posttoday

จับตาเฟดลดดอกเบี้ยทุนไหลเข้าเงินบาท ยิ่งแข็งส่งออกยิ่งทรุด

19 กันยายน 2562

ตอนนี้ข้าวหอมมะลิของไทยกับข้าวหอมของเวียดนามราคาต่างกันถึงครึ่งต่อครึ่ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อข้าวจากประเทศไหน บทวิเคราะห์โดยทีมงานโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ

บทวิเคราะห์โดยทีมงานโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ ข่าวใหญ่ของวันนี้ คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ตัดสินใจลดอกเบี้ยลง 1.75% - 2% เห็นได้ชัดว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมีสัญญาณไม่ดีออกมาแล้ว

หลังจากเฟดลดดอกเบี้ย ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่ยอมลดตาม ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นข็งแกร่ง แต่เพราะมันอาการแย่จนต้องกระตุ้นกันมานานหลายปีแล้ว และตอนนี้ดอกเบี้ยญี่ปุ่นค้างอยู่ที่ระดับติดลบ คือ 0.1% มาตั้งแต่ปี

มาดูที่ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ มีวี่แววว่าอาจจะลดดอกเบี้ยเช่นกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 เนื่องจากสงครามการค้า

แต่เกาหลีใต้ยังมีตัวช่วยคือค่าเงินวอนที่อ่อนลง ทำให้การส่งออกดีขึ้น โดยดัชนีราคาส่งออกเมื่อเดือนสิงหาคมปรับขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน

ก่อนหน้าที่เฟดจะหั่นดอกเบี้ย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ยแบบเหนือความคาดหมาย โดยลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ติดลบ คือ 0.5% และยังประกาศอัดเงิน 20,000 ล้านยูโร ซื้อพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนอีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในอาเซียน มาเลเซียเป็นหนึ่งในธนาคารกลางแห่งแรกๆ ในเอเชียที่ลดดอกเบี้ย ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 3% แม้ว่าล่าสุดจะยังไม่ลดลงอีก แต่แรงกดดันทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสงครามการค้า

ทั่วโลกต่างก็ลดดอกเบี้ยหรือมีดอกเบี้ยต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนิดหน่อย ส่วนภาคการส่งออกกำลังกระทบหนัก เพราะค่าเงินบาทที่แข็งเกินไป แข็งเสียจนได้รับคำชมว่าเป็นสกุลเงินที่แกร่งที่สุดและมีความมั่นคงที่สุด

แต่สำหรับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกคำชมนี้เป็นอันตราย อย่างที่กล่าวไปว่า ประเทศอื่นๆ ได้รับผลดีจากค่าเงินอ่อนลง เช่นเกาหลีใต้ ทำให้ช่วยลดความเสียหายจากสงครามการค้าไปได้ระดับหนึ่ง

แต่ประเทศที่ค่าเงินแข็ง เห็นชัดๆ ว่า การส่งออกกระทบหนัก เช่น ญี่ปุ่น ที่ตัวเลขส่งออกเดือนสิงหาคมต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือนเนื่องจากเงินเยนแข็งค่าบวกกับความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลง

ตอนนี้ส่งออกของไทย หากยังเห็นภาพไม่ชัดขอยกตัวอย่างข้าวหอมมะลิของไทยกับข้าวหอมของเวียดนาม ราคาต่างกันถึงครึ่งต่อครึ่ง โดยราคาของไทยอยู่ที่ 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนของเวียดนามอยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อข้าวจากประเทศไหน

สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำโดยเร็วที่สุดคือการปรับสมดุลค่าเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคอุตสาหกรรมเรียกร้องมา และเมื่อต้นเดือนนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังชะลอการแข็งค่าของเงินบาท

ยังไม่ทันไร ไทยมีโอกาสที่จะสะเทือนหนักเข้าไปอีก เพราะเฟดหั่นดอกเบี้ยในประเทศ ทำให้เงินทุนจะไหลเข้ามายังประเทศที่มีค่าเงินแข็งและเป็น safe haven อย่างไทย

safe haven หมายถึงสถานะของเงินบาทที่มั่นคง ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก บวกกับทุนสํารองระหว่างประเทศของไทยที่ค่อนข้างสูง ทำให้เงินยิ่งไหลเข้ามา หลังจากเฟดนำทัพด้วยการลดดอกเบี้ยรวมถึงกระแสการลดดอกเบี้ยทั่วโลก จะยิ่งทำให้เงินไหลเข้ามาหาบาท คำถามก็คือธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้านไม่ให้บาทแข็งค่าไปมากว่านี้ได้หรือไม่?

สำนักข่าว Bloomberg สรุปให้แล้วว่า "การลดอัตราดอกเบี้ยและมาตรการบางอย่างที่จะชะลอเงินไหลเข้ามาประสบความล้มเหลวในการทำให้ค่าเงินอ่อนลงอย่างมีนัยสำคัญ"

เฉพาะแค่สถานการณ์ตอนนี้ยังแก้ได้ลำบาก หากสถานการณ์ของสหรัฐแย่ลงไปอีก เงินบาทของไทยอาจจะมีอันพุ่งขึ้นไปอีก สัญญาณอันตรายในตอนนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Yield curve หรือกราฟอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล

กราฟ Yield curve ที่หัวทิ่มลงสวนทางกับการไต่ระดับ (inverted) เป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย และตอนนี้กราฟอยู่ในลักษณะนั้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าสหรัฐอาจกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

Yield curve หัวทิ่มพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยถูกต้องมาแล้ว 8 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1970 เมื่อใดก็ตาม ที่กราฟอัตราผลตอบปักหัวลงแสดงว่าอาการไม่ดีแล้ว

ในช่วงครึ่งหลังของเดือนกันยายน Yield curve เริ่มจะผงกหัวขึ้นมาอีก และการที่เฟดลดดอกเบี้ยอาจจะช่วยให้แนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เราคงจะต้องจับตากันต่อไปว่าสหรัฐจะยังมีสัญญาณของภาวะถดถอยหรือไม่