posttoday

“เกาหลีใต้” พัฒนาการศึกษา เทคโนโลยีล้ำ นวัตกรรมเลิศ เริ่มที่ทรัพยากรมนุษย์

20 ตุลาคม 2562

ยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเกาหลีใต้นั้น มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีขีดความสามารถพื้นฐาน อันพึงมีสำหรับศตรวรรษที่ 21

“เกาหลีใต้” เป็นหนึ่งในประเทศที่มักจะมีชื่ออยู่ในลำดับต้นๆ เมื่อมีการกล่าวถึงนวัตกรรมแห่งยุคที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต โดยเฉพาะบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อันทันสมัยในศตวรรษที่ 21 ที่วางขายอยู่ในท้องตลาด และมักจะดูโดดเด่นสะดุดตา จนเป็นที่กล่าวขานว่าสินค้าเกาหลี มักจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีล้ำสมัย รูปร่างหน้าตาโฉบเฉี่ยว และดูดีมีรสนิยมอยู่เสมอ

ภาพลักษณ์ของสินค้าเกาหลีเป็นเสมือนกระจกที่ฉายภาพสะท้อนของ “การศึกษา” ภายในประเทศเกาหลีใต้ ที่มุ่งเน้นการผสมผสานระหว่าง” ศิลปศาสตร์” เข้ากับ “วิทยาศาสตร์” นำไปสู่ผลผลิตที่กลายเป็นบุคลากรของประเทศซึ่งผ่านหลักสูตรการศึกษาต่างๆ ทำให้มีความรู้ความสามารถควบคู่ไปกับมีทักษะการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างแปลกใหม่น่าสนใจตลอดเวลา จนเป็นที่กล่าวกันว่าถ้าเป็นเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยใช้ความสร้างสรรค์นั้น เกาหลีใต้ทำได้โดดเด่นที่สุดในยุคนี้เลยทีเดียว

“เกาหลีใต้” พัฒนาการศึกษา เทคโนโลยีล้ำ นวัตกรรมเลิศ เริ่มที่ทรัพยากรมนุษย์

เบื้องหลังความสำเร็จนั้นมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน พร้อมๆ กับการลงมือทำอย่างจริงจังในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ผ่านการพัฒนาด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีพัฒนาการในแต่ละยุคสมัยอย่างเด่นชัด

ยุคแรกของการพัฒนา เป็นช่วงฟื้นฟูประเทศซึ่งต้องการกำลังคนมาช่วยงาน การกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงจึงเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนเพื่อสร้างรากฐานให้เข้มแข็ง ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมการผลิตเติบโตและพัฒนาขึ้น ต้องทักษะแรงงานมากขึ้น นโยบายด้านการศึกษาจึงให้ความสำคัญกับการศึกษา สายอาชีพ พร้อมๆ กับการพัฒนาหลักสูตรให้เป็นสากลมากขึ้นควบคู่กันไปด้วย ครั้นเมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเทคนิคมากขึ้น และบัณฑิตสายสามัญเริ่มล้นตลาด นโยบายทางการศึกษาจึงส่งเสริมสายอาชีพมากยิ่งขึ้น และปรับรูปแบบการศึกษาและการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาให้มีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน

ปัจจุบัน สังคมเกาหลีใต้มุ่งสู่การเป็น “สังคมฐานความรู้” หรือ “Knowledge base society” อันหมายถึง สังคมที่สมาชิกเกื้อหนุนและส่งเสริมกันให้เกิดการเรียนรู้ผ่านแหล่งข้อมูล หรือแหล่งความรู้ต่างๆ จนสมาชิกสามารถสร้างความรู้ สร้างทักษะ มีการแลกเปลี่ยนกัน จนเกิดพลังสร้างสรรค์สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมขึ้นมาได้ ดังนั้นการศึกษาในยุคนี้จึงหล่อหลอมให้ผู้เรียนมีขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ความรู้ และทักษะที่จำเป็นสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ

“เกาหลีใต้” พัฒนาการศึกษา เทคโนโลยีล้ำ นวัตกรรมเลิศ เริ่มที่ทรัพยากรมนุษย์

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเกาหลีให้ความสำคัญเรื่องของความคิดสร้างสรรค์คือภาพการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ที่มีความโดดเด่น ของใช้ใกล้ตัวต่างๆ  มีการออกแบบรูปลักษณ์ได้สวยงาม และยังพรั่งพร้อมไปด้วยคุณภาพที่เชื่อถือได้อีกด้วย โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ คือการร่วมมือกันอย่างจริงจังด้านการศึกษาของภาครัฐบาลและเอกชนซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันนั่นเอง

ยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเกาหลีใต้นั้น มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีขีดความสามารถพื้นฐาน อันพึงมีสำหรับศตรวรรษที่ 21 โดยตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา นโยบายด้านการศึกษามุ่งเน้นการส่งเสริมให้กระบวนการเรียนรู้ต้องช่วยทำให้เด็กรู้จักบูรณาการความรู้และเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่า การที่เด็กจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้นั้นจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนั้นในทุกๆ มิติ ดังนั้น Interdisciplinary Studies หรือ การเรียนรู้แบบสหวิทยาการจึงถูกประยุกต์ในการกระบวนการเรียนรู้ยุคใหม่

การเรียนรู้แบบสหวิทยาการนั้นเป็นแนวคิดที่เปิดกว้าง ไม่จำกัดการเรียนรู้แค่ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง จึงทำให้ผู้เรียนสามารถมีความรู้แบบองค์รวม มีกระบวนการคิดการตัดสินใจบนฐานของข้อมูล และมีทัศนคติแบบสากลนิยม แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่านโยบายการศึกษาจะปรับเปลี่ยนเช่นไร แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาแนวคิดในการพัฒนาระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ยังคงยึดหลักการของชาติ ที่เรียกว่า “Hongik Ingan” (ฮงอิก อินกัน) อันหมายถึง “การทำเพื่อประโยชน์ของทุกคน” ไว้อย่างเหนียวแน่น ดังนั้นเป้าหมายของการศึกษาในทุกยุคทุกสมัยคือต้องช่วยให้ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้สมบูรณ์  อย่างมีอิสระ  และเป็นพลเมืองประชาธิปไตยที่ร่วมกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของประเทศชาติ นั่นหมายถึงแต่ละคนต้องมีขีดความสามารถในการพัฒนาตนเอง แม้ว่าจะเติบโตหรืออาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน และแต่ละคนต้องสามารถนำความรู้และทักษะมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ ขณะเดียวกันนั้นก็ต้องมีความเข้าใจโลกสากล และอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างใส่ใจและแบ่งปันกันด้วย

“เกาหลีใต้” พัฒนาการศึกษา เทคโนโลยีล้ำ นวัตกรรมเลิศ เริ่มที่ทรัพยากรมนุษย์

การศึกษาของเกาหลีใต้ จึงมีหลักในการสร้างคนให้มีความสามารถด้านต่างๆ ได้แก่ ความสามารถในการจัดการตนเองได้ดี สามารถประมวลผลข้อมูลหรือความรู้ที่ได้มาอย่างชัดเจน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความฉลาดทางอารมณ์ มีทักษะด้านการสื่อสาร และท้ายสุดคือเป็นพลเมืองคุณภาพของสังคม

การปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ผ่านการศึกษาของเกาหลีใต้นั้น ยังได้นำเอาหลัก “การเรียนรู้จากประสบการณ์เชิงสร้างสรรค์”  หรือ Creative Expereintial Learning (CEL) มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน เช่น กิจกรรมชมรม หรือกิจกรรมอาสาต่างๆ

นอกจากนั้นแล้วแม้ว่าเกาหลีใต้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็เป็นประเทศก็ได้ขึ้นชื่อว่าภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมทุ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D มากเป็นอันดับสองของโลกเลยทีเดียวโดยงบประมาณส่วนใหญ่สนับสนุน โดยตรงตามโครงการวิจัยและพัฒนาของสถาบันการศึกษานั่นเอง จึงเกิดความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง อันเป็นกลไกลสำคัญที่ทำเกาหลีใต้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอวดสายตาชาวโลกอยู่เสมอ

“เกาหลีใต้” พัฒนาการศึกษา เทคโนโลยีล้ำ นวัตกรรมเลิศ เริ่มที่ทรัพยากรมนุษย์

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการปลูกฝังแนวคิดให้คนเกาหลีตระหนักถึงการเป็นพลเมืองของสังคมที่ไม่ได้หมายถึงแค่สังคมเกาหลีเท่านั้น แต่หมายถึงการเป็นพลเมืองของโลก ด้วยเป้าหมายที่ต้องการยกระดับเกาหลีใต้ให้เป็นสากล ดังนั้นระบบการศึกษาจึงส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้คนเกาหลีเป็น Global citizenship หรือเป็นพลเมืองคุณภาพของโลกนั่นเอง

ตัวอย่างเมืองใหม่ของเกาหลีใต้ ที่ชื่อว่า “ซองโด”  (Songdo) ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “Smart City” หรือ “The Ubiquitous city” มีการเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน โดยอาศัยเทคโนโลยี จนเป็นที่มาของฉายา “The Ubiquitous city”  โดยภายในเมืองมีการจัดการอย่างชาญฉลาด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านการจราจร และอาคารทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ “ซองโด” กลายเป็น “Smart city” สำหรับผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน

เจ้าของอพาร์ทเมนท์ภายใน “ซองโด” สามารถจัดการกับห้องพักของตนเองได้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นการ เปิด-ปิดประตู เปิด-ปิดไฟฟ้า เปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ ระบบกันขโมย หรือสั่งงานอุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันอาคารบ้านเรือนที่นี่จะเป็นอาคารประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในเมืองจะมองไม่เห็นรถเก็บขยะ  เพราะขยะที่นี่ลำเลียงผ่านท่อใต้ดินไปยังโรงงานรีไซเคิล หรือส่งไปยังโรงไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้นยังมีสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ควบคู่กันไปด้วย

นอกจากความเป็น Smart City หรือ The Ubiquitous city แล้ว “ซองโด” ยังทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งกลไกลสำคัญ ในการพัฒนาพลเมืองเกาหลีใต้ให้ก้าวสู่สากลได้อย่างมีคุณภาพโดยอาศัยการศึกษาที่ได้มาตรฐานสากล เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการศึกษา รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่าวิทยาเขตร่วม ที่มีชื่อว่า Incheon Global Campus ภายใต้คำจำกัดความที่ว่า “อินชอนโกลบอลแคมปัส เป็นศูนย์กลางการศึกษารูปแบบใหม่ เรานำ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมาอยู่ที่นี่ เพื่อมอบบรรยากาศทางการศึกษาชั้นนำให้แก่นักศึกษาในประเทศและจากต่างประเทศ”

“เกาหลีใต้” พัฒนาการศึกษา เทคโนโลยีล้ำ นวัตกรรมเลิศ เริ่มที่ทรัพยากรมนุษย์

รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ  ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนของที่นี่ไม่แพ้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเลยทีเดียว โดยผู้คนต่างกล่าวขานกันว่า ที่นี่เป็นโครงการระดับชาติ ของรัฐบาลเกาหลีใต้และเทศบาลเมืองอินชอน เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษาให้เกาหลีใต้ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำระดับโลก ในศตวรรษที่ 21 โดยในปัจจุบัน วิทยาเขต Incheon Global Campus คือแหล่งรวมคนเก่งจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 5,000 คน ซึ่งแม้ว่านักศึกษาจะเรียนต่างมหาวิทยาลัยกัน แต่ก็จะอยู่ใกล้ชิดในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานสากลเดียวกัน มีกิจกรรมร่วมกันอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้คนเก่งๆ เหล่านี้ได้สร้างเครือข่ายร่วมกันนั่นเอง ดังนั้นเมื่อกลายเป็นวิทยาเขตร่วมของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแล้ว นักศึกษาจะได้มีโอกาสเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นจนจบการศึกษาไปเป็นบัณฑิตจากวิทยาเขตที่เป็นสากลและมีเครือข่ายที่เป็นสากลนั่นเอง

ถึงวันนี้ภาพที่ฉายชัดของเกาหลีใต้คือ วิธีการสร้างสังคมบนฐานความรู้ หรือ Knowledge base society ให้สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ผ่านกระบวนการศึกษา โดยเริ่มต้นจากการมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาการศึกษาของชาติ ที่จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อย่างเช่นเกาหลีใต้กำลังแสดงให้ทั้งโลกเห็นทุกวันนี้

“เกาหลีใต้” พัฒนาการศึกษา เทคโนโลยีล้ำ นวัตกรรมเลิศ เริ่มที่ทรัพยากรมนุษย์