posttoday

ตัด GSP มีสัญญาณมาตั้งแต่กลางปีแต่รัฐบาลขยับไม่ทัน

27 ตุลาคม 2562

ก่อนหน้านี้มีสัญญาณออกมาเป็นระยะเช่นกัน และทางการไทยกังวลกับคำขู่ของสหรัฐ เพราะการต่ออายุ GSP ขึ้นกับดุลพินิจของสหรัฐ

หลายคนกำลังหาที่มาที่ไปว่าทำไมสหรัฐจึงตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) กับไทย บางทฤษฎีชี้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการแบน 3 สารพิษ เพราะก่อนหน้านี้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐส่งจดหมายแสดงความกังวล (เนื่องจากกระทบต่อธุรกิจสารเคมีของสหรัฐ) บางทฤษฎีโยงว่าเกี่ยวข้องกับการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปพบนายเหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหัวเว่ย ซึ่งเป็นคู่กรณีของรัฐบาลสหรัฐ และเป็นหนึ่งในสาเหตุของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ

ทฤษฎีเหล่านี้ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐตัดสิทธิ์ไทยเพราะปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวในภาคการประมง และมีสัญญาณบ่งชี้มานานหลายเดือนแล้วว่าไทยจะถูกเล่นงานในประเด็นนี้ และอันที่จริงแล้ว สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้เริ่มการพิจารณาสถานะของไทยมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2018 โดยมีประเทศที่อยู่ในข่ายพิจารณาพร้อมกันคือ อิรัก อินโดนีเซีย โบลิเวีย อุซเบกิสถาน ผลก็คือไทยกับยูเครนถูกตัดสิทธิ์พร้อมกันในวันที่ 25 ตุลาคม 2019 ดังนั้นไม่มีเรื่องเบื้องหลังอะไรมากไปกว่าการพิจารณาตามขั้นตอนของสหรัฐ

ก่อนหน้านี้มีสัญญาณออกมาเป็นระยะเช่นกัน

มีนาคม - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะตัดยุติสถานะ GSP กับอินเดีย และในเดือนมิถุนายนจึงประกาศตัดสิทธิในที่สุด โดยอ้างว่าสหรัฐถูกกันไม่ให้เข้าถึงตลาดอินเดียได้อย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล นอกจากนี้อินเดียยังเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จาก GSP มากที่สุดในปี 2017 ทว่า การตัดสิทธิ GSP ก่อให้เกิดข้อกังขาอย่างมาก เพราะแม้แต่พันธมิตรของสหรัฐอย่างอินเดีย ก็ยังไม่หนีไม่พ้นจากนโยบายชาตินิยมของทรัมป์ และในตอนนั้นภาคธุรกิจในไทยมองว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิอินเดียน้อย และไทยน่าจะได้รับประโยชน์เสียด้วยซ้ำ (ดู Thais keen as India gets Trump treatment, Bangkok Post)

พฤษภาคม - สัญญาณอันตรายเริ่มชัดขึ้น เมื่อรัฐบาลสหรัฐตัดสิทธิ GSP ของตุรกีไปอีกราย โดยอ้างว่าตุรกีมีเศรษฐกิจที่พัฒนาเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องพิจารณาคือ ตรุกีเคยเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐมานาน จนกระทั่งเกิดความพยายามก่อรัฐประหารตุรกีในปี 2016 โดยตุรกีสงสัยว่าสหรัฐให้การหนุนหลังผู้ก่อเหตุ จึงเริ่มขัดแย้งกับสหรัฐ มีการพิจารณาเรื่องสถานะของตุรกีในฐานะพันธมิตรนาโต และล่าสุดคือการที่ตุรกีส่งกำลังเข้าไปในซีเรียโดยไม่แยแสสหรัฐ

มิถุนายน - ต้นเดือนมิถุนายน มีรายงานข่าวว่าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กำลังพิจารณาถอดถอนสิทธิ์ GSP ของไทยกับอินโดนีเซีย เนื่องจากการละเมิดสิทธิแรงงาน การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการไม่เปิดตลาดให้เสรีมากพอสหรัฐธุรกิจสหรัฐได้เข้าไปดำเนินการ

มิถุนายน - ต่อมาบริษัท Maybank Kim Eng Research เตือนว่า ไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียสถานะพิเศษตามเงื่อนไข GSP โดยสหรัฐกำลังพิจารณาว่าไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรของสหรัฐเพียงพอหรือไม่ และสิทธิแรงงานของไทยเหมาะสมแล้วหรือไม่ จะเห็นได้ว่า สหรัฐจับตาเรื่องสิทธิแรงงานมาหลายเดือนแล้ว (และอันที่จริงเป็นประเด็นที่สหรัฐเตือนไทยมาโดยตลอด) อย่างไรก็ตาม Maybank ยังเห็นว่าสหรัฐยังใช้ GSP เพื่อเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการค้ากับประเทศคู่กรณี หรือในเวลานี้ใช้การตัดสิทธิ GSP เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองในช่วงที่กำลังทำสงครามการค้ากับจีน

มิถุนายน - ปลายเดือนมิถุนายน ยังไม่มีสัญญาณว่าสหรัฐจะเล่นงานไทย ตรงกันข้ามมีการเปิดเผยรายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ (TIP) โดยรัฐบาลสหรัฐประจำปี 2019 ปรากฎว่า ไทยยังคงอยู่ในสถานะเดิมคือ Tier 2 หรือระดับถูกจับตา พร้อมระบุว่า ไทยมีความคืบหน้าในการตรวจสอบพบเหยื่อการค้ามนุษย์ และลงโทษผู้กระทำความผิด แต่ไทยจะต้องปรับปรุงมาตรฐานหลายๆ ด้านที่ยังไม่ถึงถึงมาตรฐานขั้นต่ำ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ไทยอยุ่ในระดับ Tier 3 ที่ต่ำที่สุดในปี 2014 และปรับขึ้นมา Tier 2 ในปี 2018

กันยายน - ลิวอิส คาเรช ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เดินทางมายังประเทศไทย และเสนอให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายแรงงาน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ตามหลักปฏิบัติสากลด้านการคุ้มครองงแรงงาน และเขายังเสนอให้ไทยแก้กฎหมายปกป้องแรงงานต่างด้าวจากการถูกนายจ้างไทยลงโทษเพราะจัดตั้งสหภาพแรงงานด้วย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ทางการไทยกังวลกับคำขู่ของสหรัฐ เพราะการต่ออายุ GSP ขึ้นกับดุลพินิจของสหรัฐ (ดู US tells Thailand to allow foreign worker unions, Bangkok Post)

ตุลาคม - สัญญาณที่ USTR ส่งมาถึงไทยในเดือนกันยายนกลายเป็นจริงในที่สุด เมื่อสหรัฐประกาศตัดสิทธิ GSP ของไทยในเดือนถัดมา โดยในจดหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งไปถึงประธานสภาพผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เขาได้ระงับการสิทธิ GSP ของผลิตภัณฑ์ไทยบางประเภท เนื่องจากไทยไม่ได้ดำเนินการปกป้องแรงงานตามาตรฐานสากลเรื่องสิทธิแรงงาน

อ้างอิง


• GSP: Notice Regarding a Hearing for Ongoing Country Practice Reviews of Bolivia, Ecuador, Georgia, Indonesia, Iraq, Thailand, and Uzbekistan and for the Ongoing Country Designation Review of Laos Notice
https://ustr.gov/sites/default/files/files/gsp/2018-22374.pdf

• Regarding the 2018 GSP Annual Product Review and Initiation of Country Practice Review of Thailand https://ustr.gov/sites/default/files/gsp/frn/FRN%20accepted%20product%20petitions%20and%20Thailand.pdf

• Thais keen as India gets Trump treatment
https://www.bangkokpost.com/business/1692404/thais-keen-as-india-gets-trump-treatment

• Maybank: Thai GSP perks at risk
https://www.bangkokpost.com/world/1695332/maybank-thai-gsp-perks-at-risk

• Thailand remains in Tier 2 for trafficking efforts
https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1699340/thailand-remains-in-tier-2-for-trafficking-efforts

• US tells Thailand to allow foreign worker unions
https://www.bangkokpost.com/business/1548022/us-tells-thailand-to-allow-foreign-worker-unions

• USTR Announces GSP Enforcement Actions and Successes for Seven Countries
https://ustr.gov/about-us/policy-offices/press-office/press-releases/2019/october/ustr-announces-gsp-enforcement#