posttoday

สามก๊กของวิกฤตฮ่องกง เมื่อแคร์รี่ หลั่มคิดเชิญตั๋งโต๊ะเข้าเมือง

08 ตุลาคม 2562

บทวิเคราะห์สถานการณ์โดยกรกิจ ดิษฐาน

บทวิเคราะห์สถานการณ์โดยกรกิจ ดิษฐาน


สถานการณ์ที่ฮ่องกงเริ่มไม่น่าไว้ใจขึ้นทุกที ...

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม หยิบกวอกฮิ้ม (Ip Kwok-him) หนึ่งในคณะรัฐมนตรีของฮ่องกง และนักการเมืองสายนิยมจีนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP โดยแย้มว่า "รัฐบาลไม่ปัดความเป็นไปได้ที่จะตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต" เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ประท้วง เพราะการประท้วงไม่มีแกนนำแต่ประสานงานผ่านฟอรั่มออนไลน์ และแอพพลิเคชั่นเข้ารหัสเพื่อส่งข้อความระดมพล

ข่าวนี้เหมือนจะเป็นความเห็นของคนๆ เดียว และสื่อใหญ่ไม่ได้รายงานนัก แต่มันเป็นการส่งสัญญาณที่น่าจับตา ไม่แน่ว่าความเคลื่อนไหวต่อไปของรัฐบาลฮ่องกงอาจจะคลาดสายตาไม่ได้เลยทีเดียว

ในวัดถัดมา 9 ตุลาคม แคร์รี่ หลั่ม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงแถลงข่าวตามปกติ แต่หลุดกปากออกมาว่า "มาถึงจุดนี้ ฉันยังคงเชื่อมั่นอย่างมากว่าเราสามารถหาทางออกด้วยตัวเราเองได้ และยังเป็นจุดยืนของรัฐบาลกลาง (ที่ปักกิ่ง) ที่ฮ่องกงควรแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายมาก อย่างนั้นก็คงไม่อาจปัดทางเลือกอื่นๆ ไปได้ ถ้าหากอย่างน้อยเราต้องการให้โอกาสกับฮ่องกงอีกครั้ง"

ท่าทีเช่นนี้เป็นการวางหมากล้อมเป็นขั้นๆ เริ่มจากผ่านคำสั่งห้ามสวมหน้ากากในที่ชุมนุม ตามด้วยการแย้มเรื่องตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และตามด้วยการบอกว่าไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะเชิญทหารเข้ามา

แต่การที่แคร์รี่ หลั่มเอ่ยคำว่า "ให้โอกาสกับฮ่องกงอีกครั้ง" เป็นสิ่งที่น่าคิดอย่างมากว่าหมายถึงโอกาสอะไร?

เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่คือโอกาสสุดท้ายแล้วก่อนที่จีนจะเข้ามาจัดการเอง เพราะหากทางการฮ่องกงไม่มีปัญญาที่จะสยบความวุ่นวาย จากนั้นใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดคือตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสั่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเข้ามา

นั่นหมายความว่า จีนจะไม่เอาฮ่องกงไว้แล้วในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เพราะการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างเลวร้าย และการนำทหารจีนเข้ามาปราบจลาจลเท่ากับ "เชิญตั๋งโต๊ะเข้ามือง"

ในยุคสามก๊ก เกิดความวุ่นวายในราชธานีลกเอี๋ยง พวกสิบขันทีเป็นใหญ่ (อันที่จริงแล้วมี 12 คน) กุมอำนาจเหนือฮ่องเต้ ในเวลานั้นราชวงศ์ฮั่นยังถูกคุกคามจากกบฎโพกผ้าเหลือง

ขุนนางตงฉินกราบทูลฮ่องเต้ว่าเป็นเพราะสิบขันทีฉ้อราษฎร์บังหลวงใช้อำนาจตามอำเภอใจทำให้เกิดกบฎขึ้น

แต่ฮ่องเต้ไม่ยอมเชื่อฟังคำเตือน แผ่นดินจึงเกิดความโกลาหลไปทั่ว พวกขุนนางไม่อาจต้านทานสิบขันทีและจลาจลได้ หนึ่งในขุนนางคือโฮจิ๋นจึงตัดสินใจเชิญตั๋งโต๊ะเข้ามาปราบพวกสิบขันที

แต่การยืมมือตั๋งโต๊ะเป็นการตัดสินใจที่อันตราย เพราะตั๋งโต๊ะขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยมอำมหิต แล้วก็เป็นดังว่า เมื่อปราบจลาจลในเมืองหลวงเสร็จแล้วตั๋งโต๊ะไม่ยอมกลับ ยึดอำนาจเป็นใหญ่ในเมืองลกเอี๋ยงต่อไป

หลังจากนั้นลกเอี๋ยงก็ไม่ใช่ลกเอี๋ยงอีก แถมยังถูกตั๋งโต๊ะสั่งปล้นสั่งเผาเป็นจุณ แล้วย้ายเมืองหลวงไปที่เตียงอัน

กองทัพจีนก็คือตั๋งโต๊ะ ฮ่องกงก็คงเป็นลกเอี๋ยง และเซินเจิ้นอาจเปรียบได้กับเตียงอัน เมืองหลวงใหม่ที่จะมาแทนที่ฮ่องกงในด้านเศรษฐกิจและการเงิน

นี่เป็นเพียงจินตนาการของผู้เขียนผสมกับนิยายสามก๊ก ผู้ประท้วงไม่เหมือนกับสิบขันที แต่กำลังสร้างเงื่อนไขปัจจัยเหมือนพวกสิบขันที ส่วนแคร์รี่ หลั่มเริ่มที่จะที่จะหมดหวังถึงกับบอกว่า ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะเชิญ "ตั๋งโต๊ะ" เข้ามา

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่แคร์รี่ หลั่มจะทำตัวเหมือนโฮจิ๋น เชิญตั๋งโต๊ะเข้ามาเผาเมืองนั้นน้อยมาก และรัฐบาลจีนเองก็ไม่อยากทำตัวเป็นตั๋งโต๊ะและเผาฮ่องกงเหมือนลกเอี๋ยงด้วย

เทียบลกเอี๋ยงกับเตียงอันในสมัยสามก๊ก การเผาลกเอี๋ยงแล้วย้ายไปเตียงอันไม่ถือว่าเสียเปล่า เพราะเตียงอันมีปัจจัยที่เหนือกว่า นั่นคือเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าบนเส้นทางสายไหม ปัจจุบันเตียงอันก็คือเมืองซีอาน ส่วนลกเอี๋ยงคือลั่วหยาง เราจะเห็นได้ว่าซีอานยังคงเป็นเมืองที่คึกคัก ส่วนลั๋วหยางเงียบเป็นป่าช้า

ในระยะหลังมีการพูดกันมากถึงการปล่อยให้ฮ่องกงเฉาไปเอง แล้วทำให้เซินเจิ้นเป็นตัวเลือกแทนที่ และรัฐบาลจีนก็ไม่เก็บงำความทะเยอทะยานนี้ไว้

และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมได้ประกาศเป้ายกระดับเซินเจิ้นให้เป็นเมืองนวัตกรรมนานาชาติภายในปี 2025 เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาแบบสังคมนิยมภายในปี 2035 และเป็นเมืองมาตรฐานในด้านศักยภาพ นวัตกรรม และอิทธิพลในระดับโลกภายในปี 2050

สรุปก็คือกว่าที่เซินเจิ้นจะเทียบเท่าฮ่องกงในระดับอินเตอร์ต้องรอถึงปี 2050 และการจะย้ายฮ่องกงมายังเซินเจิ้น จึงไม่ง่ายเหมือนย้ายลกเอี๋ยงมาเตียงอัน เพราะฮ่องกงมีปัจจัยหนึ่งที่บริษัทต่างชาติยอมรับมากกว่าเซินเจิ้นนั่นคือ "เสรีภาพ"

แต่ในระยะยาวมันมีทางเลือกหรือเปล่า? เพราะแนวโน้มที่ฮ่องกงจะจมปลักอยู่ในความรุนแรงและต่อต้านหนักขึ้น จากผลสำรวจความเห็นของประชาชนโดย Chinese University of Hong Kong พบว่าในบรรดาชาวฮ่องกง 600 คนมีที่เชื่อในการประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรงลดลงเหลือ 70% ในเดือนกันยายน ลดลงจาก 83% จากการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม

นั่นหมายความว่าคนฮ่องกงอดทนน้อยลง และเห็นชอบกับการประท้วงที่รุนแรงกันมากขึ้น

ถ้าแนวโน้มเป็นแบบนี้แล้ว ฮ่องกงคงไม่มีประโยชน์ในสายตาจีนอีก คงต้องจัดการให้เด็ดขาดเข้าสักวัน แต่วันไหนนั้นเรายังไม่อาจคาดเดาได้

แน่นอนว่าแคร์รี่ หลั่มในฐานะ "โฮจิ๋น" ที่เชิญตั๋งโต๊ะเข้ามา ต้องถูกมหาชนชาวฮ่องกงเกลียดชังอย่างแน่นอน ขนาดที่ไม่อาจอยู่ร่วมโลกกันได้ (อย่างน้อยก็เดินเตร่ในฮ่องกงลำบากแล้ว) ดังเช่นที่โฮจิ๋นถูกพวกสิบขันทีรุมฆ่า

ในแง่ยุทธศาสตร์ ความเคลื่อนไหวในฮ่องกงมีเป้าหมายที่หวังสูงเกินตัว โดยมองหาพันธมิตรนอกเมือง แทนที่จะหาแนวร่วมจากในเมือง นั่นคือคนจีนแผ่นดินใหญ่ ตรงกันข้ามคนฮ่องกงยกปมเขื่องของตัวเองที่คิดว่าสูงส่งกว่าคนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ไม่ได้รับความเห็นใจจากคนแผ่นดินใหญ่

ซ้ำยังทำร้ายคนแผ่นดินใหญ่เข้าไปอีก (โดยเฉพาะพนักงานของ JP Morgan ที่ตะโกนบอกว่า "พวกเราก็คนจีนเหมือนกัน") แทนที่กระแสต่อพรรคคอมมิวนิสต์จะแผ่ไปในแผ่นดินใหญ่ กระแสชาตินิยมในแผ่นดินใหญ่ดันรุนแรงขึ้นและคนที่นั่นชิงชังฮ่องกงมากขึ้น

แน่นอนว่า คนฮ่องกงไม่ได้หวังให้ "พี่น้องคนจีน" มาช่วยอยู่แล้ว สิ่งที่ทำมาโดยตลอดคือร้องหาต่างชาติให้มาช่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว

คนฮ่องกงที่มีปมเขื่องคิดว่าตัวเองจะจุดความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำดินได้โดยไม่แยแสมหาชนในจีน เหมือนกับพวกสิบขันที คิดว่าตัวเองมีอำนาจเปลี่ยนฮ่องเต้ได้โดยลำพัง

แต่เมื่อกองทัพของตั๋งโต๊ะยาตราทัพเข้ามาก็ถูกกวาดเรียบเมือง