posttoday

ญี่ปุ่นคืออันดับหนึ่งในการรับมือภัยพิบัติ ไต้ฝุ่นแรงแค่ไหนก็โค่นไม่ได้

12 ตุลาคม 2562

รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนการรับมือกับภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ส่วนประชาชนก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนการรับมือกับภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ส่วนประชาชนก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

เหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสรุนแรงเท่ากับเฮอร์ริเคนระดับ 5 พัดขึ้นฝั่งที่ญี่ปุ่น ทำให้เราคนไทยได้เห็นภาพการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของทั้งรัฐบาลและประชาชน โดยในฝั่งรัฐบาลนั้นนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ได้ตั้งวอร์รูมเฝ้าจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำชับให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น ด้านกระทรวงกลาโหมสั่งเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเอง 17,000 คน เตรียมพร้อมทุกวินาทีเพื่อลงพื้นที่ปฏิบัติการกู้ภัย

ฝั่งประชาชนก็ปฏิบัติตามคำเตือนของทางการอย่างเคร่งครัดและเป็นระเบียบ บางส่วนออกจากบ้านไปอยู่ที่ศูนย์หลบภัยของรัฐตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา เตรียมซื้ออาหารเท่าที่จำเป็นโดยไม่กักตุน นำบอร์ดมาปิดกั้นกระจกเพื่อป้องกันสิ่งของถูกลมพัดมากระแทกเสียหาย

ญี่ปุ่นคืออันดับหนึ่งในการรับมือภัยพิบัติ ไต้ฝุ่นแรงแค่ไหนก็โค่นไม่ได้

ญี่ปุ่นตั้งอยู่ระหว่างแนวไต้ฝุ่นแปซิฟิกและวงแหวนแห่งไฟ ทำให้ต้องเผชิญภัยธรรมชาติรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด หรือไต้ฝุ่นที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เป็นประจำ ญี่ปุ่นจึงมีทักษะในการการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติเหล่านี้ และสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วในระดับที่ชาวโลกยังทึ่ง

มาร์ค ฟอร์นี ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของธนาคารโลก ยังถึงกับเอ่ยปากว่า “ญี่ปุ่นคืออันดับ 1 ของโลกทั้งในแง่ของการเตรียมตัวและการรับมือภัยพิบัติ”

แต่ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 1923 ญี่ปุ่นเคยถูกแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.9 แมกนิจูดถล่มในแถบคันโตจนมีผู้เสียชีวิตราว 100,000 คนมาแล้ว ต่อมารัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 1 ก.ย.ของทุกปีเป็นวันป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ตระหนักถึงอันตรายของภัยพิบัติ รวมทั้งจัดการซ้อมอพยพกันอย่างจริงจัง และทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติชาวญี่ปุ่นจะปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ไต้ฝุ่นเชบีถล่มเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลแนะนำให้ประชาชน 1.2 ล้านคนอพยพ แต่ไม่ได้บังคับ แต่ถึงอย่างนั้นชาวญี่ปุ่นก็เต็มใจจะทำตามแม้ว่าพื้นที่ของตัวเองยังไม่อันตรายถึงขั้นต้องออกจากพื้นที่ก็ตาม

นอกเหนือจากวินัยของประชาชนแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นตัวอย่างอันดีว่าแต่ละกระทรวงซึ่งทำหน้าที่ต่างกันสามารถประสานงานกันเพื่อรับมือปัญหาได้อย่างดี อย่างกรณีของไต้ฝุ่นฮากิบิส หลังจากนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ สั่งการให้ตั้งวอร์รูมจับตาพายุ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้สั่งให้บริษัทไฟฟ้าเตรียมพร้อมรับมือแก้ปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง จากนั้นกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งตามมาว่าให้รัฐบาลท้องถิ่นดูแลความปลอดภัยของประชาชนเต็มที่ ทั้งยังร่วมมือกับภาคเอกชน เพราะฉะนั้นก่อนที่พายุจะเข้า เอกชนเหล่านี้ก็จะรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ช่วยเหลือรัฐบาลรับมือภัยพิบัติอย่างไร

ตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนล่าสุดคือ การฟื้นฟูสนามบินคันไซหลังไต้ฝุ่นเชบีถล่ม ที่ใช้เวลาเพียง 17 วันเท่านั้นทั้งๆ ที่สนามบินได้รับความเสียหายอย่างหนักทั้งน้ำท่วมอาคารผู้โดยสารและบริเวณที่รับกระเป๋าสัมภาระ กระแสไฟฟ้าดับ รันเวย์ถูกน้ำท่วม หลังคาโกดังเก็บสินค้าถูกลมพัดจนเปิด

นอกจากความสามารถในการประเมินความเสียหายของเจ้าหน้าที่สนามบินแล้ว ความช่วยเหลือจากภายนอกก็มีส่วนสำคัญให้สนามบินกลับมาให้บริการอย่างรวดเร็ว รัฐบาลได้ส่งรถบรรทุกสสำหรับสูบน้ำออกจากสนามบิน 10 คันมาช่วย ส่วนสนามบินอื่นๆ ให้ยืมรถปัดกวาดเพื่อเคลียร์เศษขยะออกมจากรันเวย์

ญี่ปุ่นคืออันดับหนึ่งในการรับมือภัยพิบัติ ไต้ฝุ่นแรงแค่ไหนก็โค่นไม่ได้

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อป้องกันภัยพิบัติ อย่างการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดมหึมายาว 6.3 กิโลเมตร ที่ใช้เวลาสร้าง 13 ปี (1993-2006) ใช้งบประมาณเกือบ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีประสิทธิภาพล้นเหลือ

ในปี 1991 ก่อนการสร้างอุโมงค์ หลังฝนตกหนัก 48 ชั่วโมง ปรากฏว่าบ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 31,000 หลังคาเรือน ขณะที่ในปี 2017 หลังจากอุโมงค์สร้างเสร็จแล้ว ฝนตกปริมาณเดียวกันแต่มีบ้านถูกน้ำท่วมเพียง 43 หลังเท่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่าในช่วง 10 ปีแรกที่เปิดใช้ อุโมงค์แห่งนี้สามารถลดความเสียหายของทรัพย์สินไปแล้วถึง 930 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับ 44% ของค่าก่อสร้างอุโมงค์ แต่อุโมงค์แห่งนี้สามารถใช้งานได้นับสิบนับร้อยๆ

ที่น่าทึ่งคือ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมองการณ์ไกลไปกว่าการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ เนื่องจากมองว่าอุโมงค์ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลของปัญหาน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมอาจเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ อีกได้ เป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นคือ การลดความรุนแรงด้วยการเตือนภัยแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที

โจทย์นี้รัฐบาลจะต้องพยากรณ์อย่างแม่นยำว่าพายุจะพัดขึ้นฝั่งที่ไหน จะมีปริมาณฝนเท่าไร คนที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นคงจะเคยเห็นพยากรณ์อากาศของญี่ปุ่นที่บอกข้อมูลละเอียดยิบ ไม่ใช่แค่การบอกว่าฝนจะตกหนักหรือหนักมาก แต่ที่ญี่ปุ่นจะบอกได้ว่าฝนจะตกกี่มิลลิเมตร ซึ่งมาจากเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศที่ล้ำหน้า โดยญี่ปุ่นใช้ระบบอัลกอริทึมร่วมกับข้อมูลจากหลายๆ ส่วน ทั้งเรดาร์ตรวจอากาศ ดาวเทียมตรวจอากาศ ไปจนถึงสถานีตรวจวัดอากาศอัตโนมัติ จนได้ข้อมูลที่แม่นยำ

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ชาวญี่ปุ่นจะรับมือกับภัยพิบัติอย่างเป็นระบบระเบียบ และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว