posttoday

ย้อนวันวานอาลีบาบาในวันที่แจ็ก หม่า ขอวางมือ

10 กันยายน 2562

เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว แจ็ก หม่า แห่งอาลีบาบา หนึ่งในบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก สร้างความเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศว่า อีก 12 เดือนเจ้าตัวจะวางมือจากการเป็นประธานกรรมการบริหารอาลีบาบา โดยจะส่งไม้ต่อให้กับ แดเนียล จาง หรือจาง หย่ง ถือเป็นการส่งสัญญาณการเปลี่ยนผ่านอาลีบาบาไปสู่ยุคใหม่ที่ชัดเจนที่สุด

เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว แจ็ก หม่า แห่งอาลีบาบา หนึ่งในบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก สร้างความเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศว่า อีก 12 เดือนเจ้าตัวจะวางมือจากการเป็นประธานกรรมการบริหารอาลีบาบา โดยจะส่งไม้ต่อให้กับ แดเนียล จาง หรือจาง หย่ง ถือเป็นการส่งสัญญาณการเปลี่ยนผ่านอาลีบาบาไปสู่ยุคใหม่ที่ชัดเจนที่สุด

และวันนี้คือวันที่หม่าวางมืออย่างเป็นทางการในวันเกิดวัย 55 ปี และยังบังเอิญตรงกับวันครบรอบการก่อตั้งอาลีบาบาปีที่ 20 พอดิบพอดี แม้ว่าหลายคนมองว่าหม่าวางมือเร็วเกินไปเมื่อเทียบกับเจ้าสัวจีนรายอื่นๆ ในวัยไล่เลี่ยกันที่ยังไม่มีใครยอมวางมือสักคน ทว่า ดันแคน คลาร์ก เพื่อนของหม่าและผู้เขียนหนังสือ Alibaba: The House That Jack Ma Built เขียนไว้ในหนังสือว่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาวางแผนส่งไม้ต่อให้คนที่เหมาะสมมานานแล้ว เนื่องจากตัวเขาเองขาดความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและการเงิน ดังนั้นหม่าจึงมองหาคนเก่งอย่างจางมาช่วย

แต่ถึงจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แต่อาลีบาบาภายใต้การกุมบังเหียนของหม่าได้กลายเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซแถวหน้าของจีน ด้วยมูลค่าตามราคาตลาดสูงถึง 460,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นแบรนด์ค้าปลีกที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกนอกสหรัฐในปี 2019 จากการจัดอันดับของ WPP บริษัทด้านการตลาดระดับโลกและบริษัทที่ปรึกษา Kantar

เส้นทางสู่ความสำเร็จของหม่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรน ฉีกตัวเองแบบก้าวกระโดดไปสู่วิสัยทัศน์ IT สุดล้ำ

ย้อนวันวานอาลีบาบาในวันที่แจ็ก หม่า ขอวางมือ

หม่า มีชื่อเดิมว่า หม่าหยุน เกิดที่เมืองหังโจว ชีวิตเขาคงเป็นได้แค่ไกด์ผีพานักท่องเที่ยวไปชมความงามของเมืองที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของจีน หากไม่มีโอกาสได้พบเพื่อนชาวออสเตรเลียที่ถูกใจกันถึงขั้นชวนไปอยู่ด้วยช่วงปิดเทอม เป็นหนึ่งเดือนที่ทำให้ได้ซาบซึ้งว่า จีนไม่ได้เป็นประเทศแสนสุขที่สุดในจักรวาลเหมือนคำสอนที่ถูกฝังไว้ในหัว และโลกใบนี้กว้างกว่าที่คิด

นี่เป็นครั้งแรกที่หม่าเริ่มรู้จักกับคำว่าวิสัยทัศน์

เช่นเดียวกับวัยรุ่นจีนทุกคน หม่าพยายามสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย แต่ล้มเหลวถึง 2 ครั้ง สุดท้ายสอบติดมหาวิทยาลัยครูเมืองหังโจว ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “เป็นมหาวิทยาลัยที่ห่วยที่สุด” แม้จะห่วย แต่ยังประคับประคองตัวเองจนจบ ได้บรรจุเป็นครูด้วยเงินเดือนแค่ 100 หยวน หรือแค่ 500 บาท!

ชีวิตเขาคงกินเงินเดือนแสนอัตคัดต่อไป หากไม่สลัดตัวเองจากอาชีพครู เดินเตะฝุ่นหางานอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งในปี 1995 ได้เป็นล่ามติดตามผู้แทนรัฐบาลไปเมืองซีแอตเติล ของสหรัฐ ทำให้หม่าได้รู้จักกับอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก

เมื่อลองเสิร์ชคำคำหนึ่งใน yahoo! กลับไม่พบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจีนแม้แต่เว็บไซต์เดียว ทำให้เขารู้สึกหดหู่ที่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุด กลับล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยีที่สุด

แต่ในฉับพลันเขารู้ตัวว่ากำลังพบโอกาสที่จะสร้างธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่บ้านเกิดให้ดังเปรี้ยงปร้าง

หม่าเริ่มต้นด้วยเงินกู้ 2,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่อง PC หรืออินเทอร์เน็ตแม้แต่น้อย ไม่ผิดอะไรกับ “คนตาบอดขี่หลังเสือตาบอด” ทั้งยังต้องต่อกรกับบริษัท China Telecom ด้วย สถานการณ์เริ่มเข้าตาจน หม่ากัดฟันสู้เฮือกสุดท้าย ในปี 1999 เขาเดินเคาะประตูเพื่อนร่วมอพาร์ตเม้นต์ จนได้เพื่อนร่วมตายมาลงทุนด้วย 18 คน ทุ่มสุดตัวควักเงินในประเป๋ามาเทกองลงบนโต๊ะได้ 60,000 เหรียญสหรัฐ

นั่นคือจุดเริ่มต้นของอาลีบาบา เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อประหลาดที่หมายถึงรหัสลับของขุมสมบัติล้ำค่าตามตำนานอาลีบาบา

แต่ความสำเร็จไม่ได้มาเพียงชั่วข้ามคืน อาลีบาบาแทบล้ม เพราะถือกำเนิดในช่วงที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตล้มระเนระนาดจากวิกฤตฟองสบู่ dotcom เป็นอีกครั้งที่หม่าต้องทบทวนวิสัยทัศน์ของตัวเองอย่างหนัก จนพบรหัสลับที่จะทำให้รอดและเติบโต

รหัสความสำเร็จอย่างแรกคือ เปิดทางธุรกิจจีนให้เจาะตลาดสหรัฐด้วยช่องทางออนไลน์ ในขณะเดียวกันก็ต้องขยายตลาดในจีนให้มั่นคงไปพร้อมๆ กัน

รหัสที่สองที่เขาบอกกับตัวเองอยู่เสมอ นั่นคือคติที่ว่า “หากยังไม่ยอมแพ้ เรายังมีโอกาส หากเรายังจิ๊บจ๊อย เราต้องพึ่งพามันสมอง ไม่ใช่กำลัง”

กว่าจะประคับประคองจนรอดพ้น ต้องโซซัดโซเซมาจนถึงปี 2002 ซึ่งเป็นปีแรกที่บริษัททำกำไรได้ ด้วยเงินแค่ 1 เหรียญสหรัฐ

แต่วันนี้ Alibaba มีกำไรมหาศาล เป็นหนึ่งในเครือธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในจีน ประเทศที่วันนี้ได้กลายเป็นดินแดนที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก

ย้อนวันวานอาลีบาบาในวันที่แจ็ก หม่า ขอวางมือ

นอกจากวิสัยทัศน์ทางธุรกิจแล้ว หม่ายังทำลายภาพลักษณ์เดิมๆ ของผู้บริหารระดับสูงที่ต้องนิ่งขรึม วางตัวให้น่าเชื่อถือ ด้วยการแต่งเนื้อแต่งตัวเหมือนราชาเพลงป็อป ไมเคิล แจ็กสัน เปิดตัวมากับรถมอเตอร์ไซค์ 6 สูบ แล้วลงจากรถมาเต้นท่าลูบเป้าอันเป็นเอกลักษณ์ของ ไมเคิล แจ็กสัน เพื่อเอนเตอร์เทนพนักงานในงานฉลองครบรอบ 18 ปีแห่งการก่อตั้งอาลีบาบาเมื่อ 2 ปีที่แล้วจนเรียกเสียงหัวเราะไปทั้งงาน

ย้อนวันวานอาลีบาบาในวันที่แจ็ก หม่า ขอวางมือ

และเมื่อช่วงเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว หลังจากประกาศจะวางมือ หม่าได้เขียนจดหมายเปิดผนึกไปถึงลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น เป็นจดหมายที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเขาเองและความสำเร็จในบริษัท รวมถึงมองการณ์ไกลถึงอนาคตของบริษัทภายใต้ผู้นำคนใหม่ เป็นสารที่ทรงพลังที่มีทั้งเรื่องราวความสำเร็จและแผนที่นำทางไปสู่ความสำเร็จยิ่งกว่าในอนาคต

ในจดหมายเขาเริ่มต้นว่า วันที่ประกาศเรื่องนี้เป็นวันครบรอบ 19 ปีแห่งการก่อตั้งอาลีบาบาพอดี และเขารู้สึกตื่นเต้นที่จะบอกข่าวการโอนถ่ายตำแหน่งบริหารให้กับ จาง ในปีหน้า และระหว่างที่หม่ายังคงดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปอีก 12 เดือน เขาจะช่วยประคับประคองการเปลี่ยนผ่านนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป และย้ำว่าเขาจะอยู่กับอาลีบาบาต่อไปจนถึงการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2020

หม่า บอกว่า เขาได้เตรียมการการสืบทอดตำแหน่งมานานถึง 10 ปีแล้ว และรู้สึกยินดีที่ได้ประกาศข่าวนี้และขอขอบคุณการสนับสนุนจากหุ้นส่วนของอาลีบาบาและคณะกรรมการบริหาร และเขายังจะขอขอบคุณเป็นพิเศษกับเพื่อนร่วมงานและครอบครัวของพวกเขา เพราะ “ความเชื่อมั่น การช่วยเหลือ และการทำงานร่วมกันของพวกเราตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราพร้อมรับกับวันสำคัญครั้งนี้ด้วยความเชื่อมั่นและความแข็งแกร่ง”

เขาเสริมว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าอาลีบาบาได้ก้าวไปสู่อีกขั้นของการบริหารจัดการ จากบริษัทที่เคยพึ่งพาปัจเจกบุคคล มาเป็นระบบที่มีความเป็นเลิศด้านองค์กร และมีวัฒนธรรมการพัฒนาอัจฉริยภาพ

ย้อนวันวานอาลีบาบาในวันที่แจ็ก หม่า ขอวางมือ

หม่า เล่าย้อนอดีตว่า
“เมื่ออาลีบาบาก่อตั้งเมื่อปี 1999 เป้าหมายของเราคือการสร้างบริษัทที่สามารถทำให้จีนและโลกรู้สึกภาคภูมิใจว่าเป็นบริษัทที่สามารถก้าวข้าม 3 ศตวรรษและมีอายุยืนนาน 102 ปี อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าไม่มีใครสามารถทำให้บริษัทยั่งยืนนานถึง 102 ปีได้ บริษัท อาลีบาบาที่ยั่งยืนจะต้องสร้างขึ้นมาบนหลักการบริหารจัดการที่สมเหตุสมผล มีปรัชญาที่อิงความเป็นอารยะเป็นแกนหลัก และมีความต่อเนื่องในการพัฒนาศักยภาพ ไม่มีบริษัทไหนที่จะพึ่งพาผู้ก่อตั้งได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งผมควรจะรู้ดีกว่าคนอื่น เพราะข้อจำกัดด้านกายภาพและพลังงาน ไม่มีใครที่จะสามารถแบกรับความรับผิดชอบในฐานะประธานและซีอีโอได้ตลอดกาล”

นี่คือใจความสำคัญที่ หม่า พยายามบอกกับคนในบริษัท ผู้ถือหุ้น และยังอาจสะท้อนไปถึงบริษัทอื่นๆ ที่พึ่งพา “บารมี” ของผู้ก่อตั้งมากเกินไป จนเมื่อผู้ก่อตั้งเกิดเป็นอะไรขึ้นกะทันหัน ก็พลอยทำให้บริษัทสั่นคลอนไปด้วย และแม้จะมีการโอนถ่ายอำนาจระหว่างที่ผู้ก่อตั้งยังมีชีวิตอยู่ หากเป็นการถ่ายเลือดใหม่อย่างไร้ประสิทธิภาพ หรือปล่อยให้มีการแย่งชิงกัน ก็อาจเป็นสาเหตุแห่งความพินาศได้เช่นกัน

สาเหตุที่อาลีบาบา “อะเมซิ่ง” ไม่ใช่เพราะธุรกิจหรือระดับความสำเร็จของพวกเขา หม่า บอกว่า สิ่งที่สุดยอดของอาลีบาบาก็คือ พวกเขามาทำงานร่วมกันภายใต้ปฏิบัติการและวิสัยทัศน์ร่วมกัน ระบบหุ้นส่วนที่นำมาใช้ วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และทีมงานที่มีศักยภาพ เป็นรากฐานสำหรับอนาคตของอาลีบาบา เขาบอกว่า “ที่จริงแล้ว นับตั้งแต่ผมโอนถ่ายความรับผิดชอบในฐานะซีอีโอ เมื่อปี 2013 บริษัทก็ยังเดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่นเป็นเวลา 5 ปี โดยอิงกับรากฐานระดับสถาบันที่ได้วางไว้”

ก่อนที่จะเข้าถึงเรื่องผู้บริหารคนใหม่ ผู้บริหารคนเก่าบอกว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1999 เขาก็มองเห็นแล้วว่า ในอนาคตอาลีบาบาจะต้องพึ่งพาแรงผลักดันจากความที่มี “ทาเล้นต์” (ความสามารถที่โดดเด่น) ที่จะช่วยให้การสืบทอดทีมบริหารเป็นไปอย่างราบรื่น เขาบอกว่า “หลังจากการทำงานหนักหลายปี อาลีบาบาก็กลายเป็นศูนย์รวมผู้มีศักยภาพและคุณภาพยอดเยี่ยม และมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นคือการใช้เป้าหมายเป็นแรงผลักดัน รวมถึงข้อที่ว่า เรายังพัฒนาผู้นำธุรกิจที่มีความโดดเด่นและมืออาชีพอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ แดเนียล จาง”

จะเห็นได้ว่าหม่าไม่ได้มองตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล แต่มองการทำงานเป็นทีมและการรักษาองค์การร่วมกันมากกว่า และตระหนักว่าความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “วัน แมน โชว์” แต่อยู่ที่การรู้จักเลือกใช้ทีมคนเก่งและปั้นคนเก่งมารองรับองค์กรอย่างไม่ขาดสายต่างหาก