posttoday

ติดอาวุธดิจิทัลให้ประชาธิปไตย คุยกับออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน

27 ตุลาคม 2562

รัฐมนตรีสตรีข้ามเพศคนแรกของโลก และตอนที่เป็นรัฐมนตรียังอายุแค่เพียง 35 ปี ทำให้เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไต้หวัน

เรื่องและสัมภาษณ์โดยกรกิจ ดิษฐาน

ออเดรย์ ถัง (Audrey Tang) ได้รับฉายาว่าเป็นคนในวงการคอมพิวเตอร์ที่ยอดที่สุดคนหนึ่งของไต้หวัน เป็นทั้งแฮคเกอร์เพื่อพลเมือง (civic hacker) นักปฏิวัติดิจิทัลผู้มีอุดมการณ์อนาธิปไตย (individualist anarchism) และเป็นรัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวันในวัยเพียง 38 ปี

ออเดรย์ ถัง ยังเป็นสตรีข้ามเพศ และทำให้เธอกลายเป็นรัฐมนตรีสตรีข้ามเพศคนแรกของโลก และตอนที่เป็นรัฐมนตรียังมีอายุเพียง 35 ปี ทำให้เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไต้หวัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับออเดรย์ ถังก็คือแนวคิดการสร้างประชาธิปไตยด้วยการปฏิวัติดิจิทัล ผ่านการสร้างประชาสังคมดิจิทัล ซึ่งเริ่มแล้วที่ไต้หวัน และเธอเดินทางมาแบ่งปันประสบการณ์เรื่องนี้ระหว่างร่วมงานประชุม Conference on Social Innovation and Civic Participation ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา

รากฐานประชาสังคมยุคใหม่

สิ่งที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย คือการวางรากฐานประชาสังคมให้แข็งแกร่ง รวมถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ โพสต์ทูเดย์ได้ซักถามแง่คิดเกี่ยวกับการสร้างรากฐานนี้ในไต้หวัน ซึ่งและออเดรย์ ถังตอบว่า ในไต้หวันมีแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างชุมชน และการสร้างชุมชนไม่ได้หมายถึงการสร้างโครงสร้างทางกายภาพ แต่ยังสร้างโครงสร้างด้านความเชื่อมั่น ดังนั้นผู้ที่มีส่วนร่วม จึงเป็นคนจากหลากหลายสาขาอาชีพ อาจเป็นได้ทั้งศิลปินหรือนักออกแบบหรือสถาปนิก หรืออาชีพที่แตกต่างกัน ตราบใดที่พวกเขาตกลงที่จะมีวิสัยทัศน์หรืออยู่ในชุมชนร่วมกัน เพื่อที่จะมีผู้คนเข้ามาร่วมและพบปะกันทุกสัปดาห์ได้ง่ายๆ แบ่งปันอาหาร ฟังดนตรีร่วมกัน ร่วมกันอภิปราย แล้วรากฐานแนวคิดก็จะเกิดขึ้น และเรื่องนี้ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไต้หวันตั้งแต่เริ่มต้น

"ดังนั้นความคิดที่ว่านี้ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องเป็นนายกเทศมนตรีหรือมีพันธสัญญา (กำหนดตัวแทน) เพราะทุกคนมีส่วนร่วมด้วยตัวเอง โดยอาจเป็นชุมชนอย่างชุมชนที่มีคน 1,000 คนและตัดสินใจที่จะใช้เทคโนโลยีบางอย่างร่วมกันโดยทำงานร่วมกับนักพัฒนาเทคโนโลยี ในปี 1994 เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเริ่มมีแผนสร้างชุมชนทั่วไต้หวัน ตอนนั้นเราไม่มีแม้แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดี ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว แนวคิดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับประชาธิปไตยหรือนายกเทศมนตรีหรือประธานาธิบดี แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาคสังคมตามที่นิยามโดยผู้ที่เข้าร่วม การสร้างความถูกต้องตามกฎหมายโดยสมัครใจ แบบนี้ผู้ประกอบการทางสังคมอาจเป็นองค์กรการกุศลได้นับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจอนาคตของท้องถิ่นร่วมกัน ฉันคิดว่านี่เป็นรากฐานของนวัตกรรมทางสังคมในไต้หวันอย่างมากมาย และในทุกวันนี้พวกเขามีความชอบธรรมมากขึ้น ผู้คนไว้วางใจพวกเขามากขึ้นและภาคสังคม เมื่อเทียบกับภาครัฐ"

ติดอาวุธดิจิทัลให้ประชาธิปไตย คุยกับออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน

อินเทอร์เน็ตคือสิทธิมนุษย์ชน

พื้นฐานของระบอบประชาธิไตยคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทัศนะของออเดรย์ ถัง สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในปัจจุบันนี้ คือการเข้าถึงบรอดแบนด์ (การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต) เพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคือการเข้าถึงองค์ความรู้ การติดต่อสื่อสารกัน และช่องทางตรวจสอบภาครัฐ ความท้าท้ายก็คือการเข้าถึงบรอดแบนด์อาจจะยังไม่ครอบคลุม

"การผลักดันแนวคิดนี้คือสิ่งที่ยากที่สุดคือตอนนี้ เพราะในเขตเทศบาลหรือในพื้นที่ชนบทห่างไกล ถ้ามีเพียง 50% ของคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต แล้วคุณก็ใช้นโยบายใหม่ที่อาศัยการเข้าถึงบรอดแบนด์ โดยที่อีกครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึงระบบอัตโนมัติ มันก็จะไม่สำเร็จ เพราะภาคสังคมถูกแบ่งครึ่ง ดังนั้นไต้หวันจึงทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากโดยผลึกกำลังสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ดาวเทียม และช่องทางทุกอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่าแม้ในสถานที่ห่างไกลที่สุดตอนนี้ก็ยังมีสัญญาณครอบคลุม 98% และราคาไม่แพงมาก"

รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวันชี้ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นปรากฏหลายส่วนที่พูดถึงการเข้าถึงบรอดแบนด์ในฐานะสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ระบุว่าในปี 2020 ทุกคนต้องมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เป็นสากลและราคาไม่แพง และปีนี้้เหลือเวลาไม่ถึงหนึ่งปีก็จะถึงปี 2020 และไต้หวันมีการเข้าถึง 98% แล้ว

เรื่องอะไรในสังคมที่ต้องมาก่อน

ขบวนการแฮคเกอร์เพื่อพลเมือง (civic hacker) ในไต้หวันนั้นก้าวหน้ามาก มีการจัดตั้งโอเพ่นซอร์ซที่เรียกว่า G0v (กอฟ ซีโร่) ซึ่งเป็นการระดมกำลังของภาคประชาสังคมเพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เป็นแพล็ตฟอร์มในการผลักดันนโยบาย แม้ว่าจะยังความแตกแยกด้านอุดมการณ์ในไต้หวัน คือฝ่ายที่ต้องการประกาศเอกราชและฝ่ายที่ยังต้องการเชื่อมโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ประชาธิปไตยโดยตรงผ่านประชาสังคมดิจิทัล ทำให้ประชาชนเริ่มตระหนักในปัญหารากฐานที่สำคัญมากกว่าการ "เอาจีน" หรือ "ไม่เอาจีน"

ออเดรย์ ถัง พูดถึงในเรื่องนี้ว่าความแตกแยกทางการเมืองที่กี่ยวกับความสัมพันธ์ (กับจีน) เป็นประเด็นถกเถียงทางการเมืองในไต้หวันเป็นเวลานาน แต่เธอยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการผลักดันระบอบประชาธิปไตยโดยตรงผ่านการทำประชามติ ผ่านการยื่นคำร้องงบประมาณแบบมีส่วนร่วม จึงไม่ใช่แค่การเลือกนายกเทศมนตรีหรือประธานาธิบดี พวกเขายังสามารถเลือกประเด็นได้ ดังนั้นปัญหาระหว่างไต้หวันกับจีนจึงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป สิ่งที่เป็นประเด็นตอนนี้คือเรื่องวิถีชีวิตพื้นฐาน เช่น ความสเมอภาคในการแต่งงานระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องใช้ประชาธิปไตยโดยตรงในการชี้ขาด แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องประนีประนอมกับค่านิยมในสังคมด้วย

"เราดำเนินการสร้างเสมอภาคกันในสิทธิในการแต่งงาน แต่เพียงเพื่อข้อบังคับทางกฎหมายและแต่ไม่เกี่ยวกับบรรดาเครือญาติ ดังนั้นเราจึงเชื่อมโยงส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายแพ่ง (กับสิทธิการสมรส) แต่ไม่ทำกับส่วนอื่นๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างครอบครัว โดย (ในด้านหนึ่ง) เราใช้วิธีที่สร้างสรรค์มากๆโดยการลงประชามติและประชาธิปไตยโดยตรง วิธีนี้เป็นการถนอมน้ำใจแบบคนเอเชียโดยไม่ต้องสูญเสีย (หรือ) เกิดความรู้สึกความแตกแยกขึ้นในประเด็นนี้โดยเฉพาะ ต้องขอบคุณประชาธิปไตยโดยตรงผ่านการลงประชามติ และฉันคิดว่ายิ่งเราเข้าร่วมในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมแบบนี้มากเท่าไหร่ คนก็ยิ่งจะไม่คิดว่าการเมืองเป็นความสัมพันธ์ด้านตัวบทกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นฉันคิดว่าระบอบประชาธิปไตยโดยตรงคือการช่วยเหลือสังคมในการแก้ไข"

ติดอาวุธดิจิทัลให้ประชาธิปไตย คุยกับออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน

อนาธิปไตยใหม่ที่สร้างสรรค์

ออเดรย์ถึงยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจ โดยระบุว่ามีแนวคิดอนาธิปไตย (Anarchism) ซึ่งหมายถึงการปกครองที่ไร้อำนาจรัฐ การที่ปัจเจกบุคคลมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมืองโดยตรง แต่เธอยังย้ำว่าเธอเป็นอนาธิปไตยที่อนุรักษ์นิยมที่ไม่มุ่งทำลายล้างโครงสร้างสังคมแบบถอนรากถอนโคนอย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่มองอนาธิปไตยในลักษณะนั้น และแนวคิดอนาธิปไตยยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันประชาธิปไตยดิจิทัลที่เธอเป็นแกนหลักคนหนึ่งของแนวคิดนี้

"ฉันคิดว่าเพราะฉันเรียนรู้การบริหารปกครองที่ดี (governance ซึ่งเป็นหัวใจหลักของประชาธิปไตย) มาจากอินเทอร์เน็ต โดยการมีส่วนร่วมในคณะทำงานเว็บยุคแรกในชุมชนซอฟต์แวร์เสรี ในโอเพ่นซอร์ซ และชุมชนเปิดออนไลน์ใเดๆ ก็ตาม เรื่องนี้ทำให้ฉันมีแนวคิดเรื่องการบริหารปกครองที่ดีอิงกับความสมัครใจไม่ใช่การบีบบังคับ ฉันยังผ่านการเรียนด้านปรัชญาและมนุษยศาสตร์ ซึ่งหมายความว่า ฉันยังการอนุรักษ์สิ่งที่สำคัญต่อผู้คน แทนที่จะใช้ระบบดิจิตอลเป็นวิธีในการกวาดล้างทุกสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับกระแสหลัก"

แนวคิดอนาธิปไตยของออเดรย์เมื่อผสานเข้ากับประชาสังคมดิจิตัล กลายเป็นประชาธิปไตยดิจิทัล หรือ E-democracy ซึ่งนิยามของประชาธิปไตยดิจิทัล คือการผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย คือแบบของรัฐบาลยุคใหม่ที่ประชาชนที่บรรลุนิติภาวะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมกำหนดความเป็นไปของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน เช่นการข้อเสนอการพัฒนาและการเสนอกฎหมาย สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นที่ไต้หวันแล้ว

จะสู้กับอำนาจนิยมดิจิทัลอย่างไร

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในยุคที่เกิดประชาสังคมดิจิทัล แต่กลับเกิดกระแสการเซ็นเซอร์การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐอย่างหนักหน่วงทำให้เกิดข้อกังขาว่าประชาธิปไตยดิจิทัล จะเฟื่องฟูจริงหรือ ออเดรย์ ถังตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า

"หากคุณเริ่มด้วยประชาธิปไตย คุณก็จะได้ประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งขึ้น หากคุณเริ่มการตรวจสอบ (ของภาครัฐ) ก็จะถูกตรวจสอบมากขึ้น หากคุณเริ่มต้นด้วยการควบคุมจากบนลงล่าง คุณก็จะได้ดิจิทัลที่มีการควบคุมหนาแน่น" ออเดรย์ ถัง กล่าว "ดังนั้นถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการตั้งค่าเริ่มต้นที่ถูกต้อง ก็หมายความว่าคุณจะมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง"

ออเดรย์ ถึงขยายความว่า ถ้ามองในแง่หลักการแล้ว โลกดิจิทัลสามารถทวีคูณทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว เช่น ผ่านแฮชแท็ก ผ่านการร้องเรียน ซึ่งถือเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยตรง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรามีการควบคุมประชาชนโดยตรง ดิจิทัลก็จะกลายเป็นเครื่องมือช่วยในการควบคุมโดยตรงของเผด็จการเช่นกัน แน่นอนว่า สังคมเผด็จการนก็ยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลได้

แต่โดยธรรมชาติแล้ว อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่เชื่อโยงกันและกัน ซึ่งหมายความว่าแม้จะมีรูปแบบปกครองที่แตกต่างกันก็ยังเชื่อมโยงกันได้ ประชาชนจะต้องสร้างลิ้งก์เชื่อมโยงระหว่างกันและกัน และเชื่อมโยงนวัตกรรมของแต่ละฝ่ายเพื่อผลักดันแนวคิดที่ปฏิบัติได้ และเริ่มร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์พลเมือง เพื่อสร้างนวัตกรรมแนวราบ