posttoday

โรคคลั่งทิวลิป เมื่อความโลภทำให้คนรวยกลายเป็นยาจก

04 พฤศจิกายน 2562

ความโลภของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด แม้กาลเวลาผ่านไปหลายร้อยปีก็ยังมีคนติดกับดักเดิมๆ แบบนี้อยู่เสมอ โดย กรกิจ ดิษฐาน

ความโลภของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด แม้กาลเวลาผ่านไปหลายร้อยปีก็ยังมีคนติดกับดักเดิมๆ แบบนี้อยู่เสมอ โดย กรกิจ ดิษฐาน

"นานมาแล้ว กระทาชายนายหนึ่งเดินทางไปหาความมึนเมา ที่ร้านสุราเล็กๆ อันเป็นสถานที่รวมตัวของคนเกือบทั้งเมืองในช่วงค่ำ ก่อนที่เรื่องจะจบลงที่ความไร้สติเพราะฤทธิ์สุรา ชายผู้นี้กลับทำเรื่องที่ไร้สติยิ่งกว่า เมื่อฉวยเอาเหง้าดอกทิวลิปใกล้ๆ มือขึ้นมาฝานเป็นชิ้นๆ ด้วยสำคัญผิดคิดว่าเป็นหัวหอม แต่แท้จริงแล้วมันคือเหง้าดอกทิวลิปราคาหลายพันเหรียญสหรัฐ ที่เจ้าของร้านเตรียมนำขึ้นประมูล ชีวิตของชายขี้เมาผู้น่าสงสารจึงต้องจบลงในตะราง รอจนกว่าจะมีเงินมาไถ่ถอนหนี้ที่เกิดจากการสวาปามเหง้าทิวลิปโดยไม่รู้ตัว!"

อาจเป็นเรื่องเล่าขานที่ฟังเหลือเชื่อ ถ้าเหง้าทิวลิปหัวหนึ่งอาจมีราคาดังทอง แต่แม้จะเป็นเรื่องเล่าจริง อย่างน้อยมันก็เป็นภาพสะท้อนที่ดีของเนเธอร์แลนด์ในศตวรรษที่ 17 ห้วงเวลาที่คนทั้งประเทศกำลังบ้าคลั่งกับการเป็นเจ้าของเหง้าทิวลิปราคาแพงเสียยิ่งกว่าแพง ปรากฏการณ์นั้นได้รับการขนานนามว่า Tulip mania หรือ โรคคลั่งทิวลิป อันเป็นกรณีศึกษาภาวะฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก

แน่นอน ชาวโลกอาจรู้สึกได้ถึงความโปรดปรานในดอกไม้ชนิดนี้ของประชาชนชาวแดนกังหันลมอยู่ก่อนแล้ว แต่หลายท่านคงไม่ทราบว่า ก่อนที่ดอกไม้ชนิดนี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์คู่เนเธอร์แลนด์ มันเคยสร้างความปั่นป่วนให้คนทั้งประเทศ เมื่อแรกนำเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้จากตุรกี อันเป็นต้นกำเนิดเมื่อปี 1593

ความที่ต้องนำเข้าจากถิ่นไกลโพ้น กอปรกับรูปลักษณ์อันแปลกตา ทำให้ ดอกทิวลิป กลายเป็นของสะสมล้ำค่าของประดาชนชั้นสูงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหง้าที่ติดเชื้อโรค "โมเซอิก" ซึ่งจะทำให้ สีของกลีบดอกมีรูปลักษณ์คล้ายเปลวเพลิง เหง้าทิวลิปที่ทุกวันนี้แทบไร้มูลค่า จึงกลายเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่ง และนับเป็นการริเริ่มหันเห "มูลค่าจริง" ของดอกไม้ประเภทหนึ่ง สู่ "มูลค่าเทียม" ที่จะกลายเป็นหายนะต่อมา

จากปริมาณที่น้อยนิด ทำให้พ่อค้าหัวใสหลายรายเริ่มมีความคิดที่จะปั่นราคาเหง้าดอกทิวลิปให้สอดคล้องกับความต้องการที่มีอย่างไม่จำกัด ซึ่งสัมฤทธิผลอย่างง่ายดาย เมื่อราคาดอกทิวลิปพันธุ์เด่นๆ ที่แตะระดับหลายร้อยฟลอรินส์ (ค่าเงินของเนเธอร์แลนด์ขณะนั้น) อยู่แล้ว ถูกปั่นจนมีราคาเป็นหลายพัน บางพันธุ์ถูกปั่นราคาจนมากกว่าเดิมถึง 20 เท่า!

หากไม่เห็นภาพ ขอให้พิจารณาจากราคาแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้า หรือ บาร์เตอร์ ของเหง้าดอกทิวลิปที่มีราคาแพงเกือบสูงสุดนามว่า "อุปราช" ซึ่ง 1 เหง้าสวยๆ ต้องแลกมาด้วย ข้าวสาลี 4 ตัน, ข้าวไรย์ 8 ตัน, เตียงนอน 1 หลัง, วัว 4 ตัว, หมู 8 ตัว, แกะ 12 ตัว, อาภรณ์อย่างดี 1 ชุด, ไวน์ 2 ถัง, เบียร์ 4 ตัน, เนย 2 ตัน, เนยแข็ง 1 พันปอนด์ และเครื่องเงิน 1 ชุด รวมแล้วมีมูลค่าในปัจจุบันถึง 4 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ราว 1.6 ล้านบาท)

ด้วยสนนราคาถึงขนาดนี้ มิพักจะเอ่ยถึงพันธุ์ "เซมเพอร์ เอากุสตุส" ที่เพียงเหง้าหนึ่ง อาจซื้อเมืองได้ทั้งเมืองด้วยซ้ำ!

เมื่อราคาของเหง้าดอกไม้ธรรมดาๆ แพงจนกลายเป็นสินทรัพย์ชั้นยอด ผู้คนจากชั้นต่างๆ ของสังคมจึงถูกดึงดูดเข้าสู่วังวนของความโลภ ตลาดหุ้นหลายแห่งผุดขึ้นทั่วเมืองสำคัญของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เมืองเล็กๆ ไกลปืนเที่ยง ยังเปลี่ยนร้านสุราเป็นตลาดค้าหลักทรัพย์กับเขาด้วย

ในชั่วพริบตา ยาจกกลายเป็นเศรษฐี และเศรษฐีกลายอภิมหาเศรษฐี จากการเก็งกำไรผ่านการซื้อขายเหง้าทิวลิปเพียงไม่กี่ครั้ง!

เนเธอร์แลนด์ในขณะนั้นเปี่ยมไปด้วยความคึกคัก ทุกผู้ทุกนาม ต่างเฝ้าฝันถึงความมั่งคั่ง หลายคนขายบ้าน และสินทรัพย์ที่หามาได้ทั้งชีวิต เพื่อเป็นเจ้าของเหง้าดอกทิวลิปเพียงเหง้าเดียว

แต่กฎหนึ่งของการเก็งกำไรและภาวะฟองสบู่ที่ยังใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ก็คือ ผู้ที่อยู่รอดและเสวยความร่ำรวยมีเพียงพวก "เงินฉลาด" (Smart Money) ที่เก็งกำไรในระดับบนสุดของตลาดหลักทรัพย์ เท่านั้น ส่วนบรรดาแมลงเม่าทั้งหลายได้เพียงลิ้มรสความสุขชั่วครู่ และรอวันฟองสบู่แตกอย่างน่าสลดใจ โดยไม่ทันตั้งตัว!

และเวลานั้นมาถึงในปี 1637 หลังจากที่ทิวลิปพุ่งขึ้นสูงสุด บรรดาเงินฉลาดทั้งหลาย ต่างพร้อมใจกันเทขายดอกทิวลิปในทันที ทันใด ทำให้ราคาเหง้าทิวลิปที่แพงลิบลิ่ว ดิ่งฮวบอย่างน่าใจหาย บางพันธุ์ไร้ราคาไปโดยปริยาย ที่ดีกว่าอาจเหลือมูลค่าเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น

ในชั่วพริบตา มหาเศรษฐีกลายเป็นยาจก และยาจกหลายคนต้องหาทางออกด้วยการจบชีวิต อีกหลายร้อยคนต้องหิวโซ เพราะไม่อาจใช้เหง้าทิวลิปไร้มูลค่าเพื่อประทังชีวิต

รัฐบาลดัตช์พยายามมองดูห่างๆ เมื่อฟองสบู่แตกโพละ แต่ในที่สุดต้องกระโจนเข้ามากู้เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพินาศ ด้วยการจัดคณะกรรมการไกล่เกลี่ย และขออำนาจศาลสั่งให้การซื้อขายบางช่วงถือเป็นโมฆะ เพื่อให้บรรดาเงินฉลาดและแมลงเม่าทั้งหลายพบกัน ครึ่งทาง แต่มาตรการแล้วมาตรการเล่า กลับเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศเพียงเล็กน้อย และแดนกังหันลมต้องพบกับความบอบช้ำไปอีกนานนับปี

โชคร้าย ที่มนุษย์เรียนรู้จากประวัติศาสตร์น้อยมาก เพราะเพียง ไม่นานอีกเพื่อนร่วมโลกกับชาวดัตช์ ต้องพบกับภาวะฟองสบู่อีกหลายระลอก ต่างกรรมต่างวาระกัน ตั้งแต่ฟองสบู่หุ้นเซาท์ซีของอังกฤษ ฟองสบู่สหรัฐยุคทศวรรษที่ 1920 ไปจนถึงฟองสบู่แตกยุคดอตคอม 

แม้แต่แชร์ชื่อดังในบ้านเรา ก็เกิดขึ้นเพราะรากฐานคล้ายๆ กันนั่นคือความโลภและความไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ