาวแบบโบราณาญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ที่สุด เจ้าพนักงานกั้นฉัตรแบบโบราณเรียกว่าโอคังไง นำหน้าโดยเจ้าพนักงานในเครื่องแต่งกายแบบโบราณถือโคมไฟ ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดินีทรงติดตามมาอยู่ในฉลองพระองค์สีขาว 12 ชั้นที่เรียกว่าจูนิฮิโตเอะ

เมื่อจักรพรรดิเสด็จเข้าไปในศาลเจ้าแล้วคนภายนอกจะไม่ทราบว่าด้านในเกิดอะไรขึ้น แต่จะเห็นการตามประทีปภายในให้มีแสงสลัว เมื่อถึงด้านในแล้ว จักรพรรดิทรงประทับนั่งข้างๆ เสื่อขลิบขอบสีขาว มีข้ารับใช้สตรีของศาลเจ้า 2 คนติดตามเข้าไปเท้านั้น จากนั้นจะทรงเริ่มถวายเครื่องสังเวยแด่เทพีแห่งดวงอาทิตย์ คืออามาเตระสุ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของจักรพรรดิญี่ปุ่นทุกพระองค์ เครื่องถวายนั้นใส่บนจานที่ทำจากใบไม้โอ๊ค 32 จาน 

เมื่อถวายแล้ว จักรพรรดิทรงสวดอ้อนวอนให้ประเทศเกิดความสงบสุข จากนั้นจักรพรรดิจะทรงร่วมเสวยเครื่องสังเวย คือข้าวกับธัญญาหารและเหล้าสาเกร่วมกับเทพีแห่งดวงอาทิตย์ ระหว่างนั้นมโหรีขับกล่มอบรรเลง ช่วงเวลานี้กินเวลานาน 2 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อเสร็จแล้ว จักรพรรดิจะเสด็จไปยังศาลหลังอื่นๆ ของเทพเจ้าองค์อื่นๆ แล้วเสวยร่วมแบบเดียวกัน รวมแล้วกว่าพิธีจะแล้วเสร็จกินเวลาถึง 03.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น แล้วจะเสด็จออกมาในช่วงเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น

เจาะลึกพิธีไดโจไซ ขั้นตอนลึกลับที่สุดในงานราชาภิเษกญี่ปุ่น Photo by STR / Japan Pool via Jiji Press / AFP



พิธีนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงความผูกพันระหว่างเทพีแห่งดวงอาทิตย์กับทายาทของพระนางคือจักรพรรดิญี่ปุ่นทุกพระองค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความอุดมสมบูรณ์ของรัชกาลใหม่

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ "นิฮงโชงิ" ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ยุคต้นของญี่ปุ่น กล่าวถึงพิธีไดโจไซครั้งแรกในรัชสมัยของจักรพรรดิเซเน (ค.ศ. 480-484) เกี่ยวโยงกับพิธีเก็บเกี่ยวข้าวหลวงโดยจักรพรรดิเพื่อขอบคุณเทพเจ้าที่ประทานความอุดมสมบูรณ์มาให้ มักจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นพิธีนี้จึงไม่ได้เกี่ยวกับเทพีแห่งดวงอาทิตย์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งฟ้าและดินทั้งหมด หรือที่เรียกว่า "เทนจิ ชิงิ"

อย่งไรก็ตาม พิธีนี้ขาดช่วงไปนานหลายร้อยปีในยุคแห่งสงคราม จนมีการรื้อฟื้นขึ้นในปี 1600 โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสดงว่าจักรพรรดิทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งประเทศ เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้วได้เริ่มต้นพิธีนี้อีกครั้งในปี 1909

เจาะลึกพิธีไดโจไซ ขั้นตอนลึกลับที่สุดในงานราชาภิเษกญี่ปุ่น Photo by STR / Japan Pool via Jiji Press / AFP

หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าจักรพรรดิมิได้ทรงเป็นเทพเจ้า เพราะลัทธิบูชาจักรพรรดิเป็นเทพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดลัทธิชาตินิยมทางทหาร นำไปสู่การรุกรานดินแดนต่างๆ ในเอเชีย ดังนั้น พิธีกรรมใดๆ ก็ตามที่เชื่อมโยงจักรพรรดิกับสถานะการเป็นทายาทแห่งเทพพีแห่งดวงอาทิตย์ จึงถูกวิจารณ์และตำหนิว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและปลุกแนวคิดบูชาจักรพรรดิเยี่ยงเทพเจ้า

ในพระราชพิธีครั้งนี้ มีเสียงวิจารณ์หนาหูเป็นพิเศษจากขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมถึงกลุ่มชาวคริสเตียน ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่า พิธีไดโจไซเป็นการละเมิดหลักการการแยกศาสนาออกจากรัฐตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะพิธีนี้เป็นงานพิธีตามศาสนาชินโต แต่รัฐบาลกลับจ่ายเงิน 2.7 พันล้านเยน (25 ล้านดอลลาร์) เพื่อใช้ในพระราชพิธีนี้

เจาะลึกพิธีไดโจไซ ขั้นตอนลึกลับที่สุดในงานราชาภิเษกญี่ปุ่น Photo by STR / Japan Pool via Jiji Press / AFP

เรื่องงบประมาณก็เป็นอีกประเด็นที่ถูกวิจารณ์ เฉพาะค่าก่อสร้างศาลเจ้าชั่วคราวเป็นเงินถึง 957 ล้านเยน แม้ว่าจะลดจากขนาดเดิมที่สร้างขึ้นในงานพระราชพิธีไดโจไซของรัชกาลก่อนเมื่อปี 1990 แล้วก็ตาม ยังไม่นับค่ารื้อถอนและค่าปรับปรุงสถานที่ให้กลับมาดังเดิม

ศาลเจ้าไดโจคิว จะเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมฟรีระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายนถึง 8 ธันวาคมก่อนที่จะถูกรื้อถอนตามธรรมเนียม จากนั้นรัฐบาลจะนำอุปกรณ์ก่อสร้างไปใช้ในโครงการป้องกันภัยธรรมชาติและสวนสาธารณะ