posttoday

จริงหรือไม่ที่ชาวกรีกเดินทางมาจีนช่วยสร้างทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้

09 กันยายน 2562

ไม่มีหลักฐานบ่งชี้แม้แต่น้อยว่าผู้ที่สร้างสุสานทหารดินเผากับชาวกรีกมีการติดต่อกัน

หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางโบราณคดีในประเทศจีนที่ชาวโลกรู้จักกันดี คือกองทัพทหารดินเผาของสุสานฉินสื่อหวง หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ นอกเมืองซีอาน ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2546-208 ปีก่อนคริสตกาล และในระหว่างวันที่ 15 กันยายน - 15 ธันวาคมนี้ จะมีการนำกองทัพหุ่นทหารและโบราณวัตถุอายุกว่า 2,200 ปีมาจัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ให้คนไทยได้ชมกันเป็นขวัญตา

ก่อนหน้านี้ใครๆ ก็เชื่อว่ารูปั้นทหารดินเผาเหล่านี้คือศิลปะจีนที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังมีผู้เสนอทฤษฎีว่า ประติมากรรมชิ้นเอกของชาวจีน อาจไม่ใช่ผลงานของชาวจีน แต่เป็นฝีมือของช่างชาวกรีกโบราณที่เดินทางมายังประเทศจีน และช่วยออกแบบหุ่นทหารเหล่านี้ให้มีความเหมือนจริงคล้ายกับศิลปะกรีกโบราณ ที่มักจะแกะสลักรูปมนุษย์ที่มีความถูกต้องด้านกายวิภาค

จริงหรือไม่ที่ชาวกรีกเดินทางมาจีนช่วยสร้างทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ © BrokenSphere / Wikimedia Commons

เมื่อปี 2013 ดร. ลูคัส นิกเกิล ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีจีนแห่งสถาบัน SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้อ้างถึงบันทึกของจีนโบราณที่เล่าเรื่องราวของรูปปั้นยักษ์ที่ปรากฏอยู่ทางตะวันตกอันห่างไกล ตามบันทึกระบุว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงสั่งให้หล่อรูปจำลองของรูปปั้นยักษ์ด้วยทองสัมฤทธิ์ขึ้นหน้าพระราชวัง ดร. นิกเกิลกล่าวว่า เรื่องราวนี้สนับสนุนทฤษฎีเรื่องการติดต่อระหว่างจีนและตะวันตก ที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้จักรพรรดิองค์แรกของจีน ไม่เพียงแต่ทรงสั่งให้ทำเลียนแบบรูปปั้นยักษ์ทั้ง 12 รูปเท่านั้น แต่ยังได้แรงบันดาลใจให้ทรงสร้างกองทัพดินเผาขนาดใหญ่พร้อมกับประติมากรรมขนาดเท่าคนจริงนับพันๆ ชิ้น

ดร. นิกเกิลกล่าวว่า ก่อนยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ ไม่มีการสร้างรูปปั้นขนาดเท่าจริงขึ้นในประเทศจีนมาก่อน แนวคิดนี้อาจเกิดขึ้นจากอาณาจักรขอชาวกรีกในเอเชีย ที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากการพิชิตเอเชียกลางของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นชาวกรีกในเอเชียกลาง อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ได้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเคารพบูชาเป็นครั้งแรกเช่นกัน โดยใช้อิทธิพลศิลปะกรีก ดังนั้นพระพุทธรูปยุคแรก (ศิลปะคันธาระ) จึงมีหน้าตาแบบชาวตะวันตก และมีริ้วจีวรสมจริงเหมือนศิลปะกรีกโบราณ

จริงหรือไม่ที่ชาวกรีกเดินทางมาจีนช่วยสร้างทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ ศิลปะคันธาระ ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/File:PharroAndArdoxsho.jpg

ต่อมา หลี่ซิวเจิ้น นักโบราณคดีอาวุโสแห่งพิพิธภัณฑ์สุสานฉินสื่อหวง เปิดเผยกับสำนักข่าว BBC เมื่อปี 2016 ว่า พบหลักฐานบ่งชี้ว่ารูปปั้นทหารดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้มีกลิ่นอายศิลปะกรีกโบราณ และช่างฝีมือชาวกรีกอาจเดินทางมาช่วยช่างชาวจีนในการสร้างประติมากรรมเหล่านี้ เพราะก่อนหน้ายุคฉิน ช่างชาวจีนไม่นิยมสร้างประติมากรรมเหมือนมนุษย์จริงๆ มาก่อน แต่ในอารยธรรมกรีกโบราณมีการสร้างรูปมนุษย์อย่างแพร่หลาย

หลี่ซิวเจิ้นกล่าวว่า หลักฐานที่พบแสดงให้เห็นถึงการติดต่ออย่างแน่นแฟ้นระหว่างจีนสมัยราชวงศ์ฉินกับอารยธรรมตะวันตก ก่อนการเปิดใช้เส้นทางสายไหมในสมัยราชวงศ์ฮั่น หรือเมื่อประมาณ 114 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบดีเอ็นเอของชาวยุโรปในแหล่งโบราณคดีที่ซินเจียง ซึ่งมีอายุก่อนการที่จิ๋นซีฮ่องเต้จะสถาปนาราชวงศ์ฉิน หลักฐานเหล่านี้ยืนยันว่า จีนกับโลกตะวันตกติดต่อกันมานานกว่าที่คิดไว้

จริงหรือไม่ที่ชาวกรีกเดินทางมาจีนช่วยสร้างทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ รถศึกในสุสานทหารดินเผา ภาพจาก Jmhullot

อย่างไรก็ตาม มีผู้คัดค้านทฤษฎีนี้ เช่น จางเว่ยซิง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สุสานฉินสื่อหวง กล่าวกับ AFP ในปี 2016 ว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้แม้แต่น้อยว่า ผู้ที่สร้างสุสานทหารดินเผากับชาวกรีกมีการติดต่อกัน

ส่วนข้ออ้างที่ว่าพบดีเอ็นเอชาวยุโรปที่ซินเจียง ก็ไม่ได้แสดงถึงอิทธิพลของกรีก เพราะอารยธรรมอินโด - ยูโรเปียนเช่นมีอยู่แล้วในซินเจียงตั้งแต่ปี 2000 ก่อนคริสตศักราช นั่นคือวัฒนธรรมทอคาเรียน (Tocharians) ซึ่งไม่ใช่ชาวกรีก แต่เป็นญาติห่างๆ ของชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในเอเชียกลาง และต่อมาชาวทอคาเรียนเชื้อสายยุโรป ได้ผสมกับชาวอุยกูร์เชื้อสายเติร์ก จนกระทั่งถูกกลืนไปในศตวรรษที่ 9

จริงหรือไม่ที่ชาวกรีกเดินทางมาจีนช่วยสร้างทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ มัมมี่ชาวทอคาเรียน ขุดพบที่ทาริม ในซินเจียง ภาพโดย Hiroki Ogawa

ด้านโจแฮนนา แฮนินค์ และเฟลิเป โรฮัส ซิลวา แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์แย้งว่า การตั้งสมมติฐานว่าชาวกรีกมาช่วยชาวจีนสร้างรูปปั้นทหารดินเผา ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่บกพร่องเพราะกล่าวหาว่า การที่อารยธรรมอื่นๆ มีความสามารถด้านศิลปะที่ซับซ้อนก็เพราะได้รับการส่งเสริมจากชาวตะวันตก ซึ่งเป็นความคิดเหยียดเชื้อชาติโดยเห็นว่าชาวยุโรปเป็นศูนย์กลางโลก