posttoday

อาเซียนจะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของทั้งจีนและสหรัฐ

03 พฤศจิกายน 2562

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน ว่าการแย่งชิงอาเซียนมาเป็นพวกของมหาอำนาจ โดยที่อาเซียนไม่ได้อะไรกลับมา


บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน


อาเซียนถูกปรามาสมากนานหลายปีว่าเป็นแค่เสือกระดาษ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงบทบาทของอาเซียนเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศอื่นๆ เช่นจีนกับสหรัฐ ซึ่งในอาเซียนเองก็เลือกฝั่งเลือกฝ่ายจนแตกคอกันมาแล้ว

อาเซียนมีทฤษฎีหนึ่งที่ใช้แก้เป็นมาตรฐานในกลุ่ม คือ Constructive Engagement (การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์) ที่ใช้คำหรูหราจนไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร ก็เพราะอาเซียนมีปรัชญาว่าจะไม่แทรกแซงกิจการพวกเดียวกันเอง แต่จะไม่ให้ยุ่งก็ไม่ได้เพราะเป็นกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นจะต้องแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ คือหาช่องแทรกแซงอย่างบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

เช่น กรณีของพม่าในยุคที่ปกครองด้วยทหาร อาเซียนถูกชาติตะวันตกกดดันให้ต้องแทรกแซงพม่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งอาเซียนก็หาทางเอาตัวรอดมาได้โดยแทรกแซงพม่าด้วยวาจาเล็กๆ น้อยๆ ส่วนพม่าก็เข้าใจสถานการณ์โดยยอมให้แทรกแซงได้แค่นั้น

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 ที่ประชาธิปไตยเบ่งบานในไทย ไทยถือเป็นเสาหลักของประชาธิปไตยและเศรษฐกิจทุนนิยมในภูมิภาค ในเวลานั้น ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ (สมัยรัฐบาลชวน 2) จึงเสนอแนวคิดใหม่ที่เรียกว่าความเกี่ยวพันอย่างยืดหยุ่น (Flexible engagement) เพื่อให้อาเซียนเข้าไปแทรกแซงพม่าได้มากขึ้น ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าช่วงนี้ไทยเป็นผู้นำเข้าแนวคิดตะวันตกนิยม-อเมริกันนิยมเข้ามาในภูมิภาค

ในตอนนี้ทั้ง Constructive Engagement และ Flexible engagement ไม่ใช่สิ่งสำคัญของอาเซียนอีกต่อไป เพราะอาเซียนไม่ได้มีปัญหากันเอง แต่กำลังเป็นหมากตัวสำคัญของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐและจีน ดังนั้นเอาเซียนจะต้องหาทฤษฎีใหม่เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่

ตัวอย่างเช่น สหรัฐและจีนต่างก็มีทฤษฎีของตัวเองในการรักษาความเป็นใหญ่เอาไว้ สีจิ้นผิง เสนอทฤษฎี "ความฝันจีน" เพื่อสร้างจีนให้เป็นมหาอำนาจด้วยค่านิยมแบบจีนและวิถีเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบจีน ขณะที่ทรัมป์ประกาศทฤษฎีต่อต้านโลกาภิวัฒน์และสนับสนุนชาตินิยม (สุนทรพจน์เร็วๆ นี้ของทรัมป์กล่าวว่า The future does not belong to globalists. The future belongs to patriots) พูดง่ายๆ คือทั้งจีนและสหรัฐมองเข้าหาตัวเอง จะมองไปข้างนอกก็ต่อเมื่อมีประโยชน์ต่อตน 

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเทพฯ ควรจะเป็นการพบกันระหว่างทรัมป์กับผู้นำจีน แต่ทรัมป์ยกเลิกกำหนดการณ์ ซึ่งพอเข้าใจเพราะฝ่ายจีนส่งหลี่เค่อเฉียงมาไม่ใช่สีจิ้นผิง และอันที่จริงทรัมป์ก็เพิ่งไปคุยกับสีจิ้นผิงในการประชุม G20 ที่โอซาก้าเมื่อเดือนมิถุนายน

เรื่องการค้าและความสัมพันธ์ทั่วไป ทรัมป์กับสีคุยกันแล้วที่โอซาก้า เหลือแค่การชิงพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น การที่ทรัมป์มีกำหนดการณ์จะมาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ แสดงว่ามีเจตนาที่จะมาโน้มน้าวภูมิภาคนี้ให้เป็นพวกเดียวกับตน

แต่แล้วทรัมป์ก็สับขาหลอกด้วยการบอกว่าจะไม่มากรุงเทพฯ แล้วาส่งที่ปรึกษาประธานาธิบด้านกิจการความมั่นคงแห่งชาติ รอเบิร์ท ซี. โอไบรอัน (Robert C. O’Brien) เป็นผู้นำทีม โดยมีผู้ติดตรมคือวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

จากแถลงการณ์ของทำเนียบขาว เราจะเห็นได้ว่าทรัมป์ส่งทีมด้านความมั่นคงมาเป็นทัพหน้าที่กรุงเทพฯ แล้วให้ทีมการค้าเป็นฝ่ายติดตาม ดังนั้นสิ่งที่เขามุ่งหวังคือการดึงอาเซียนมาเป็นพวกจริงๆ ส่วนเรื่องการค้าเป็นเรื่องรอง ทั้งๆ ที่อาเซียนต่างบอบช้ำจากสงครามการค้าจีนสหรัฐอย่างหนัก ขนาดที่นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซียที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับโลกตะวันตกยังบอกให้อาเซียนผนึกกำลังกันเพื่อต่อต้านทรัมป์

รอเบิร์ท ซี. โอไบรอันไม่ใช่ผู้แทนธรรมดาๆ เขาผู้นี้เป็นกุนซือทรัมป์ด้านความมั่นคงที่มีแนวคิดแบบเดียวกับทรัมป์คือชาติเป็นใหญ่ อเมริกันเป็นใหญ่ และชาติอมริกันจะยิ่งใหญ่ได้จะต้องสร้างพันธมิตร

สิ่งที่สะท้อนแนวคิดของโอไบรอันได้ดีที่สุดคือหนังสือของเขาที่ชื่อ "ขณะที่อเมริกากำลังหลับไหล: การรื้อฟื้นการเป็นผู้นำของอเมริกาในยุคที่โลกอยู่ในวิกฤต (While America Slept: Restoring American Leadership to a World in Crisis) ซึ่งโจมตีนโยบายสายพิราบของรัฐบาลโอบามา และมองจีนเป็นภัยคุกคาม ในหนังสือเล่มนี้เขาบอกชัดเจนว่า

"สหรัฐควรที่จะอยู่ข้างเดียวกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งพยายามที่จะปกป้องสิทธิด้านน่านน้ำของประเทศสมาชิกในการสัญจรอย่างเสรีในน่านน้ำสากลภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ความพยายามของอาเซียนที่จะบังคับใช้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) เมื่อปี 2002 สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2011 แนวปฏิบัติบาหลีเป็นความก้าวหน้าเล็กๆ น้อยในแนวร่วมนี้ แต่จะต้องมีการทำมากกว่านี้ โดยการสนับสนุนทางการทูตของสหรัฐ อาเซียนจะมีน้ำหนักมากกว่าขึ้นในการเจรจาเรื่องปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติกับจีน"

ที่ปรึกษาของทรัมป์ย้ำว่า "พันธมิตรที่ดีที่สุดของสันติภาพในแปซิฟิกคือสหรัฐที่แข็งแกร่ง และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรของตน เพื่อให้มั่นใจว่าการผงาดของจีนจะเป็นการผงาดที่สันติจริง"

จีนก็มองเกมนี้ขาด โดยเน้นไปที่การคุยเรื่องทะเลจีนใต้ เพื่อซื้อใจอาเซียนก่อนที่สหรัฐจะดึงความสนใจไป จีนเตะถ่วงเรื่องการกำหนดกติกาการใช้น่านน้ำร่วมกัน (Code Of Conduct) มานานหลายปี จนหลังการประชุมที่โอกาซาจบไปไม่ถึงเดือน จู่ๆ ในเดือนกรกฎาคมจีนก็ยอมที่จะคุยกับอาเซียนในเรื่องนี้ และล่าสุด นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงย้ำอีกครั้งว่าอีก 3 ปีได้มีกติกาใช้ร่วมกัน แน่นอนว่าพอมีกติกาทั้งจีนและอาเซียนจะกระทบกระทั่งกันน้อยลง นี่คือการแก้เกมของจีนโดยพยายามให้อาเซียนวางใจจีนว่าจะไม่ฮุบน่านน้ำทะเลจีนใต้ได้แต่ผู้เดียว

แม้แต่อินเดียที่อยาจกะมาเกี่ยวพันกับอาเซียนก็ไม่ได้มาเจรจาเรื่องการค้า แต่มาคุยโฆษณาตัวเอง นากยรับมนตรี นเรนทระ โมที ขึ้นเวทีไม่ได้พูดถึงการค้า แต่พูดว่าอินเดียเจริญก้าวหน้าอย่างไรบ้างในด้านเทคโนโลยี สาธารณูปโภคขึ้นพื้นฐาน และการสาธารณสุข คุยเรื่องอินเดียกำจัดความยากจนกับปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างไร แล้วย้ำว่า "นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของอินเดีย"

โมทีมาคุยเรื่องตัวเองถึงกรุงเทพฯ ทำไมถ้าไม่ใช่มาโฆษณาว่าอินเดียในยุคของเขาพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ทรงพลังของอาเซียนพอๆ กับสหรัฐและจีน พูดๆ ง่ายๆ ก็คืออาเซียนกำลังถูกทั้ง 3 ประเทศนี้ยื้อแย่งไปเป็นพวกตน

แต่อาเซียนสนใจเรื่องปากท้องมากกว่า โมทีเองก็ย้ำเช่นกันว่านี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะลงทุนในอินเดีย ทว่า โมทีคนเดียวกันนี่เองที่ทำให้ที่ประชุมสรุปข้อตกลงการค้าเสรีไม่ได้ในนาทีสุดท้าย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้อินเดียตกลงไปแล้วว่าจะให้ผ่านเพื่อเตรียมประกาศในวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน แต่เมื่อโมทีมาถึงเขาบอกว่าอยาจะให้ขยายเป้าหมายด้านภาคบริการมากกว่านี้

การเจรจาย่อมต้องการการต่อรอง แต่การมาเปลี่ยนท่าทีตอนนาทีสุดท้ายกิจผ่านมติมันดูแปลกเกินไป และเราพึงเข้าใจว่า "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค" RCEP เป็นการผลักดันของจีน

ชัดแล้วว่ามหาอำนาจกำลังใช้เวทีอาเซียนมางัดข้อกัน โดยที่อาเซียนได้แต่หวังลมๆ แล้งๆ เรื่องผลประโยชน์ทางการค้า

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวเตือน (ผ่านทางโฆษกของเขา) ว่า "ภูมิทัศน์ในภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตระหนักถึงการผงาดของพญามังกร (จีน) ในโลกที่ยังคงถูกครอบงำโดยพญาอินทรีทะยาน (สหรัฐ) เขาเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนจะต้องไม่เลือกหรือถูกบังคับให้เลือกข้าง โดยเขาชี้ให้เห็นถึงสิ่งเรียกว่า 'ความผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์' ที่เกิดขึ้นจากผู้นำที่ผ่านมาของฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนี้เขาได้ทำการแก้ไขผ่านนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระของเขาแล้ว"

ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างที่ดีของการเลือกสหรัฐ และเป็นศัตรูกับจีน ผลก็คือฟิลิปปินส์ถูกสหรัฐครอบงำและเสียโอกาสทางเศรษฐกิจกับจีน เมื่อดูเตร์เตดำเนินนโยบายที่เป็นตัวของตัวเอง ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป จีนเริ่มมองฟิลิปปินส์เป็นมิตรมากขึ้นแม้จะยังขัดแย้งเรื่องน่านน้ำ ขณะเดียวันสหรัฐก็ไม่มีช่องทางที่จะเข้ามาปลุกระดมในอาเซียนโดยมีวาระซ่อนเร้น