posttoday

พบน้ำบนดาวนอกระบบสุริยะครั้งแรก แต่ไกลเกินกว่ามนุษย์จะไปถึง

12 กันยายน 2562

นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบน้ำในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์คล้ายโลก ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ห่างไกลจากระบบสุริยะของเรา

 

นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบน้ำในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์คล้ายโลก ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ห่างไกลจากระบบสุริยะของเรา และเป็นหลักฐานว่า มีองค์ประกอบสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตอยู่นอกระบบระบบสุริยะของเราเป็นครั้งแรก

การค้นพบล่าสุด รายงานอยู่ในในผลการวิจัยโดยทีมนักวิทยาศาสตร์แห่ง University College London (UCL) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ซึ่งพบไอน้ำในชั้นบรรยากาศของดาว K2-18b หลังจากใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวดวงนี้ โดย K2-18b โคจรรอบดาวแคระ (ดาวฤกษ์ประเภทหนึ่ง) ในกลุ่มดาวสิงห์ ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 100 ปีแสง

ทั้งนี้ K2-18b เป็นหนึ่งใน "ซุปเปอร์เอิร์ธ" หรือดาวคล้ายโลกที่มีขนาดระหว่างอยู่โลกของเราและเนปจูน ปัจจุบันมีการตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบมากกว่า 4,000 ชนิดทุกประเภทและขนาด และนับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบน้ำในชั้นบรรยากาศรอบๆ ซุปเปอร์เอิร์ธ ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในระยะห่างที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของของเหลวบนพื้นผิวของดาว

แองเจโล เชียราส นักดาราศาสตร์ที่ UCL กล่าวว่า ทีมงานกำลังมุ่งความสนใจไปที่ตรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบที่มีสภาพคล้ายกับที่อยู่บนโลก แต่แน่นอนว่า การค้นหานี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อหาสถานที่ที่เราจะย้ายไปอยู่ได้ เพราะการเดินทางไป K2-18b ต้องใช้เวลานานมาก เฉพาะแค่แสงจากดวงดาวของ K2-18b นั้น ต้องใช้เวลาหนึ่งศตวรรษในการเข้าถึงโลกของเรา

“เนื่องจากมันอยู่ไกล เราจึงไม่ได้มีทางเลือกอื่น นอกจากจะอยู่บนโลกของเราเองต่อไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเราต้องทำให้โลกกลับมาดีดังเดิมอีกครั้ง แทนที่จะมองหาทางเลือกอื่น” เชียราสกล่าวกับรอยเตอร์ส

นอกเหนือจากระยะทางอันไกลโพ้นแล้ว แล้วดาวเคราะห์นอกระบบ ยังมีโอกาสสัมผัสกับการแผ่รังสีได้มากกว่าโลก ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการบนดาวดวงนั้นจึงน้อยมาก