posttoday

เปิดหลักสูตรการศึกษา ที่ฝรั่งเศสเขาสอนกันยังไงบ้าง

24 ตุลาคม 2562

การศึกษาของฝรั่งเศสจะไม่เน้นการจัดลำดับที่ แต่จะสอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์มีข้อสนับสนุนข้อคัดค้านในการเขียนตอบข้อสอบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

การศึกษาของฝรั่งเศสจะไม่เน้นการจัดลำดับที่ แต่จะสอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์มีข้อสนับสนุนข้อคัดค้านในการเขียนตอบข้อสอบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

จากกรณีที่เป็นประเด็นร้อนไปทั่วเมืองของหนุ่มแว่นหัวร้อนด่ากราดและดูถูกคนขับรถกระบะคู่กรณีว่าเป็นคนชั้นต่ำ และอ้างว่าไปเรียนต่างประเทศมาเป็นสิบปี ทำให้โลกอินเทอร์เน็ตช่วยกันสืบค้นประวัติของหนุ่มแว่นหัวร้อนและพบว่าเคยศึกษาที่ ISEE Business School ของฝรั่งเศส และพ่อเผยว่าไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ 6 ขวบ เพิ่งกลับไทยได้ราว 1 ปี

โพสต์ทูเดย์หยิบยกข้อมูลระบบการเรียนการสอนของฝรั่งเศสมาอธิบายคร่าวๆ  เพื่อทำความเข้าใจภูมิหลังด้านการศึกษาของหนุ่มหัวร้อนรายนี้

ระบบการศึกษาเป็นระบบที่แตกต่างจากการศึกษาของไทยและประเทศตะวันตกอื่นๆ เนื่องจากชาวฝรั่งเศสจะให้ความสำคัญกับการศึกษา และฝากความหวังให้โรงเรียนเป็นสถานที่บ่มเพาะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ การศึกษาในโรงเรียนของรัฐตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนจนถึงมัธยมปลายเป็นแบบให้เปล่า ไม่เสียค่าเล่าเรียน โรงเรียนเป็นผู้จัดหาหนังสือเรียนให้ยืมใช้ตลอดการศึกษา

นอกจากนี้ ยังใช้ระบบภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยในการเลือกเข้าโรงเรียน เมื่อเด็กจบชั้นอนุบาล โรงเรียนจะส่งตัวต่อให้โรงเรียนประถมศึกษาในเขตเดียวกัน โดยเป็นแบบนี้เป็นทอดๆ จนกระทั่งจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้นจึงไม่มีการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียน ด้วยหลักการที่ว่าเด็กทุกคนไม่ว่าสัญชาติใดล้วนมีโอกาสเท่าเทียมกันทางการศึกษา

1.การศึกษาก่อนวัยเรียน อายุ 3-5 ปี

ระดับนี้ไม่ถือเป็นการศึกษาภาคบังคับ การสอนในระดับนี้มุ่งเน้นให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเอง การพัฒนาทักษะทางภาษา และการเข้าสังคม อาทิ การออกกำลังกาย วาดภาพระบายสี ปั้นดินน้ำมัน การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน โดยใช้การประเมินผลด้วยระดับความสามารถ เช่น ดี ดีมาก พอใช้ แทนการสอบจัดลำดับในชั้นเรียน

2.ระดับประถมศึกษา อายุ 6-10 ปี

เป็นก้าวแรกของการศึกษาภาคบังคับ โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ชั้นเตรียมประถมศึกษา (CP), ชั้นประถมศึกษาต้นปีที่ 1 (CE1), ชั้นประถมศึกษาต้นปีที่ 2  (CE2), ชั้นประถมศึกษากลางปีที่ 1 (CM1), ชั้นประถมศึกษากลางปีที่ 2 (CM2) วิชาที่สอนในระดับประถมแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ภาษาฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง 2) คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3) พลศึกษา ศิลปะ ดนตรี โดยเน้นที่การพัฒนาทักษะการอ่านและเขียน รวมทั้งยังมีคอร์สพิเศษที่เรียกว่า discovery class หรือการศึกษานอกห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาราว 1-3 สัปดาห์กับสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยจะวัดผลในรูปของการบ้าน แบบทดสอบ การตอบคำถามในชั้นเรียน ไม่มีการจัดลำดับที่

3.ระดับมัธยมศึกษา อายุ 11-18 ปี แบ่งเป็น 2 ระดับ

3.1 มัธยมต้น (collège) อายุ 11-14 ปี ระดับนี้แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ตั้งแต่ชั้น 6, ชั้น 5 , ชั้น 4 และชั้น 3 ระดับชั้นนี้เริ่มเน้นวิชาเฉพาะเพิ่มเติมจากระดับประถมศึกษา ได้แก่ เคมี ชีววิทยาและธรณีวิทยา เทคโนโลยี โดยจะมีครูเฉพาะของแต่ละวิชา หลังจากระดับนี้จะแล้วระบบของฝรั่งเศสจะแยกเป็นสายสามัญและสายอาชีพ หลักสูตรนี้จึงกำหนดให้นักเรียนชั้น 3 ทุกคนต้องฝึกงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อทำความรู้จักกับอาชีพต่างๆ และต้องทำรายงานการฝึกงานทั้งข้อเขียนและสอบปากเปล่า ในระดับนี้การวัดผลด้วยการสอบเก็บคะแนนตลอดปี มีคะแนนการมีส่วนร่วมอภิปรายในชั้น  เมื่อสิ้นปีชั้น 3 จะมีการสอบรับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนต้น (Brevet)  ซึ่งข้อสอบส่วนหนึ่งเป็นข้อสอบกลางทั่วประเทศ  ใบคะแนนผลการเรียนจะระบุคะแนนที่ได้ในแต่ละวิชาและคะแนนเฉลี่ยรวมทุกวิชาของนักเรียน พร้อมความเห็นของครูผู้สอนแต่ละวิชา คะแนนสูงสุดของชั้น และคะแนนเฉลี่ยของชั้นในวิชานั้นๆ เพื่อให้เห็นว่านักเรียนจัดอยู่ในกลุ่มใด แต่จะไม่มีการจัดลำดับที่

3.2  มัธยมปลาย  อายุ 15-18 ปี แยกเป็น 2 สาย คือ สายสามัญและเทคโนโลยี และสายวิชาชีพ โดยทั้ง 2 สายแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ

  • ชั้น 2 (Seconde) ในสายสามัญและเทคโนโลยี  นักเรียนทุกคนเรียนวิชาพื้นฐาน
  • ชั้น 1 (Première) ในสายสามัญและเทคโนโลยี นักเรียนเข้าสู่สายวิชาเฉพาะ เช่น สายสามัญวิทยาศาสตร์ สายสามัญเศรษฐศาสตร์และสังคม สายสามัญภาษาและวรรณคดี สายเทคโนโลยีบริหารจัดการ สายเทคโนโลยีออกแบบศิลปะ
  • ชั้นปลาย (Terminale)   เมื่อสิ้นปีการศึกษา เด็กต้องเข้าสอบรับประกาศนียบัตร Baccalauréat สายสามัญและเทคโนโลยี หรือ สายวิชาชีพ ซึ่งเป็นการสอบทั่วประเทศใช้ข้อสอบกลาง เป็นการสอบที่เปิดสิทธิให้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ทั้งนี้ ในสายวิชาชีพ หลังจบชั้นชั้น 1 นักเรียนสามารถสอบรับประกาศนียบัตรวิชาชีพ Certificat d’Aptitude Professionnelle (CAP)  หรือ Brevet d’Etudes Professionnel (BEP) และเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

ระดับนี้ประเมินผลการเรียนเช่นเดียวกับระดับมัธยมต้น

4.ระดับอุดมศึกษา

มหาวิทยาลัยของรัฐจะเปิดรับนักเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตร Baccalauréat ทุกคนโดยไม่มีการสอบคัดเลือก ยกเว้นในสายเฉพาะทาง เช่น แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ เศรษฐศาสตร์ และนักกฎหมาย

5.ระดับวิชาชีพชั้นสูง (Grandes Écoles)

เป็นการศึกษาชั้นนำในระดับหัวกะทิของฝรั่งเศสที่มุ่งสร้างบุคลากรชั้นนำทางด้านวิชาการและวิชาชีพ โดยต้องผ่านการสอบเข้าอย่างเข้มงวด ปัจจุบันเปิดสอนใน 4 กลุ่มวิชา คือ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์, วิศวกรรมและเทคโนโลยี, การจัดการและบริหารธุรกิจ, กลุ่มวิชาชีพอื่น เช่น สถาปัตยกรรม ศิลปะ สัตวแพทย์ โดยเน้นการสร้างพื้นฐานความรู้ทางวิชาการที่มั่นคงในสาขาวิชาชีพ ใช้เวลาศึกษา 3 ปี และจะได้รับปริญญาบัตรเทียบเท่าระดับปริญญาโท

ที่มาข้อมูล : สำนักงาน ก.พ., วิกิพีเดีย : Education in France