posttoday

กะเทาะเปลือก “จีน” สร้างชาติ สร้างชื่อ สร้างคน ขึ้นแท่นผู้นำนวัตกรรมโลก

05 ตุลาคม 2562

ก่อนหน้านี้หากพูดถึงประเทศมหาอำนาจของโลก คนส่วนใหญ่มักนึกถึงสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย และเมื่อพูดถึงยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ก็ต้องยกให้จีนกับอินเดีย

ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวล้ำเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดชุดข้อมูลขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่าที่เคยมี “คอมพิวเตอร์”สามารถประมวลผลได้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น หลายคนพากันพูดว่า “ปัญญาประดิษฐ์” สามารถคิดและสั่งการได้คล้ายสมองมนุษย์ และกำลังพาเราก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมในอดีต
“นวัตกรรม” ที่เกิดขึ้น เมื่อได้รับการเผยแพร่ สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตและเศรษฐกิจได้เพียงชั่วข้ามคืน แน่นอนว่าผู้เป็นเจ้าของครอบครองย่อมทรงอิทธิพลในด้านนั้น แต่การสร้างสรรค์นวัตกรรมของตนเองขึ้นมาได้ จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย แผนยุทธศาสตร์อันเฉียบคม เงินทุนต้องเพียงพอ และสิ่งสำคัญ “คน” ต้องมีความพร้อม

กะเทาะเปลือก “จีน” สร้างชาติ สร้างชื่อ สร้างคน ขึ้นแท่นผู้นำนวัตกรรมโลก

 
หนึ่งในประเทศที่นาทีนี้เชื่อว่าทั่วโลกต่างยอมรับต่อการพัฒนาด้านการศึกษา กลายเป็นประเทศต้นแบบที่น่าสนใจด้านการสร้างสรรค์องค์ความรู้สู่นวัตกรรม มีแนวทางในการปรับประยุกต์เท่าทันต่อโลกยุคใหม่และสร้างความตื่นตะลึงได้อย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้น “ประเทศจีน” หรือ “สาธารณรัฐประชาชนจีน”
ก่อนหน้านี้หากพูดถึงประเทศมหาอำนาจของโลก  คนส่วนใหญ่มักนึกถึงสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย และเมื่อพูดถึงยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ก็ต้องยกให้จีนกับอินเดีย แต่ถึงวันนี้ทุกอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า จีนไม่ได้เป็นเพียงแค่ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียเท่านั้น แต่จีนกำลังขึ้นแท่นประเทศมหาอำนาจของโลก
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของโลก คำตอบอาจจะอยู่ที่ธุรกิจจีนที่กระจายอยู่เกือบทั่วโลก กองทัพอันยิ่งใหญ่ทรงพลังของจีน การพัฒนาทางเทคโนโลยีซึ่งรวดเร็วและสร้างปรากฏการณ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เฉียบแหลมและสามารถทำให้เกิดขึ้นจริง
ปี 2019 นี้ คงไม่มีประเทศไหนแซงหน้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือ E-commerce ที่มีขนาดใหญ่และเติบโตเร็วได้มากเท่าจีน รถไฟความเร็วสูงที่สุดก็ของจีน ยานที่ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ครั้งล่าสุดนี้ก็ของจีน วิศวกรรมชีวเวช หรือ Biological Engineering ก้าวล้ำสุดๆ ของโลก ณ เวลานี้ ก็เกิดขึ้นที่จีน หลายคนอาจสงสัยว่า จีนทำเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายปี คนยังเข้าใจว่าอะไรที่ขึ้นชื่อว่า Made in china คงต้องเป็นของราคาประหยัด และคุณภาพก็สอดคล้องกับราคา แต่ถ้าพิจารณากันให้ดี สิ่งของราคาประหยัดในสมัยนั้น หลายสิ่งหลายอย่างเป็นของแปลกใหม่ อีกทั้งตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้ไม่น้อย เพราะการพัฒนาในช่วงนั้น เน้นให้คนจีนคิดอะไรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และขายได้ในราคาประหยัดนั่นเอง
ยุคต่อมาจีนก็เข้าสู่อีกขั้นของการปฏิรูป โดยยึดถือเอา 2 คำหลักในภาษาจีนที่เรียกว่า ก่ายเก๋อ (Gaige’) ที่หมายถึง “ปฏิรูป” และคำว่า ช่วงซิน (Chuangxin) ที่หมายถึง “นวัตกรรม” เป็นแนวทาง มีการสร้างสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมพื้นที่เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง
กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศ มี จงกวนซุน (Zhongguancun Science Park) เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมไฮเทค ส่งผลให้ช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนล้ำหน้าแบบก้าวกระโดด แต่จะว่าไปแล้วจีนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนโลกมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 12 แล้ว หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนที่สุด คือ 4 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งยุคนั้น ทั้ง กระดาษ การพิมพ์ เข็มทิศ และดินระเบิด

กะเทาะเปลือก “จีน” สร้างชาติ สร้างชื่อ สร้างคน ขึ้นแท่นผู้นำนวัตกรรมโลก

 
ทุกวันนี้ จำนวนผลงานการคิดค้นใหม่ บวกกับความต้องการการยอมรับในสากล ทำให้จีนจริงจังกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น นับแต่ 2015 เป็นต้นมา จีนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรมากในอันดับต้นๆ ของโลก โดยหนึ่งในเรื่องที่มุ่งเน้นอย่างจริงจัง คือการพัฒนา AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งรัฐบาลจีน ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี  2030 จีนจะต้องกลายเป็นผู้นำด้าน AI ของโลกให้ได้ นำไปสู่แผนการจัดตั้งนิคมเทคโนโลยีในเขตชานเมือง ฝั่งตะวันตกของกรุงปักกิ่ง เพื่อพัฒนา AI ด้วยงบประมาณกว่าสองพันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
ยุทธศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจมากของจีน คือ “MIC 2025” หรือ “Made in China 2025” ที่ว่ากันว่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์สินค้าที่ผลิตในประเทศจีนไปโดยสิ้นเชิง โดยยุทธศาสตร์ Made in China 2025 เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุดของจีน ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ จากเดิมที่ถูกเปรียบเป็น “โรงงานของโลก” ให้กลายเป็น  “แหล่งผลิตสินค้านวัตกรรมของโลก” ที่เน้นผลิตสินค้าคุณภาพด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง
แนวคิดหลักและหลักการ Made in China 2025 ประกอบไปด้วย การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การผลิตที่มุ่งคุณภาพ การผลิตที่มุ่งเน้นและพัฒนาไปสู่การผลิตสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมเน้นการผลิตที่มีคุณภาพใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาบุคลากร ในด้านวิทยาศาสตร์และการสร้างนวัตกรรม โดยรัฐบาลจีนเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นในทุกปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้

กะเทาะเปลือก “จีน” สร้างชาติ สร้างชื่อ สร้างคน ขึ้นแท่นผู้นำนวัตกรรมโลก

 
การสร้างคนเก่ง ด้วยระบบการศึกษา และกระบวนการเรียนรู้ ที่มีประสิทธิภาพ กลายเป็นวาระสำคัญ ที่ทวีความสำคัญมากยิ่งกว่าเดิม ทั้งที่จริงแล้วจีนก็มีการพัฒนาด้านการศึกษาที่เข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ยุคฟื้นฟูประเทศ ยุคปฏิรูปประเทศ มาจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นยุคที่คุณภาพการศึกษาของจีนต้องเรียกว่ามีความก้าวหน้าไม่แพ้ชาติใดในโลก
ข้อพิสูจน์หนึ่งก็คือ ปี 2019 มหาวิทยาลัยชิงหวา ติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย แซงหน้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ที่ครองแชมป์มาโดยตลอด และถึงแม้จะเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แต่มหาวิทยาลัยชิงหวาก็ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มั่งคั่งที่สุด ด้วยงบประมาณทางการศึกษาและการวิจัย อีกทั้งยังมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนได้รับฉายาว่าเป็น MIT แห่งเมืองจีนเลยทีเดียว

กะเทาะเปลือก “จีน” สร้างชาติ สร้างชื่อ สร้างคน ขึ้นแท่นผู้นำนวัตกรรมโลก

 
แม้ว่าทุกมหาวิทยาลัยของจีนจะมีวัฒนธรรมจีนเป็นฐานราก สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม รูปแบบการบริหาร และปรัชญาต่างๆ แต่มหาวิทยาลัยของจีนหลายแห่งก็มีการปรับสภาพแวดล้อม ปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นสากลมากขึ้น มีการสร้างผลงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลจำนวนมาก โดยสถิติล่าสุด ระบุว่า มีนักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนต่อในจีน มากกว่า 60,000 คน
ด้วยเป้าหมายของการเป็นผู้นำด้าน AI ของโลกให้ได้ภายในปี 2030 ทำให้จีนเปิดกว้างมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญควบคู่ไปกับการสร้างเทคโนโลยีอันทันสมัย คือการรักษาคุณค่าความเป็นมนุษย์ การสร้างคนให้พร้อมรับมือกับยุคปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่ระบบการศึกษาของจีนให้ความสำคัญ

กะเทาะเปลือก “จีน” สร้างชาติ สร้างชื่อ สร้างคน ขึ้นแท่นผู้นำนวัตกรรมโลก

 
ขณะที่มีความกังวลว่าในอนาคตนี้ เครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ และให้คนตกงาน บ้างก็ถกกันเรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงานมนุษย์ ลามเลยไปจนไม่อยากพัฒนา AI ให้เก่งเกินไป แต่จีนกลับกำลังเร่งพัฒนา AI อย่างเอาจริงเอาจัง โดยขณะที่กำลังสร้างเครื่องจักร สร้าง AI ให้เก่งขึ้น จีนก็มุ่งมั่นสร้างคนให้เก่งขึ้นเช่นกัน หากแต่เก่งในพื้นที่ในมิติที่หุ่นยนต์หรือ AI ทำไม่ได้
ในมุมมองของจีน ปัญญาประดิษฐ์อาจเข้ามาแทนที่มนุษย์ในบางเรื่องแต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง คอมพิวเตอร์ฉลาดรวดเร็วและแม่นยำมากกว่ามนุษย์ การสอนให้เด็กแก่งกว่าเครื่องจักร เก่งกว่าคอมพิวเตอร์ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และจีนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น แต่แนวคิดด้านการศึกษาของจีนในยุคที่มุ่งพัฒนา AI คือการสอนเด็กรู้จักคิดและทำในสิ่งที่เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ทำไม่ได้  เน้นการสอนเพื่อให้เด็กรู้จักเชื่อในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่า AI สอนให้มีความเชื่อมั่น สอนให้คิดเป็น สอนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม และสอนให้รู้จักเอาใจใส่ในผู้อื่น ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของทักษะที่เรียกว่า Soft Skills

กะเทาะเปลือก “จีน” สร้างชาติ สร้างชื่อ สร้างคน ขึ้นแท่นผู้นำนวัตกรรมโลก

 
ทักษะที่เรียกว่า Soft Skills นี้ มีวิธีการปลูกฝังที่แตกต่างจากการสอนทักษะวิชาการ แต่สอดแทรกผ่านกีฬา ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันการศึกษาจีนก็ยังคงมุ่งเน้นการปลูกฝังความกตัญญู การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และการพัฒนาตนเอง ควบคู่กันไปด้วย โดยสิ่งสำคัญคือความสามัคคีภายใต้บริบทที่เป็นไปในแบบจีนที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง
การสร้างคุณค่าของ Made in China ให้โลกยอมรับของจีน เกิดจากความเข้าใจต่อการเชื่อมโยง  ระบบสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาประเทศ เรื่องราวของจีนจึงเป็นกรณีศึกษาอย่างดีของการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ตอกย้ำว่าการพัฒนาคนด้วยการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ไม่อาจละเลย หากต้องการสร้างการพัฒนาให้สำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน