posttoday

ทำไมเราถึงเชื่อคนอย่างแชร์แม่มณี ทฤษฎีคนโง่กว่าอธิบายได้

04 พฤศจิกายน 2562

ในทางเศรษฐศาสตร์มีทฤษฎีหนึ่งซึ่งอธิบายพฤติกรรมของคนที่เชื่อว่าการเล่นแชร์ลูกโซ่เรียกว่า Greater fool theory

อธิบายพฤติกรรมความโลภของผู้คนตามหลักเศรษฐศาสาตร์ฉบับชาวบ้าน โดย กรกิจ ดิษฐาน

ในทางเศรษฐศาสตร์มีทฤษฎีหนึ่งซึ่งอธิบายพฤติกรรมของคนที่เชื่อว่าการเล่นแชร์ลูกโซ่ หรือการเก็งกำไรของที่ดูเหมือนจะไม่มีราคาค่างวดจะทำให้พวกเขารวยเอาง่ายๆ ทฤษฎีที่ว่านั้นคือ Greater fool theory แปลเป็นไทยว่า "ทฤษฎีคนโง่กว่า"

ความโง่ที่ว่านี้ เกิดขึ้นจากความโลภล้วนๆ เพราะเชื่อว่าราคาของวัตถุหนึ่งๆ ไม่ได้ถูกกำหนดโดยค่าที่แท้จริงของมัน ซึ่งเป็นความเชื่อและความคาดหวังที่ไม่มีเหตุผล เช่นเชื่อว่า การฝากเงินไว้กับ "แม่" คนหนึ่งแค่ 1,000 จะได้ผลตอบแทนถึง 930 บาท หรือคิดเป็น 93% ซึ่งไม่ว่าจะในทางทฤษฎีหรือปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น นี่คือความเชื่อที่ไร้เหตุผล คือไม่อิงกับเหตุและผลทางเศรษฐศาสตร์

แต่เมื่อเรามีคนโง่แล้วหนึ่งคนที่เชื่อว่าสิ่งของที่ได้มา (หรือเงินที่ลงทุนไป) จะมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เขาก็หวังว่าจะมีคนโง่กว่าที่จะเต็มใจซื้อของที่มีราคาแพงอย่างไร้เหตุผลนั้น และคนที่โง่กว่านั้นก็คิดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนลืมนึกไปว่ามันมีความเสี่ยงที่เท้าแชร์จะจ่ายคืนทั้งต้นและดอกไม่ไหว (Default Risk)

ทั้ง 2 คนนี้ไม่ได้คิดว่าตัวเองโง่ เพียงแต่มีความคาดหวังว่า จะรวยแบบง่ายๆ

ตัวอย่างที่พบเห็นกันอยู่บ่อยๆ คือแชร์ลูกโซ่ ที่เกิดขึ้นจากความคาดหวังว่าจะรวยดอกเบี้ยแบบง่ายๆ ตราบใดที่ที่มีคนโง่กว่าหลงเชื่อไปลงทุนลูกโซ่นี้ก็จะโตไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีคนเกิดตาสว่างขึ้นและเรียกร้องเงินต้นและดอกเบี้ย เมื่อนั่นเองที่ Default Risk หรือความเสี่ยงที่จะถูกเบี้ยวจะกลายเป็นจริงในทันที และเจ้าของแชร์จะหาทางหลบลี้หนีหน้าไป

อีกกรณีคือการเก็งกำไรในวัตถุที่มูลค่าในตัว หรือมูลค่าแท้จริง (Intrinsic value) ไม่น่าจะสูงขนาดนั้น แต่เพราะ "คนโง่" และคนโง่กว่าหลงเชื่อว่ามันจะมีราคามากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าเมื่อก่อนมันไม่มีราคาค่างวดอะไรนัก จนทำให้เกิดฟองสบู่ขึ้นมา เมื่อเกิดฟองสบู่ขึ้นมันก็มีโอกาสที่จะแตก หรือมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินลงทุนคืนมา (Default Risk) เพราะราคาของสิ่งนั้นถูกปั่นโดยไม่อิงกับเหตุผล เหมือนฟองสบู่ที่เหมือนจะมีอยู่จริงๆ แต่ที่จริงแล้วมันบอบบางจนแตะต้องไม่ได้

กรณีที่โด่งดังที่สุดคือโรคคลั่งทิวลิปในประเทศเนเธอร์แลนด์สมัยศตวรรษที่ 17 เหตุเกิดจากการปั่นราคาหัวทิวลิปจนสูงเกิดความจริง เนื่องจากความคลั่งไคล้ของประชาชน จนทำให้ทิวลิปมีราคาแพงกว่าทองและใช้เป็นวัตถุแลกเปลี่ยนเสมือนเงินตรา จนกระทั่งมีการประมูลและปั่นราคาเกินจริง สุดท้ายฟองสบู่ก็แตกลง เพราะราคาทิวลิปจริงๆ มันไม่กี่สตางค์ แต่เพราะความโลภและความหลงทำให้คนคิดว่ามันจะทำกำไรไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด