posttoday

สหรัฐถอนตัวข้อตกลงปารีสประเทศเดียวสะเทือนทั้งโลก

06 พฤศจิกายน 2562

สหรัฐเป็นทั้งประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็เป็นแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีแก้ปัญหาโลกร้อนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การถอนตัวจึงกระทบทั้งตัวข้อตกลงรวมถึงทั้งโลก

สหรัฐเป็นทั้งประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็เป็นแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีแก้ปัญหาโลกร้อนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การถอนตัวจึงกระทบทั้งตัวข้อตกลงรวมถึงทั้งโลก

ในที่สุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ก็เริ่มกระบวนการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงขอองสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการด้วยการแจ้งไปยังองค์การสหประชาชาติ หลังจากทรัมป์ประกาศเจตนารมณ์นี้มาตั้งแต่ปี 2017 ทำให้สหรัฐเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงนี้

ข้อตกลงปารีสเป็นส่วนหนึ่งของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 โดยกำหนดว่าประเทศต่างๆ ทั้ง 188 ประเทศรวมทั้งสหรัฐ จะต้องร่วมกันรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 2 องศาเซลเซียส และจะพยายามเพิ่มขึ้นอีกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

แต่ทรัมป์มองว่าข้อตกลงนี้ทำให้สหรัฐแบกรับภาระหนักกว่าประเทศอื่นและทำให้คนอเมริกันตกงาน ทั้งยังมักตั้งคำถามถึงความไม่ยุติธรรมของข้อตกลงนี้ระหว่างสหรัฐกับประเทศอื่น ครั้งหนึ่งทรัมป์เคยกล่าวว่า ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการของภาวะโลกร้อนอันดับต้นๆ อย่างจีนและอินเดียไม่ต้องแบกรับภาระหนักเหมือนสหรัฐภายใต้ข้อตกลงปารีส

อันที่จริงข้อกล่าวหาของทรัมป์ว่าข้อตกลงปารีสไม่ป็นผลดีกับเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น มีรายงานจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศเมื่อปี 2016 ระบุว่าข้อตกลงปารีสจะช่วยเสริมสร้างให้เกิดการลงทุนมูลค่าราว 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในตลาดภายในปี 2030 จุดนี้นักวิเคราะห์มองว่าเมื่อสหรัฐถอนตัวจะทำให้คู่แข่งรายใหญ่ของสหรัฐเข้ามาแทนที่

ส่วนที่ทรัมป์อ้างว่าข้อตกลงไม่เป็นธรรรมกับสหรัฐนั้น ข้อตกลงปารีสเปิดช่องให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซและการดำเนินการของตัวเอง ไม่มีการบังคับหรือภาระผูกพันว่าสหรัฐต้องทำแบบนี้ จีนหรืออินเดียต้องทำแบบนี้ ต่างกับพิธีสารเกียวโตที่กำหนดพันธกรณีผูกพันต่อประเทศอุตสาหกรรมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นสหรัฐมีสิทธิ์เสนอเป้าหมายที่คิดว่าเป็นธรรมกับประเทศตัวเองได้

อีกทั้งการประกาศถอนตัวของทรัมป์ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันเริ่มส่งสัญญาณว่าเห็นต่างจากทรัมป์ ผลการสำรวจความคิดเห็นของหลักสูตรการสื่อสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยเยลเมื่อช่วงต้นปีพบว่า ชาวอเมริกัน 7 ใน 10 คน คิดว่าภาวะโลกร้อนกำลังเล่นงานโลก และ 6 ใน 10 คนเป็นห่วงสถานการณ์นี้

การถอนตัวของทรัมป์นอกจากจะเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบในฐานะประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลกและอาจทำให้แผนการลดควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสยากลำบากขึ้น ทั้งในแง่ของการที่สหรัฐเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการของภาวะโลกร้อนมากเป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นด้วย

จุดยืนไม่สนใจภาวะโลกร้อนของทรัมป์ยังสร้างความผิดหวังให้กับผู้นำธุรกิจ ภาคธุรกิจของสหรัฐไม่ว่าจะเป็นกูเกิล แอปเปิล และบริษัทอื่นๆ รวมทั้งผู้ผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอย่างเอ็กซอนโมบิล ล้วนเป็นเสียงสำคัญที่สนับสนุนให้ทรัมป์ปฏิบัติตามกรอบข้อตกลงปารีสต่อไป ดาร์เรน วูดส์ ซีอีโอของเอ็กซอนโมบิลถึงกับเขียนจดหมายส่วนตัวไปถึงทรัมป์ว่า “สหรัฐอยู่ในจุดที่แข่งขันได้ในข้อตกลงปารีส และการอยู่ต่อหมายถึงการได้เข้าไปร่วมโต๊ะเจรจาเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้นำสหรัฐมุ่งมั่นที่จะถอนตัวจากข้อตกลงปารีส แต่บรรดารัฐบาลท้องถิ่น ภาคธุรกิจ มหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ ในสหรัฐได้เข้าร่วมกับขบวนการ We Are Still In (พวกเรายังอยู่) ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการถอนตัว และปฏิญาณว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงหันไปพึ่งพาพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ด้าน ไมเคิล บลูมเบิร์ก ทูตด้านสภาพภูมิอากาศององค์การสหประชาชาติและนักธุรกิจชาวอเมริกัน ประกาศว่า กำลังเร่งระดมเงินทุนมาเติมเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ขาดเหลือซึ่งเกิดจากการถอนตัวของทรัมป์

ทั้งนี้ หากนานาประเทศไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสได้ปัญหาต่างๆ จะตามมามากมายจากการวิจัยขององค์การนาซา ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิสุดขั้ว ประเทศแถบร้อนจะเผชิญกับวันที่มีอากาศร้อนมากขึ้น หากโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ประชากรโลกราว 14% หรือราว 420 ล้านคน จะต้องเจอคลื่นความร้อน 1 ครั้งในทุกๆ 5 ปี

ความแห้งแล้ง การจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความแห้งแล้งในแถบยุโรปใต้ แอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังทำให้น้ำแข็งละลายในอัตราที่รวดเร็วกว่าปกติ พื้นที่แถบชายฝั่งของโลกกว่า 70% จะมีระดับน้ำทะเลเพื่มขึ้น 20 เซนติเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายเมืองที่อยู่ต่ำ ชายหาดถูกกัดเซาะ เป็นต้น