posttoday

กะเหรี่ยง ปู่คออี้ และความตายของบิลลี่ ที่ทำให้แก่งกระจานไม่อาจเป็นมรดกโลก

05 กันยายน 2562

การเสนอป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกถึงกับต้องสังเวยชีวิตผู้คนไปถึงขนาดนี้เลยหรือ โดยกรกิจ ดิษฐาน

 

เมื่อเดือนกรกฎาคม คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ตัดสินใจเลื่อนพิจารณาข้อเสนอของไทยที่จะผลักดันให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ โดยจะพิจารณากันอีกครั้งในปี 2563 สาเหตุที่เลื่อนออกไปก็เพราะปัญหาเดียว นั่นคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยาน

เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่แก่งกระจานที่โด่งดังที่สุด คือการไล่ที่ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบน อันเป็นสาเหตุของการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ เมื่อปี 2557

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แก่งกระจานถูกปัดตกไปจากที่ประชุมมรดกโลก ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 ในการประชุมครั้งที่ 39 ได้มีการยกประเด็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวกะเหรี่ยงขึ้นมาตั้งคำถาม ซึ่งผู้ที่ตั้งคำถามคือข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) ทางคณะกรรมการมรดกโลกจึงขอให้ทางไทยอัพเดตข้อมูลเรื่องสถานะการอนุรักษ์

ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 40 ปี 2559 ทางไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแก่งกระจาน แต่ทาง UNOHCHR ก็ยังยกประเด็นเรื่องชาวกะเหรี่ยงขึ้นมาตั้งคำถามอีก โดยเฉพาะการโยกย้ายถิ่นด้วยความสมัครใจ

ก่อนการประชุมครั้งที่ 43 ปี 2562 แก่งกระจานก็ยังถูกตั้งคำถามประเด็นเดิม นั่นคือการละเมิดสิทธิชาวกะเหรี่ยง ในเอกสารของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า "มีการอ้างถึงการโจมตีและการข่มขู่ครั้งใหม่ต่อชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดย (เจ้าหน้าที่อุทยาน) ข้อกล่าวหาเหล่านึ้ถูกเอ่ยถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสนอชื่อครั้งใหม่ ซึ่งบ่งชี้อย่างชัดแจ้งถึงการขาดซึ่งการปรึกษาหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับความสมัครใจอย่างเป็นอิสระและมีการแจ้งก่อนล่วงหน้า"

ทั้ง IUCN และ UNOHCHR ชี้ว่า หากยูเนสโกยกให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก ก็จะส่งผลกระทบต่อสิทธิในดินแดนและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวกะเหรี่ยง

IUCN ยังระบุว่า ได้รับแจ้งโดยตรงจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบว่าไม่ได้รับรู้ หรือมีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการของการเสนอชื่อเข้าชิงมรดกโลก จึงได้สรุปว่า แม้ทางการไทยจะมีความพยายามแก้ปัญหา แต่ยังไม่เพียงพอ และการละเมิดสิทธิ์ยังเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาทุกครั้งที่มีการเสนอชื่อแก่งกระจาน

จะเห็นได้ว่า ยูเนสโกและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของผืนป่า ไม่ใช่ศัตรูของการอนุรักษ์ ดังเช่นในมติของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 39 แสดงความยินดี (Welcomes) ที่ทางการไทยตอบสนองข้อแนะนำของ IUCN และรับรู้ว่าตัวแทนของชุมชนชาวกะเหรี่ยงได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการจัดการผืนป่าแก่งกระจาน

มติของยูเนสโกระบุว่า การตอบรับของทางการไทยข้างต้นตามข้อแนะนำของ IUCN จะมีโอกาสให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนป่าผืนนี้ให้เป็นมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 40 ซึ่งปรากฎว่าก็ยังไม่ผ่าน

นอกจากนี้ ในปี 2562 รายงานของ IUCN ถึงกับระบุว่า ฝ่ายไทยเสนอชื่อแก่งกระจานเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2554 แต่ "ไม่ได้ระบุถึงชาวกะเหรี่ยงอันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งอาศัยอยู่ในป่ามานานหลายร้อยปี ก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในทศวรรษที่ 1980"

รายงานอ้างข้อมูลจากชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานกล่าวหาว่าชาวกะเหรี่ยงบุกรุกป่าผืนใหม่ แต่ที่จริงแล้วเป็นการกสิกรรมหมุนเวียนตามวิถีชาวกะเหรี่ยง ที่จะหมุนเวียนแปลงเพาะปลูกเดิมทุกๆ 7 ปี นอกจากนี้ และพวกเขายังกังวลว่าเมื่อเป็นมรดกโลกแล้วจะไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์จากพืชพันธุ์ในป่าตามวิถีดั้งเดิม

IUCN ได้ระบุการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานอย่างละเอียด รวมถึงกรณีเผาบ้านเรือนและยุ้งฉาง 98 หลังที่บ้านบางกลอยบน หนึ่งในนั้นคือบ้านของปู่คออี้ เมื่อปี 2554 รวมถึงการลอบสังหารทัศน์กมล โอบอ้อม หรืออาจารย์ป๊อด ผู้เคลื่อนไหวช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในปีเดียวกันนั้น จนกระทั่งในปี 2557 ก็ถึงคราวของบิลลี่ ที่ถูกสังหารเพราะความขัดแย้งเกี่ยวกับผืนป่าแก่งกระจาน

มาถึงตอนนี้เราต้องหันมาทบทวนแล้วว่า การเสนอป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกถึงกับต้องสังเวยชีวิตผู้คน และทำลายวิถีของชนดั้งเดิม (indigenous peoples) ไปถึงขนาดนี้เลยหรือ?

อันที่จริง ยูเนสโกก็มีนโยบายอยู่ร่วมกันของมรดกโลกกับชนดั้งเดิม เพราะมรดกโลกหลายแห่งเป็นบ้านของชนกลุ่มดั้งเดิมเช่นกัน จึงมีแนวทางปฏิบัติการ (Operational Guidelines) ไว้สำหรับให้ชนดั้งเดิมในพื้นถิ่นอยู่ในฐานะหุ้นส่วนและผู้มีสิทธิร่วม และต้องให้พวกเขามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับมรดกโลก

คำถามก็คือ การเสนอชื่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้หรือไม่? หรือมองว่าคนกะเหรี่ยงเป็นผู้รุกรานป่า ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีแห่งป่า เพราะป่าไม่ได้เป็นแค่เขตสงวนของสัตว์และพืช แต่มนุษย์ที่มีภูมิปัญญาแห่งป่าเขา ก็เป็นส่วนหนึ่งของมันเช่นกัน

 

อ้างอิง

"Decision : 39 COM 8B.5 Kaeng Krachan Forest Complex, Thailand". UNESCO. https://whc.unesco.org/en/decisions/6355/

"Decision : 40 COM 8B.11 Examination of nominations of natural properties to the World Heritage List". UNESCO. https://whc.unesco.org/en/decisions/6821/

"IUCN World Heritage Evaluations 2019". IUCN. https://whc.unesco.org/archive/2019/whc19-43com-inf8B2.Add-en.pdf

 

ภาพโดย  Apichit Jinakul / Bangkok Post