posttoday

เปิดแฟ้มมุมมองใหม่14 ตุลา เบื้องหลังสู้เพื่อเอกราชท่ามกลางภัยเสี่ยงต่ออธิปไตย

14 ตุลาคม 2562

อีกหนึ่งมุมมองต่อเหตุการณ์วันมหาวิปโยค จากหลักฐานของรัฐบาลสหรัฐ โดยกรกิจ ดิษฐาน

อีกหนึ่งมุมมองต่อเหตุการณ์วันมหาวิปโยค จากหลักฐานของรัฐบาลสหรัฐ โดยกรกิจ ดิษฐาน

การเคลื่อนไหวของบวนการนักศึกษาและประชาชนที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีหลายเป้าหมาย เป้าหมายที่เราทราบกันดีคือการขับไล่ "เผด็จการถนอม ประภาส ณรงค์" แต่อีกเป้าหมายหนึ่งซึ่งสำคัญพอๆ กันคือการขับไล่กองทัพสหรัฐออกไปจากประเทศไทย

ในเวลานั้นไทยเป็นพัธมิตรของสหรัฐในสงครามเวียดนาม เมื่อถึง พ.ศ.2516 มีฐานทัพอเมริกาในไทยถึง 12 แห่ง ในเดือนกันยายนมีทหารอเมริกันอยู่ในไทย 38,500 นาย การผนึกกำลังกันระหว่างไทยกับสหรัฐ มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา

กระแสต่อต้านกองทัพสหรัฐรุนแรงถึงขีดสุดในปี 2516 โดยมีการณรงค์เคลื่อนไหวของนักศึกษาที่เห็นว่าไทยถูกริดรอนเอกราชโดยสหรัฐ มีการใช้วาทกรรมการเมืองแบบฝ่ายซ้าย เช่น จักรพรรดินิยม มาใช้โจมตีสหรัฐที่ครอบงำไทยให้อยู่ในสถานะกึ่งเมืองขึ้นในสายตาของพวกฝ่ายซ้าย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ขบวนการนักศึกษากำลังขับไล่สหรัฐออกไปจากไทย "รัฐบาลทรราชย์" ที่นักศึกษาขับไล่ไปพร้อมๆ กันนั้นก็เคลื่อนไหวเพื่อให้สหรัฐถอนทัพออกไปเช่นกัน

เรื่องที่เหนือความคาดหมายนี้เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ของกองทัพสหรัฐกำลังถอนตัวจากเวียดนาม และรัฐบาลสหรัฐถูกกดดันจากสภาคองเกรสให้ตัดงบประมาณด้านการสงคราม หากสหรัฐถอนกำลังทหารออกไปจากอินโดจีน จะทำให้ไทยถูกโดดเดี่ยว ต้องรับมือกับภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์เพียงลำพัง ไทยจึงต้องหาทางเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความเสี่ยงต่ออธิปไตยจากการรุกรานของคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการใหม่

จากเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2516 ริชาร์ด ที. เคนเนดี แห่งสภาความมั่นคงมีบันทึกช่วยจำไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเฮนรี คิสซิงเจอร์ เรื่องขอเพิ่มการช่วยเหลือทางการทหารให้ประเทศไทยเพิ่มเติม ทว่า มีปัญหาเรื่องสภาคองเกรสไม่สนับสนุนงบประมาณอีก กระนั้นกลับกลายเป็นว่าไทยไม่ต้องการความช่วยเหลือ เคนเนดียังได้รับโทรเลขยืนยันจาก อันเกอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ ว่า "มีปฏิกริยาอย่างหนักหน่วงของฝ่ายไทยให้ตัดลงความช่วยเหลือด้านการทหารลง ... อันเกอร์เห็นอย่างยิ่งกว่าเราจะต้องทำอะไรบางอย่าง"

ทางสหรัฐติดตามสถานการณ์ในไทยอย่างใกล้ชิด และพบว่าฝ่ายไทยต้องการให้สหรัฐถอนทหารออกไป อย่างไรก็ตามโทรเลขของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2516 ระบุว่า บรรยากาศการเมืองในไทยค่อนข้างรุนแรง การลดกำลังทหารครั้งแรกไม่ได้ผล และควรจะลดกำลังทหารอีกเพื่อให้รัฐบาลไทยพอใจ และจะช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถรับมือกับความไม่พอใจในประเทศ นั่นคือกระแสต่อต้านกองทัพสหรัฐ ดังนั้นสถานทูตมีข้อแนะนำมายังกระทรวงการต่างประเทศที่วอชิงตันว่า "วอชิงตันจะต้องพิจารณาอย่างจริงจังเรื่องถอนทหาร"

จากเอกสารบันทึกช่วยจำของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เมื่องวันที่ 26 กันยายน 2516 หรือเพียง 18 วันก่อนที่เกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เดินทางไปยังนครนิวยอร์ก และหาหรือกับเฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เกี่ยวกับกองทัพสหรัฐในไทย สถานการณ์ในเวียดนาม และกัมพูชา

คณะของฝ่ายไทยยังประกอบด้วยนายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตันในขณะนั้น นายแผน วรรณเมธี อดีตอธิบดีกรมการเมือง และนายอาสา สารสิน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เนื้อหาส่วนของการเจรจาเพื่อถอนกำลังทหารมีดังนี้

ชาติชายสอบถามเกี่ยวกับการถอนกองกำลังของเราออกจากประเทศไทย

รัฐมนตรี (คิงซิงเจอร์): บอกผมทีว่าใครต้องการให้กองทัพออกไป? ทั้งประเทศไทยและสหรัฐคอยวิเคราะห์ท่าทีของกันและกัน และคาดเดาว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร จุดยืนของเราคือถ้ามันจะช่วยสถานการณ์ภายในประเทศไทย เรายินดีที่จะลดกำลังของเรา ถ้ามันจะช่วยไทยในด้านสถานการณ์ระหว่างประเทศเราจะคงทหารไว้ที่นั่น โปรดบอกสิ่งที่คุณต้องการ อย่าตัดสินใจบนพื้นฐานของการคาดเดาถึงสิ่งที่เราต้องการ

ชาติชาย: เราไม่ได้ขอถอนในขณะที่สถานการณ์ไม่แน่นอน หากไม่มีการถอนตัวของเวียดนามเหนือจากลาว สหรัฐก็ไม่ควรถอนตัวจากไทย คนไทยสงสัยว่าสหรัฐต้องการอยู่ต่อเองหรือไม่ หรือเป็นเพราะรัฐบาลไทยขอให้สหรัฐอยู่ต่อ (เช่นในกรณีหลังจะไม่เป็นปัญหา)

คิงซิงเจอร์: สหรัฐยินดีที่จะทำการปรับจำนวนกำลังพล จะมีแรงกดดันจากรัฐสภาให้ปรับลดลง แต่เราสามารถจัดการได้

อานันท์: เราต้องการให้ถอนกำลังทหารเล็กน้อยเหลือ 32,000 นาย

คิงซิงเจอร์: ตอนนี้กำลังพลเรามีอยู่เท่าไร?

อานันท์: ขณะนี้ทหารสหรัฐในประเทศไทยมีประมาณ 38,500 นาย

คิงซิงเจอร์: คุณต้องการให้เราลดกำลังพลเหลือ 32,000 นาย แล้วคุณต้องการให้เราถอนกองกำลังเชิงยุทธศาสตร์ออกมาบ้างหรือไม่?

ชาติชาย: ใช่ เราต้องการให้คุณกลับไปสู่ระดับก่อนการโจมตีเมื่อปี 2515 (pre-NVN offensive 1972) และถอนกองกำลังเชิงยุทธศาสตร์ของ rho ออกไป

ก่อนการโจมตีเมื่อปี 2515 (pre-NVN offensive 1972) หมายถึงการที่กองทัพเวียดนามเหนือบุกโจมตีเวียดนามใต้และสหรัฐอย่างหนักระหว่างเดือนมีนาคม - ตุลาคม 2515 ในศึกครั้งนั้นสหรัฐต้องระดมกำลังทางอากาศจากฐานทัพสหรัฐในไทยเข้าไปช่วยโจมตีเวียดนามเหนือ จึงมีการเพิ่มกำลังทหารอย่างมาก เช่น ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนถึง 13 พฤษภาคม มีการขนย้ายเครื่องบินรบ 176 F-4s และ Thunderchiefs F-105 12 จากฐานทัพอากาศในเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทย

แม้ว่าการโจมตีเมื่อปี 2515 จะไม่มีใครแพ้ใครชนะ แต่ทำให้เวียดนามเหนือได้เปรียบมากขึ้นในการเจรจาหยุดยิง ในเดือนมกราคม 2516 เวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ และสหรัฐ ลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีส (Paris Peace Accords) ซึ่งสหรัฐตกลงที่จะถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากเวียดนาม

การถอนกำลังทหารสหรัฐจากเวียดนามถือเป็นสัญญาณอันตรายของไทย เพราะเท่ากับเปิดช่องให้ต้องรับมือกับภัยคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่โดยไม่มีอะไรมาเป็นแนวกันชนอีกแล้ว คำถามก็คือ แล้วทำไมรัฐบาลจอมพลถนอมที่เปิดทางให้สหรัฐเข้าตั้งฐานทัพตั้งแต่แรก ถึงต้องการให้สหรัฐถอนกำลังออกไปในช่วงเวลาคับขัน?

นั่นก็เพราะมีเงื่อนไขการเมืองระหว่างประเทศที่พลิกผัน ย้อนกลับไปในปี 2514 สหรัฐสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเยือนจีนและเปิดสัมพนธ์ทางการทูตกับจีน อันที่จริงแล้วก่อนหน้านั้น คิสซิงเจอร์ทำทีเดินทางมาที่เมืองไทยก่อนที่จะใช้โอกาสนั้นแอบเดินทางไปที่ปักกิ่งเพื่อเจรจาเปิดสัมพันธ์ทางการทูต

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ไทยจึงต้องหันมาใช้การทูตนำการทหารบ้าง นี่คือสาเหตุของการเจรจาให้สหรัฐถอนกำลังทหารออกไปทีละน้อย พร้อมกันนั้นไทยก็เริ่มเจรจากับเวียดนามเพื่อป้องกันไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายเผชิญหน้ากันหลังสหรัฐถอนทัพออกไป นายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า นี่ไม่ใช่การแอนตี้อเมริกัน แต่เพราะสงครามสิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีเหตุที่กองทัพต่างชาติจะย้ายมาใช้แผ่นดินไทยเพื่อทำสงคราม แล้วทำให้ไทยเข้ายุ่งเกี่ยวกับสงครามโดยไม่ได้สมัครใจ

เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า คิสซิงเจอร์อาจเข้าใจถึงกระแสต่อต้านอเมริกันในไทย จึงกล่าวว่า "ถ้ามันจะช่วยสถานการณ์ภายในประเทศไทย เรายินดีที่จะลดกำลังของเรา ถ้ามันจะช่วยไทยในด้านสถานการณ์ระหว่างประเทศเราจะเก็บทหารไว้ที่นั่น" แต่ดูเหมือนว่าไทยไม่ต้องการตัวช่วยทางการทหารจากสหรัฐ เพราะเลือกที่จะใช้วิธีทางการทูต และคงเห็นการถอนทหารสหรัฐ เป็นการส่งสัญญาณฉันมิตรไปยังเวียดนามด้วย

หลังจากการพบกันที่นิวยอร์ก อีก 18 วันต่อ พลังนักศึกษาและประชาชนก็โค่นล้มรัฐบาลจอมพลถนอมได้สำเร็จ โดยที่การเจรจาถอนกำลังทหารยังไม่เสร็จสิ้น ปัญหานี้จะยืดเยื้อต่อไปพร้อมกับบรรยากาศนิยมฝ่ายซ้ายที่เฟื่องฟู และกระแสต้านจักรวรรดินิยมที่รุนแรง แต่ในเวลาเดียวกันราวปี 2518 ฝ่ายขวาก็เริ่มแข็งแกร่งขึ้น เกิดการลอบสังหารแกนนำฝ่ายซ้ายและแกนนำแรงงานหลายคน

จนถึงปี 2519 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม ฝ่ายซ้ายถูกกำราบอย่างหนักหน่วง และทำให้การทูตฉันมิตรกับเวียดนามและโลกคอมมิวนิสต์ชะงักไประยะหนึ่ง ส่วนในปีเดียวกันนั้น กองทัพสหรัฐได้ถอนกำลังออกจากไทยไปเงียบๆ

ทิ้งให้ไทยเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองต่อไป

 

อ้างอิง

Memorandum From Richard T. Kennedy of the National Security Council Staff to the President’s Assistant for National Security Affairs (Kissinger), Washington, March 7, 1973

Telegram 4623 From the Embassy in Thailand to the Department of State, March 22, 1973, 1236Z

Memorandum of Conversation, New York, September 26, 1973, 10 a.m.