posttoday

เบื้องลึกเขมรขบถ คิดใช้ไทยเคลื่อนไหวล้มฮุน เซน

07 พฤศจิกายน 2562

คำถามก็คือคนเหล่านี้กำลังคิดทำอะไรถึงได้เคลื่อนไหวพร้อมๆ กัน จนลำบากทั้งไทยและมาเลซีย โดยกรกิจ ดิษฐาน

บทวิเคราะห์สถานการณ์ระทึกโดย กรกิจ ดิษฐาน

หลังเสร็จสิ้นการประชุมอาเซียนซัมมิต อาเซียนก็เกิดเรื่องวุ่นแทบจะในทันที เรื่องแรกคือเหตุสังหารหมู่ 15 ศพที่ภาคใต้ของไทย ตามด้วยความพยายามของฝ่ายค้านกัมพูชาที่จะกลับประเทศ ซึ่งก็วุ่นมาถึงไทยอีก เพราะต้องการจะอาศัยแผ่นดินไทยมาปักหลักก่อนเข้ากัมพูชาเพื่อการเคลื่อนไหวต่อต้าน ฮุน เซนในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นวันที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จนทำให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยต้องยืนยันว่าจะไม่ให้เข้ามา

ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาที่ว่าคือ สม รังสี ที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส

สม รังสี เป็นฝ่ายค้านมืออาชีพที่เป็นคู่ฟัดคู่เหวี่ยงกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ฮุน เซนจนต้องลี้ภัยมาแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดในปี 2016 หลังถูกดำเนินคดีในข้อหากล่าวหาฮุน เซนว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และต้องอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสนับแต่นั้น ถึงแม้จะอยู่ต่างแดนแต่สม รังสี ยังไม่สิ้นบารมีในฐานะแกนนำฝ่าย

หลังจากที่สม รังสีเผ่นไปแล้ว กัมพูชาเหลือพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลักคือพรรคสงเคราะห์ชาติ หัวหน้าพรรคคือ กึม สุขา แต่ในปี 2017 รัฐบาลกล่าวหาว่า กึมผู้แกนนำพรรคฝ่ายค้านว่ามีการกระทำอันเป็นขบถโดยร่วมมือกับสหรัฐเพื่อโค่นล้มรัฐบาลฮุน เซ็น นอกจากนี้ยังอ้างว่ากึม สุขา ปลุกระดมประชาชนให้ประท้วงรัฐบาลโดยกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้งในปี 2013

เมื่อศาลตัดสินว่าข้อกล่าวหาของรัฐบาลมีมูล ฮุน เซนจึงกวาดล้างพรรคสงเคราะห์ชาติ กึม สุขาถูกจับขังคุกแล้วปล่อยตัวมาถูกควบคุมตัวในบ้านพัก ส่วนจนสมาชิกถูกจับและลี้ภัยไปต่างประเทศมากมาย หนึ่งในนั้นมีชื่อว่า มูร สุขฮวา  

ในปี 2018 พวกฝ่ายค้านพลัดถิ่นจึงรวมตัวกันจัดตั้งขบวนการสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Movement) โดยมีสม รังสี เป็นประธาน แต่รัฐบาลกัมพูชาระบุว่าขบวนการนี้เป็น "ผู้ก่อการร้าย"

ขบวนการสงเคราะห์ชาติร่ำๆ จะกลับมาเคลื่อนไหวที่กัมพูชาอยู่พักใหญ่แล้ว จนกระทั่งสบโอกาสหลังการประชุมอาเซียนซัมมิตจึงเริ่มทะยอยกันออกมาเตรียมเข้ากัมพูชาจากไทย

กรณีนี้ยังทำให้มาเลเซียก็ต้องวุ่นวายกับไทยด้วยทั้งเรื่องปัญหาภาคใต้และเรื่องกัมพูชา เพราะมีสมาชิกฝ่ายค้านกัมพูชา 2 คนที่พยายามขอลี้ภัย เกิดอยากจะกลับประเทศขึ้นมาพร้อมๆ กับสม รังสีเสียอย่างนั้น แถมยังคิดที่จะมาตั้งต้นที่ไทยก่อนด้วย ทางการมาเลเซียจึงทำการควบคุมตัวสมาชิกฝ่ายค้านกัมพูชาทั้ง 2 คนไปเมื่อวันจันทร์ และเตรียมที่จะส่งตัวกลับประเทศแต่ดีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงหมาดไทยมาเลเซียถอนคำร้องไปก่อน

แต่หมดเรื่อง 2 รายนี้ไปแล้ว ยังมีแกนนำฝ่ายค้านกัมพูชาอีกรายซึ่งอยู่ที่อินโดนีเซีย ชื่อว่า มูร สุขฮัว จู่ๆ ก็อยากจะกลับบ้านเกิดเเหมือนกัน โดยระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิตที่กรุงเทพ มูร สุขฮัวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยแต่ถูกส่งตัวกลับ แต่ต่อมาเดินทางเข้าไปยังอินโดนีเซีย หลังจากนั้นไม่กี่วันก็เดินทางจากอินโดนีเซียมายังมาเลเซีย แต่ทันทีที่มาถึงก็ถูกรวบตัวไว้อีกราย หลังจากที่เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำอินโดนีเซียได้ร้องขอให้จับกุมเธอในฐานที่เป็นอาชญากรผู้หลบหนีการจับกุม

คำถามก็คือคนเหล่านี้กำลังคิดทำอะไรถึงได้เคลื่อนไหวพร้อมๆ กัน จนลำบากทั้งไทยและมาเลซีย?

ก่อนจะมาถึงมาเลเซีย มูร สุขฮัวตั้งโต๊ะแถลงข่าวบอกว่า "เราพร้อมที่จะเสี่ยงชีวิต จะกลับไปกัมพูชาแบบมือเปล่า กลับบ้านเกิดเพื่อประชาธิปไตยในกัมพูชา ไม่ใช่การปฏิวัติ ไม่ใช่การก่อรัฐประหาร"

การที่มูร สุขฮัวเอ่ยคำว่า "การปฏิวัติ รัฐประหาร" ไม่ใช่การเอ่ยลอยๆ เพรามีกระแสข่าวลอยมาว่าอาจจะมีการก่อรัฐประหารในกัมพูชาเป็นข่าวที่มีมูลความจริง หรือข่าวปล่อยจากรัฐบาลหรือไม่นั้นยังยากที่จะยืนยัน

การกวาดล้างเครือข่ายก่อรัฐประหารมีมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมล่าสุดฝ่ายค้านถูกจับไปแล้ว 48 คนถูกสอบปากคำอีก 160 คน ด้าน สอ แข็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่ามีความชอบธรรมในการกวาดล้างเพราะ "สนับสนุนสม รังสีที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลเป็นสิ่งที่ผิด" และคนพวกนี้ "ล้ำเส้น"

ต่อมาปลายเดือนตุลาคม ฮุน มาเนต บุตรชายของ ฮุน เซน ในฐานะรองผู้บัญชาการกองทัพบกเรียกร้องให้กองทัพปกป้องรัฐบาลที่ชอบธรรม รวมตัวกันต่อต้านนักการเมืองที่กระตุ้นให้เกิดสงครามกลางเมืองและก่อเหตุวุ่นวาย

ล่าสุด กัมพูชากระจายกำลังทหาร 20,000 เพื่อตอบรับกับความเคลื่อนไหวของพวกฝ่ายค้านพลัดถิ่น โดยเฉพาะแถบชายแดนไทยซึ่งคนเหล่านี้ต้องการจะใช้เป็นช่องทางเข้ามาเคลื่อนไหว

ฝ่ายค้านที่แตกเป็นเสี่ยงๆ แถมไม่มีแผ่นดินจะอยู่จะมีกำลังวังชาที่ไหนไปก่อรัฐประหาร? คำถามนี้ต้องย้อนกลับไปที่ข้อกล่าวหาของคนในรัฐบาลฮุน เซนที่บอกว่า แกนนำพรรคฝ่ายค้านพรรคสงเคราะห์ชาตินั้นมีอเมริกาอยู่เบื้องหลัง อ้างว่ามีคลิปวิดิโอตั้งแต่เมื่อปี 1993 ซึ่งกึม สุขาสมคบคิดกับสหรัฐเพื่อโค่นล้มฮุนเซน

ส่วน มูร สุขฮัวแกนนำพรรคก็ถือ 2 สัญชาติคือกัมพูชา-อเมริกัน โดยมีสามีเป็นชาวอเมริกัน (และลือกันว่าเธอพูดภาษาเขมรไม่ได้เสียแล้ว เพาะอยู่ที่สหรัฐนานหลายปี) แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่หากรัฐบาลฮุน เซนจะยกเรื่องนี้มากกล่าวหาก็ย่อมได้ เหมือนที่เขาทำกับกึม สุขา มาแล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัฐบาลฮุน เซน น่าจับตาว่าจะออกหัวหรือก้อย เพราะล่าสุดสหรัฐเพิ่งจะส่งเอกอัครราชทูตคนใหม่มารับตำแหน่ง และท่านทูตยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา โดยจะ "ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรัฐบาลด้วยวิธีการรุนแรงหรือไม่เป็นประชาธิปไตย" ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาตอบรับท่าทีนี้อย่างดียิ่ง

แต่อีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศก็มีปัจจัยไม่ดีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีสนิทสนมกับจีนของฮุน เซน และข่าวลือเรื่องการปล่อยท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ให้จีนใช้เป็นท่าเรือรบ

นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ผ่าน กฎหมายประชาธิปไตยกัมพูชา (Cambodia Democracy Act of 2019) มีเป้าหมายเพื่อเล่นงานคนในรัฐบาลกัมพูชาที่มีพฤติกรรมขัดขวางประชาธิปไตยและเล่นงานฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม หากมีผลบังคับใช้ รัฐบาลฮุน เซนตั้งแต่คณะรัฐมนตรีไปจนถึงคนในกองทัพจะถูกสหรัฐคว่ำบาตรเอาได้

กฎหมายตัวนี้คือแบบเดียวกับที่สหรัฐเพิ่งจะผ่านออกมาเพื่อเล่นงานเจ้าหน้าที่ฮ่องกงกงและจีน เพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน